เจ้าหน้าที่วิสามัญ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 2 ราย ที่ทุ่งยางแดง ปัตตานี
2024.05.02
ปัตตานี

เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการณ์พิเศษร่วมปัตตานี ได้ทำการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 2 ราย ในพื้นที่ อ. ทุ่งยางแดง จ. ปัตตานี หลังจากเข้าปิดล้อมตรวจค้น โดยอ้างว่าได้เจรจากับผู้ต้องหาทั้งคู่ แต่ไม่เป็นผลนำไปสู่การยิงปะทะ หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อป้องกันการก่อความไม่สงบเชิงสัญลักษณ์
พ.อ. สฐิรพงษ์ อาจหาญ ผู้บังคับกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกว่า 50 นาย เข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านต้องสงสัยในพื้นที่ หมู่ 5 ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ของวันพุธ โดยพยายามเจรจาให้บุคคลที่อยู่ในบ้านมอบตัวแต่ไม่เป็นผลจึงเกิดการปะทะ
“ประสานผู้นำท้องถิ่นเรียกบุคคลภายในบ้านเป้าหมายออกมาแสดงตัว แต่ระหว่างเจรจาให้บุคคลต้องสงสัยที่อยู่ภายในบ้านแสดงตัวนั้น คนร้ายที่อยู่ในบ้านได้เปิดฉากยิงออกมา ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องหลบกระสุน ยิงตอบโต้ และเกิดการยิงปะทะกันขึ้น” พ.อ. สฐิรพงษ์ กล่าว
พ.อ. สฐิรพงษ์ เปิดเผยว่า ผู้ต้องสงสัยที่อยู่ภายในบ้านได้ยิงปืน และขว้างระเบิดไปป์บอมบ์ตอบโต้เจ้าหน้าที่ ทำให้การปะทะยืดเยื้อจนถึงเวลา 22.00 น.
“เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการณ์พร้อมโล่กำบังได้บุกเข้าไปภายในบ้าน และมีการยิงต่อสู้ ส่งผลให้คนร้ายถูกวิสามัญเสียชีวิต 2 ราย คือ 1. นายมะซอบรี บาเหะ ชาวยะลา บุคคลตามหมายจับ 3 หมาย และนายอัสฮาร์ เจะเลาะ ชาวปัตตานี เป็นบุคคลตามหมายจับ 1 หมาย” พ.อ. สฐิรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
ในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตรวจพบอาวุธปืน เอ็ม-16 จำนวน 2 กระบอก ปืนอาก้า 1 กระบอก ปืนพกสั้น 2 กระบอก รวมทั้งอุปกรณ์อื่น ๆ โดยหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะได้นำอาวุธที่ตรวจยึดได้ไปตรวจสอบหาความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่
สำหรับ นายมะซอบรี เคยถูกออกหมายจับ 3 หมาย ประกอบด้วย 1. คดีที่เกี่ยวกับการวางระเบิดร้านสะดวกซื้อบิ๊กซี ใน อ.ทุ่งยางแดง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 2. และ 3. คดีเกี่ยวกับการยิงและขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ยะรัง จ.ปัตตานี สองเหตุในวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ขณะที่ 2. นายอัสฮาร์ ถูกออกหมายจับ 1 หมาย ในคดีร่วมวางระเบิดร้านสะดวกซื้อบิ๊กซีกับนายมะซอบรี
หลังเกิดเหตุ พล.ต.ต. เสกสันต์ ชูรังสฤษฎิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ซึ่งมีพื้นที่เชื่อมต่อกับ อ.ทุ่งยางแดง ได้สั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ให้เข้มงวดเรื่องการตรวจสอบลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยย่านชุมชน และเศรษฐกิจของ อ.รามัน และ อ.เมือง เนื่องจากเชื่อว่าอาจมีการก่อเหตุอีก
“ให้เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบ การลักลอบเข้ามาในเขตตัวเมืองยะลาของคนร้ายที่ไม่ทราบกลุ่มที่อาจเข้ามาก่อเหตุร้าย เพื่อปฏิบัติการในเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบต่าง ๆ แสดงศักยภาพของกลุ่ม จึงได้สั่งการตลอด 24 ชั่วโมง ให้มีการยกระดับในการตรวจเข้มตามจุดตรวจต่าง ๆ” พล.ต.ต. เสกสันต์ กล่าว
ในเวลา 02.00 น. ของวันพฤหัสบดีนี้ ประชาชนหลายสิบคนได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลทุ่งยางแดง เพื่อรับศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุวิสามัญดังกล่าว โดยหลังจากเจ้าหน้าที่ได้ชันสูตรร่างของทั้งคู่เสร็จสิ้น ประชาชนได้ใช้รถยนต์ และจักรยานยนต์แห่ศพกลับไปยังชุมชนบ้านเกิดเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา
เหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็งปี 2547 ถูกนับเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ รัฐบาลเลือกที่จะจัดการปัญหาด้วยการส่งฝ่ายความมั่นคงลงไปปฏิบัติงาน ทำให้ระหว่างปี 2547-2553 ชายแดนใต้มีทหาร ตำรวจ รวมถึงอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) กว่า 7.5 หมื่นนาย
ต่อมาในปี 2556 รัฐบาลพยายามหาทางแก้ไขปัญหา โดยเริ่มใช้ “การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นทางออก แต่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch - DSW) ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย
สำหรับเฉพาะปี 2567 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 83 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บ 25 คน (ยังไม่รวม 2 คนในวันนี้)
พล.ท. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 และ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (รอง ผอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ฝ่ายเทคนิค คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายไทย ได้พูดคุยกับฝ่ายเทคนิค คณะพูดคุยฯ ฝ่ายบีอาร์เอ็น ที่นำโดย ดร. นิมะ เจ๊ะแต เมื่อวันที่ 27-30 เมษายน 2567 ในมาเลเซีย กำหนดว่า ทั้งสองฝ่ายจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกลางเดือนพฤษภาคมนี้
“ได้ข้อสรุปให้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย วางกรอบรายละเอียดในการทำงานร่วมกัน ลดสถานการณ์ความรุนแรง และการปรึกษาหารือสาธารณะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินหน้าขับเคลื่อนการสร้างสันติสุขถาวรในพื้นที่” พล.ท. ปราโมทย์ กล่าว
พล.ท. ปราโมทย์ เปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลาแบบรายจังหวัด ขณะที่แนวทางการลดเหตุรุนแรง ผู้อำนวยความสะดวกฝ่ายมาเลเซียเสนอให้นำไปพูดคุยกันในการประชุมเชิงปฏิบัติการที่จะมีขึ้นในกลางเดือนนี้
เมื่อต้นปี ปี 2567 คณะพูดคุยฯ เปิดเผยว่า พยายามใช้แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ที่มีแนวทางหลัก 3 ข้อ คือ 1. การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยคาดหมายว่า บีอาร์เอ็นจะร่วมลงนามรับรอง JCPP ภายในปีนี้ และสามารถนำไปสู่ข้อตกลงสันติสุขร่วมกันในอนาคต