ประชาชนร้องกระทรวงยุติธรรม ปล่อยตัวนักโทษการเมือง-นิรโทษคดี ม. 112
2024.05.24
กรุงเทพฯ

ประชาชน และนักกิจกรรม เดินทางไปยังกระทรวงยุติธรรมเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง รวมถึงผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้าน นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเชิญให้ตัวแทนกลุ่มเข้ามาพูดคุยอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2567 นี้
“ความยุติธรรมในประเทศนี้มันพังไปครั้งแล้ว ครั้งเล่า ครั้งแรกมันพังไปเมื่อมีการใช้ ม. 112 มาเล่นงานทางการเมือง คุมขังผู้เห็นต่าง ทำให้คนต้องถูกพรากอิสรภาพไป ครั้งที่สองความยุติธรรมมันพังเพราะผู้ต้องหาเหล่านี้ ถูกพรากสิทธิประกันตัว และต้องเป็นนักโทษคดีทางการเมือง ขณะนี้มีคนอย่างน้อย 43 คน ที่ยังอยู่ในคุก” นายนัสรี พุ่มเกื้อ หนึ่งในผู้ร่วมเข้ายื่นหนังสือกล่าว
“วันนี้ยังไม่สายที่จะทำให้ความยุติธรรมกลับมา เราสามารถทำให้เกิดความยุติธรรมเกิดในประเทศนี้ได้ ผ่าน สามข้อเรียกร้องนี้คือ หนึ่งคือคืนสิทธิการประกันตัวให้กับนักโทษคดีการเมืองทุกคน สองคือการหยุดการดำเนินคดีทางการเมือง กระบวนการเหล่านี้ต้องถูกชะลอทั้งในชั้นตำรวจ อัยการ และชั้นศาล สามคือการนิรโทษกรรมประชาชนโดยไม่ยกเว้นมาตรา 112” นายนัสรี ระบุ
ขณะเดียวกัน น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร ซึ่งเดินทางไปยื่นหนังสือด้วย ชี้ว่ารัฐบาลควรรักษาคำพูดในช่วงที่หาเสียงก่อนการเลือกตั้ง ปี 2566 โดยเร่งนิรโทษกรรมทุกคดีการเมือง
“นายกฯ และ ครม. มีอำนาจในการออก พ.ร.ก. พักการดำเนินคดีไว้ก่อนได้ เป็นอำนาจเต็มของท่าน แต่ท่านก็ยังไม่ทำ ทั้งที่ตอนหาเสียงบอกว่าให้ความสำคัญกับนักโทษการเมือง ให้ความสำคัญกับ ม. 112 พอได้เป็นรัฐบาลแล้วไม่ทำ มันน่าตลก คนหนึ่งคนเสียชีวิตไปไม่ใช่เรื่องเล็ก แค่หนึ่งชีวิตก็เรื่องใหญ่มากพอแล้วที่ท่านจะรีบกระตือรือร้นที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้” น.ส. ปนัสยา กล่าวกับสื่อมวลชน
ด้าน นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นตัวแทนรับหนังสือเปิดเผยว่า นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมติดภารกิจอยู่ในต่างประเทศ จึงได้เชิญให้กลุ่มประชาชนเข้ามาพูดคุยกันใหม่ ในวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้
“วันจันทร์นี้จะให้พวกเรามาพบที่กระทรวง การได้คุยจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด” นายกูเฮง กล่าว
การเรียกร้องดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา น.ส. เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ทะลุวัง เสียชีวิตระหว่างต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังพักฟื้นจากการอดอาหาร เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวระหว่างสู้คดีมาตรา112
ที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นขอประกันตัว น.ส. เนติพร ออกมาต่อสู้คดี แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้ปฏิเสธคำขอดังกล่าว ทำให้บุ้งอดอาหารต่อไปเพื่อประท้วงกระบวนการดังกล่าว และถูกพาตัวไปรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ สลับกับ รพ.ธรรมศาสตร์ กระทั่งเสียชีวิต
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน จาก 1,295 คดี
