นายกฯ เดินหน้าเลือกตั้งปี 60 หลังประกาศผลประชามติฯ อย่างเป็นทางการ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.08.10
กรุงเทพฯ
160810-TH-Prayuth-1000.jpg พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาลเพื่อประชุม ครม.และ คสช. เรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 9 ส.ค. 2559
เอเอฟพี

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยในวันพุธ (10 สิงหาคม 2559) นี้ว่า หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้ว ทางคณะกรรมการเลือกตั้งจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ในปลายปี 2560

“ผมขอให้ทุกคนได้ช่วยกันรักษาบรรยากาศดีๆ เช่นนี้ตลอดไป โดยเฉพาะในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงในอีกประมาณ 1 ปีข้างหน้า” นายกรัฐมนตรีกล่าวผ่านรายการเฉพาะกิจ หลังคณะกรรมการเลือกตั้งประกาศผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ

ก่อนหน้านั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศผลการประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ โดยประชาชน 61.35% เห็นชอบ ด้านนายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้สถานการณ์สงบ และย้ำว่าจะมีการเลือกตั้งแน่นอนในปี 2560

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีประชาชนมาใช้สิทธิออกเสียง 29,740,677 คน (59.40 %) ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 50,071,589 คน โดยมีผู้ออกเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 16,820,402 คน (61.35%) และมีผู้ไม่เห็นชอบ 10,598,037 คน (38.65%) ขณะที่ประเด็นคำถามเพิ่มเติมซึ่งให้สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี มีผู้เห็นชอบ 15,102,050 คน (58.07%) และไม่เห็นชอบ 10,926,648 คน (41.93%)

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ฝ่ายกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า กกต. รู้สึกพอใจกับภาพรวมของการประชามติฯ เนื่องจากมีผู้ออกเสียงมากกว่าการทำประชามติฯในปี 2550

“ผลการออกเสียงประชามติฯ คราวนี้ ในแง่ของจำนวนร้อยละของผู้มาใช้สิทธินั้นอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะเกินกว่าจำนวนของผู้มาใช้สิทธิเมื่อปี 50 คือ ร้อยละ 59.40 ส่วนในเรื่องบัตรเสียออกมาอยู่ที่ร้อยละ 3.15 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เพราะว่าลักษณะที่มี 2 คำถามในบัตรเดียว โอกาสที่จะเกิดบัตรเสียขึ้นจะมีโอกาสมาก” นายสมชัยกล่าว

รัฐธรรมนูญอาจทำให้ได้นายกฯ คนนอก และประเทศเกิดวิกฤต

ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ถึงอนาคตของประเทศไทย หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของประชาชนในการลงประชามติว่า การเมืองจะเดินหน้าสู่วิกฤต เพราะระบบรัฐสภาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญใหม่ อาจทำให้ได้ตัวนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งจะทำให้พรรคที่เสียผลประโยชน์เคลื่อนไหวต่อต้าน

“ถ้าหากว่าจะเอาคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี หมายความว่าสมาชิกวุฒิสภา 250 คน จะต้องรวมกับกลุ่มการเมืองในสภาไม่น้อยกว่า 126 คน เพื่อให้ได้ 376 คน ถ้าเกิดกรณีนี้ขึ้นก็หมายความว่า นายกฯ คนนอกจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ตรงนี้ก็จะนำไปสู่วิกฤตได้” ศ.ดร.สมบัติ กล่าวทางโทรศัพท์

“เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็จะบริหารประเทศไม่มีเสถียรภาพ คุณจะผ่านงบประมาณยังไง คุณจะผ่านกฎหมายยังไง” ศ.ดร.สมบัติกล่าวเพิ่มเติม

ศ.ดร.สมบัติเชื่อว่าทางออกของปัญหาคือ ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 พรรคตั้งรัฐบาลร่วมกันซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

“ถ้ามีพรรคการเมืองพรรคใหญ่มาร่วม รัฐบาลก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ถ้าเราดูจากสภาพทุกวันนี้ โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะมาร่วมรัฐบาลมีไหม ไม่มี ปิดประตูตายเลย” ศ.ดร.สมบัติให้ทัศนะ

ด้านนายรังสิมันต์ โรม นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า รู้สึกผิดหวังกับผลที่ออกมา แต่ก็ยอมรับการตัดสินใจของประชาชน โดยเมื่อวิเคราะห์ถึงอนาคตหลังจากนี้ เชื่อว่าประเทศไทยอาจจะต้องเผชิญกับปัญหา เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้

“ผมเข้าใจว่าหลายๆ คนที่ชอบพอรัฐบาล คสช. - รัฐบาลคุณประยุทธ์ ส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่ามันสามารถสร้างความสงบสุขให้กับสังคมไทยได้ แต่ว่าทันทีที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ สิ่งต่างๆ ก็จะกลับมาสู่ความเลวร้ายเหมือนเดิม อาจจะหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำไป” นายรังสิมันต์กล่าว

เมื่อถามว่า ในอนาคตกลุ่มประชาธิปไตยใหม่จะมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ หากประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายรังสิมันต์กล่าวว่า อาจเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ถ้าสุดท้ายประชาชนยอมรับ บทบาทของเราก็คงแค่เพียงรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหารัฐธรรมนูญ แต่ถ้าประชาชนรู้สึกมากไปกว่านั้น พวกเราก็พร้อมที่จะเคลื่อนไหวที่มากกว่าการรณรงค์ปกติเหมือนกัน เช่น อาจจะให้มีการออกเสียงประชามติแก้ไข หรือปรับปรุงรัฐธรรมนูญต่อไป” นายรังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้าย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง