ชาวไทยรับร่างรัฐธรรมนูญ
2016.08.07
กรุงเทพและนราธิวาส

ในวันอาทิตย์ (7 ส.ค. 2559) นี้ ประชาชนชาวไทยเสียงข้างมากของประเทศไทยได้ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ หลังการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือน เมื่อกลางปี พ.ศ. 2557
ในคืนวันอาทิตย์นี้ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศผลการออกเสียงลงประชามติ เมื่อนับคะแนนไปได้ 94 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนบัตรประชามติทั้งหมดทั่วประเทศว่า มีผู้รับร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 15,562,027 เสียง ไม่รับร่างฯ จำนวน 9,874,680 เสียง
ส่วนประเด็นคำถามเพิ่มเติมที่ถามว่า ประชาชนยอมให้วุฒิสมาชิก 250 คน สามารถร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ปรากฏว่ามีผู้ยอมรับจำนวน 13,969,952 เสียง ไม่ยอมรับจำนวน 10,070,599 เสียง
ส่วนการประกาศผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการนั้น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารงานการเลือกตั้ง กล่าวว่า กกต. จะพยายามให้ประกาศได้ภายในวันพุธที่จะถึงนี้
หลังจาก การรัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้วางโรดแมปไว้ว่า จะให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ภายในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งต้องมีการผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 เป็นที่ถกเถียงกันว่า จะเอื้ออำนวยให้รัฐบาลทหารสืบทอดอำนาจต่อไป เนื่องจากเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะท้อนความพยายามในการคานอำนาจกับนักการเมือง เช่น การสรรหาวุฒิสมาชิกจำนวน 250 คน ที่มีอำนาจเข้าร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน ในกระบวนการรับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย นอกจากนั้น ยังเปิดทางให้มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ได้อีกด้วย
นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจงต่อสาธารณชน เมื่อครั้งการเปิดตัวร่างฉบับนี้ฯ ในเดือนมีนาคมว่า ร่างฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการคอร์รัปชันที่มีอย่างกว้างขวางในวงการการเมือง
หลังจากการประกาศผลการลงประชามติเบื้องต้นในวันนี้ นายมีชัยกล่าวว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มเติมคำถามพ่วง ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
“ผมคิดว่าบ้านเมืองเราบอบช้ำมานาน มีปัญหาที่หมิ่นเหม่ต่อความเป็นอันตรายต่อความอยู่รอดของประเทศอย่างมาก จนหลายชาติทำท่าจะเข้ามายุ่งย่ามกิจการภายในบ้านเรา... อย่างน้อยเราก็พระเจ้าอยู่หัวองค์เดียวกัน ศูนย์รวมจิตใจองค์เดียวกัน ฉะนั้นก็ขอให้เราร่วมมือร่วมใจกันต่อไป กับรัฐบาล กับคสช. เพราจะทำเพื่อประโยชน์สุขของคนไทยในอนาคต” นายมีชัยกล่าวในการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์
ทางด้านรองศาสตราจารย์ยุทธพร อิสระชัย จากมหาวิทยาสุโขทัยธรรมธิราช กล่าวก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2560 ตามที่เคยได้วางแผนไว้
“รัฐธรรมนูญ คำถามพ่วงผ่านด้วย ก็จะเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 2560 ใช้เวลาประมาณ 1 ปีกว่าๆ” ร.ศ.ยุทธพร กล่าวในการเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ปฏิกิริยาของผู้ลงประชามติ
ในวันลงประชามติ ที่มีผู้มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นประมาณกว่า 50 ล้านคน และออกมาใช้สิทธิ์จริงประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ ต่างฝ่ายต่างให้เหตุผลของตนแตกต่างกันออกไป
“ผมไม่รับ ไม่ต้องอ่านร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด ด้วยเหตุผลข้อเดียวคือ ที่มาของวุฒิสมาชิกไม่ใช่ประชาธิปไตย” นายศักดินันท์ รักษาพล พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้กล่าวถึงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 แก่เบนาร์นิวส์
ส่วนนายเซน นันทวิญญู อาชีพช่างภาพอิสระ บอกว่า ตนได้ออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยหวังว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะช่วยให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ และช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากการขัดแย้งทางการเมือง
“ผมรับ เพราะให้มีการตบแต่งบ้านเมืองเข้าที่ ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งจะมีต่อไป ผมไม่อยากเห็นสงคราม เพราะเราเป็นไทยด้วยกันทั้งนั้น บ้านเมืองบอบช้ำมามากแล้ว” นายเซนกล่าวแก่เบนาร์นิวส์ หลังจากออกจากคูหาประชามติ ที่หน่วยเลือกตั้งในโรงเรียนคลองลำเจียก เขตบึงกุ่ม กรุงเทพ หน่วยลงคะแนนเดียวกันกับอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ทางด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้แถลงข่าวในวันนี้ ด้วยการเรียกร้องให้คณะกรรมการเลือกตั้งลาออก เพราะไม่สามารถประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมาออกเสียงได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
ต่อกรณีที่คะแนนโหวตสูสีกันมากนั้น ผศ.ดร.ชนินท์ทิรา ณ ถลาง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า มันเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยยังคงมีการแบ่งแยกทางการเมืองเป็นอย่างมากอยู่
การก่อกวน
ตั้งแต่คืนวันเสาร์จนถึงตอนเช้าของวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันลงประชามติ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รายงานว่า มีการวางระเบิดก่อกวนในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมอย่างน้อย 10 แห่ง แต่ไม่มีรายงานการเสียชีวิต
และในตอนค่ำของวันนี้ ได้เกิดเหตุระเบิดขบวนเคลื่อนย้ายหีบบัตร ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บสองราย ครูซึ่งทำหน้าที่ในหน่วยลงประชามติเสียชีวิตหนึ่งราย เหตุเกิดในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อตอนค่ำวันอาทิตย์นี้
ส่วนในคูหาลงประชามติในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ได้เกิดเหตุการทำลายบัตรลงประชามติ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจหลายกรณี
โดยเมื่อตอนเที่ยงของวัน ที่หน่วยเลือกตั้งสำนักงานเขตบางนา นายปิยรัฐ จงเทพ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสมาคมเพื่อเพื่อน ได้ทำการฉีกบัตรประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 โดยก่อนที่จะฉีกบัตรได้ตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” จากนั้น ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจภายในหน่วยเลือกตั้งจับกุมตัวทันที
นอกจากนั้น กกต. ได้รายงานการทำบัตรออกเสียงประชามติฉีกขาด หรืออื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจหรือความไม่ตั้งใจอีก 16 ราย โดยมีระวางโทษจำคุก 1 ถึง 10 ปี และโทษปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท ส่วนผู้ที่จงใจฉีกบัตรอาจจะต้องโทษฐานก่อความวุ่นวาย ซึ่งมีระวางโทษจำคุก 2 ปี อีกด้วย