คณะกรรมการฯ สอบข้อเท็จจริง พบเจ้าหน้าที่รัฐคร่า 4 ชีวิตบริสุทธิ์ ในจังหวัดชายแดนใต้
2015.04.07

คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณี 4 ศพทุ่งยางแดง สรุปผู้ตายไม่ใช่แนวร่วมขบวนการก่อเหตุรุนแรง ไม่มีความเชื่อมโยงกับอาวุธปืนที่พบ แต่ยอมรับจุดเริ่มต้นปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่สมเหตุสมผล แต่ไม่ชี้ปมวิสามัญฯชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ข้อเสนอของคณะกรรมการฯ คือ เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนยุติธรรม และต้องจ่ายค่าเยียวยาให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้งสี่ ตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.)
การแถลงผลสอบข้อเท็จจริงครั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ให้สรุปข้อเท็จจริงขั้นต้นให้ได้ภายใน 7 วัน สำหรับผลสอบข้อเท็จจริง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ คณะกรรมการฯได้ตั้งประเด็นสอบ 3 ประเด็น กล่าวคือนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ในฐานะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีบ้านโต๊ะชุด ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ได้ร่วมกันแถลงผลสอบข้อเท็จจริงเหตุปิดล้อมตรวจค้นและวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ซึ่งถูกประชาชนในพื้นที่เรียกร้องความเป็นธรรมว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจปฏิบัติการเกินกว่าเหตุ และผู้ตายไม่ใช่คนร้าย
ประเด็นแรก คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คน ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุรุนแรง และไม่ใช่แนวร่วมกลุ่มก่อเหตุรุนแรง
ประเด็นที่ 2 ในชั้นนี้คณะกรรมการฯมีความเห็นว่า การริเริ่มของการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น ชอบด้วยเหตุผลในการปฏิบัติการ
ประเด็นที่ 3 การวิสามัญฆาตกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอาวุธปืนรวมทั้งวัตถุระเบิดของกลางเป็นของผู้ตายหรือไม่
คณะกรรมการฯมีความเห็นว่า เหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้มีการเสียชีวิตทั้ง 4 รายนั้น เกิดขึ้นห่างจากจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการประมาณ 300 เมตร ในบริเวณป่าสวนยางพารา มีเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการเท่านั้น ที่เห็นเหตุการณ์ ประกอบกับคณะกรรมการฯ มีเวลาจำกัดในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพียง 7 วัน จึงไม่สามารถหาประจักษ์พยานอื่นใดมาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการฯ
ส่วนหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ระบุเขม่าดินปืนที่มือผู้ตาย และที่อาวุธปืนของกลาง ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าความเชื่อมโยงระหว่างผู้ตายกับอาวุธปืนอย่างชัดเจน และยังมีความเคลือบแคลงในบางประเด็น
ในชั้นนี้คณะกรรมการฯไม่สามารถวินิจฉัยในประเด็นการต่อสู้กับเจ้าพนักงานได้ จึงให้เป็นหน้าที่ของการค้นหาพยานหลักฐานในชั้นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีตามกฎหมาย
แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวขออภัย
พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่4 กล่าวยอมรับว่า “ความรุนแรงมี 2 ทิศทางทางที่หนึ่ง คือมีผู้ที่พยายามสร้างความรุนแรง ทิศทางที่สอง ผมยอมรับและทราบดีว่าเกิดจากผู้ที่ถืออาวุธ ซึ่งผมเองมีหน้าที่ดูแลการใช้อำนาจหน้าที่ของเขาอยู่ในกรอบกฎหมายหรือไม่ อันนี้ขอเวลาในการตรวจสอบ ผมเองในถานะผู้บังคับบัญชาของกองกำลังรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องกล่าวคำว่า ขออภัยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ไม่สามารถนำไปสู่แนวทางที่ผมได้ให้นโยบายไว้ ขออภัยต่อพี่น้องประชาชน ขออภัยต่อครอบครัวผู้สูญเสียยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น”
แหล่งข่าวผู้สังเกตุการณ์การพิจารณาหาข้อเท็จจริง ได้กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า สายข่าวอาจผิดพลาด ในการให้เป้าหมายของหมู่บ้าน
วันอังคารนี้ ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับค่าชดเชยเยียวยา จำนวน 500,000 บาท ต่อครอบครัว
ในส่วนของ นายซาการียา สาแม็ง พ่อของ หนึ่งในผู้เสียชีวิต กล่าวว่า “วันนี้ รู้สึกดีมากที่ผลการสอบสวนออกมาอย่างนี้ ลูกผมจะได้หลุดจากข้อกล่าวหา เห็นชัดว่าลูกของเราไม่ผิด ในส่วนของคดีก็เป็นเรื่องของทางอัยการ”