ในนั้นเป็นคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 272 คน จาก 303 คดี และปัจจุบัน มีผู้ถูกคุมขังจากคดีการเมืองอย่างน้อย 43 คน ในนั้นมีบางคนที่ประท้วงกระบวนการยุติธรรมด้วยการอดอาหาร เช่น น.ส. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน ผู้ต้องหาคดีเดียวกันกับบุ้ง เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนได้นำ ร่าง พรบ.นิรโทษกรรมประชาชนที่มีประชาชนกว่า 3.5 หมื่นรายชื่อร่วมสนับสนุน ยื่นต่อรัฐสภา โดยร่างกฎหมายดังกล่าว จะยกเว้นโทษให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ทุกข้อหารวมถึงมาตรา 112
นิรโทษกรรม ยากแต่จำเป็น
ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวว่า การนิรโทษกรรมผู้ต้องคดีการเมืองเป็นเรื่องที่ดี แต่เชื่อว่าอาจมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย
“การนิรโทษกรรมคดี ม. 112 จะทำให้รัฐบาลดูดีในสายตานานาชาติ แต่จะสร้างความไม่พอใจให้คนหลายกลุ่ม การนิรโทษกรรมจำเป็นเช่นเดียวกับ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะมันคือทางหนึ่งในแก้ไขปัญหาความขัดแย้งการเมืองในประเทศไทยที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 เกิดขึ้นยาก
“ตอนนี้ เพื่อไทยกลายเป็นหัวขบวนของกลุ่มอนุรักษ์นิยมในประเทศไทยแล้ว ซึ่งมันทำให้ การนิรโทษกรรม ม. 112 แทบจะเป็นศูนย์ การนิรโทษกรรมให้กับนักการเมือง หรือนักกิจกรรมโดยรวม ม. 112 น่าจะเกิดขึ้นยากแล้ว การตัดสินใจหนีของคุณไมค์ (ภานุพงษ์ จาดนอก จำเลยคดี ม. 112 ไม่มาฟังคำพิพากษาปลายเดือนมีนาคม 2567) สะท้อนว่า เขาไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรม และเชื่อว่าสู้คดีไม่ได้” ผศ.ดร. ธนพร กล่าว
หากไม่รวมร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน ปัจจุบันมี ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ที่ถูกเสนอต่อรัฐสภาโดยพรรคการเมืองอีก 3 ร่าง คือ ร่าง พรบ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ของพรรคก้าวไกล
ร่าง พรบ.สร้างสันติสุข ของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และ ร่าง พรบ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ อย่างไรก็ตามรัฐสภายังไม่ได้มีการอภิปราย หรือลงมติร่างกฎหมายทั้งหมด แต่ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า จะมีการนิรโทษกรรมให้กับคดีมาตรา 112 หรือไม่
สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของบุ้ง นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ในวันศุกร์นี้ เพื่อขอรับไฟล์จากกล้องวงจรปิดวันที่ น.ส. เนติพร เสียชีวิต โดยระบุว่า กรมราชทัณฑ์ ไม่สามารถให้ไฟล์ภาพกล้องวงจรปิดได้ เนื่องจากเป็นเรื่องความมั่นคง
“เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้ปรึกษากับผู้บริหารของกรมฯ ได้ข้อสรุปว่า ไม่สามารถให้ไฟล์ภาพกล้องวงจรปิด ในช่วงเช้าวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาเกิดเหตุได้ อ้างว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง เพราะแม้จะเป็นโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ก็ถือเป็นเรือนจำที่อาจจะเกี่ยวกับความมั่นคง” ทนายกฤษฎางค์ ระบุ
การเสียชีวิตของบุ้ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ถูกวิพากษ์-วิจารณ์บนโลกออนไลน์ว่า อาจเกิดจากความบกพร่องของการดูแลผู้ป่วยของกรมราชทัณฑ์
นาวา สังข์ทอง ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน