ศาลรับฟ้อง “ชัยวัฒน์” ข้อหาฆ่าบิลลี่ เป็นคดีคนหายประวัติศาสตร์
2022.09.06
กรุงเทพ

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งรับฟ้องคดีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวกรวม 4 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่านายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ซึ่งองค์กรเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนถือว่าเป็นคดีคนหายประวัติศาสตร์
เมื่อวานนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้รับคำฟ้องคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ และพวก โดยนายพรชัย พฤกษ์พิชัยเลิศ ทนายความของนายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ศาลฯ ให้ประกันตัวระหว่างการพิจารณาโดยวางหลักทรัพย์ค้ำประกันคนละ 8 แสนบาท กำหนดเงื่อนไขว่าห้ามเดินทางออกนอกประเทศหากไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รวมถึงสำนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการประกันตัว และศาลจะนัดไต่สวนครั้งแรก 26 กันยายน 2565
นายชัยวัฒน์ พร้อมด้วยทนายความและพวกเดินทางไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรายงานตัวตามนัดในช่วงเช้า ก่อนถูกพนักงานอัยการพาตัวไปส่งฟ้องที่ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ โดย นายชัยวัฒน์และจำเลยรายอื่น ยืนยันว่าตนเองบริสุทธิ์จึงปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และไม่กังวลเกี่ยวกับคดีนี้
“ผมไม่เคยจับกลุ่มชาติพันธุ์เลยสักคดีเดียว เรายืนยันว่าเราบริสุทธิ์ เราไม่เคยไปกระทำสิ่งที่อ้างแต่แรกเลยนะ” นายชัยวัฒน์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว
“ครั้งแรกก็น้อยใจนะ แต่พอเมื่อพิจารณาแล้วมันเข้ากระบวนการยุติธรรมดีกว่า แล้วก็ไม่ต้องมาคุยกันทุก ๆ ปี เทศกาลทุก ๆ ปีบิลลี่เนี่ย กระบวนการยุติธรรมผมว่ามันน่าจะดีต่อความชัดเจนของสังคม พวกผมเองก็เชื่อในความบริสุทธิ์ของพวกเราอยู่แล้ว ไม่ได้มากังวลเรื่องความยุติธรรม หรือว่าจะต้องระแวงใคร” นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า ในคดีนี้ ทางอัยการสูงสุดได้เตรียมร่างคำฟ้องพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องตามข้อหาที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอส่งมา และเมื่อนายชัยวัฒน์มารายงานตัวตามหมายจึงได้ให้พนักงานนำตัวไปส่งฟ้องคดี
ทั้งนี้ พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้ฟ้องนายชัยวัฒน์, นายบุญแทน บุษราคำ, นายธนเสฏฐ์ หรือไพฑูรย์ แช่มเทศ และนายกฤษณพงษ์ จิตต์เทศ เป็นจำเลยรวม 4 คน ตามข้อหาดังนี้ 1. ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน 2. ร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ 3. ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย 4. ร่วมกันโดยทุจริตหรืออำพรางคดีกระทำการใด ๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป และ 5. เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ด้านนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า คดีนี้นับเป็นการพิจารณาคดีคนหายครั้งแรกของไทย
“นับเป็นครั้งแรกที่คดีคนหายสามารถคลี่คลายได้ในประวัติศาสตร์ไทย สามารถสั่งฟ้องคดีฆาตกรรมได้ สิ่งที่ต้องติดตามกันต่อคือ ความเป็นอิสระของตุลาการ รวมทั้งความเป็นมืออาชีพของดีเอสไอและอัยการในชั้นศาลจะนำความยุติธรรมที่ปราศจากข้อสงสัย และตีแผ่ความจริงได้แค่ไหน อย่างไรก็ตาม ใครทำให้ตาย ตายอย่างไร ทำลายศพอย่างไร แม้จะเป็นความโหดร้าย แต่ความจริงนี้ต้องปรากฎต่อสังคมและญาติ” นางสาวพรเพ็ญกล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันอังคารนี้
คดีดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชนและนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนกว่า 20 องค์กร เช่น สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส), สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรอื่น ๆ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ “ขอความเป็นอิสระและมืออาชีพ นำคนผิดมาลงโทษ คืนความเป็นธรรมให้บิลลี่(นายพอละจี รักจงเจริญ )และครอบครัว ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์และสังคม” โดยเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ดำเนินการอย่างเป็นอิสระ และให้คุ้มครองพยาน-ครอบครัวของนายพอละจี ระหว่างการดำเนินคดีนี้ด้วย
“เจ้าพนักงานสอบสวนและภาคประชาสังคมได้แสดงความกังวลใจในเรื่องที่จำเลยและพวกเป็นผู้มีอำนาจ สามารถข่มขู่พยานได้ การปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสี่คนเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ทางการควรที่จะเพิ่มการดูแลความปลอดภัยให้กับพยานให้มากขึ้นด้วย รวมทั้งให้ติดตามจำเลยไม่ให้มีการคุกคามพยานที่จะขึ้นให้การต่อศาล” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ประวัติของคดี
เมื่อปี 2554 ที่ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายชัยวัฒน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (ตำแหน่งในขณะนั้น) ในข้อหาเข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือน และทรัพย์สินของชาวบ้านชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่บริเวณตำบลห้วยแม่เพรียง ในอำเภอแก่งกระจาน
ขณะที่คดีกำลังเข้าสู่ชั้นศาลในวันที่ 17 เมษายน 2557 แต่นายพอละจีกลับหายตัวไปหลังจากไปเก็บน้ำผึ้งในป่า ก่อนการนัดหมายของศาลหนึ่งเดือน ต่อมานางพิณนภาได้ฟ้องร้องต่อศาลโดยกล่าวหาว่านายชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่อุทยานฯรวม 4 คน เป็นผู้ลักพาตัวนายพอละจีไป เนื่องจากมีพยานเห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวนายพอละจีก่อนที่เขาจะหายตัวไป
อย่างไรก็ตาม นายชัยวัฒน์ ยืนยันว่าได้ควบคุมตัวนายพอละจีจริงแต่ปล่อยตัวไปแล้ว กระทั่งในเดือนกรกฎาคม 2557 ศาลพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว เพราะเห็นว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอ
กระทั่งวันที่ 3 กันยายน 2562 ดีเอสไอ ระบุว่า พบชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ในถังน้ำมันซึ่งจมอยู่ใต้น้ำในพื้นที่อุทยานฯ และสามารถพิสูจน์ได้ว่า กะโหลกดังกล่าวเป็นของนายพอละจี ซึ่งเป็นการยืนยันว่านายพอละจีเสียชีวิตแล้วจากการถูกฆาตกรรม และจากหลักฐานดังกล่าว จึงนำไปสู่การร้องต่อศาล เพื่อขอหมายจับผู้ที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมครั้งนี้ โดยดีเอสไอกลับมาสอบสวนคดีนี้ใหม่ โดยมีนายชัยวัฒน์ และพวกเป็นผู้ต้องสงสัย
ต่อมาในปี 2563 อัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ และพวก ด้วยเหตุผลว่าข้อหาของ ดีเอสไอไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอยังดำเนินการต่อจนกระทั่งมีการฟ้องร้องต่ออัยการอีกครั้ง และอัยการสั่งฟ้องในปี 2565 นี้
ในระหว่างที่นายชัยวัฒน์ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีคำสั่งในวันที่ 25 มีนาคม 2564 ให้ปลดนายชัยวัฒน์ ออกจากราชการ หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ชี้มูลความผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยการเผาทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านบางกลอยในป่าแก่งประจาน ต่อมาศาลปกครอง จังหวัดเพชรบุรี มีคำสั่งในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ให้ทุเลาคำสั่ง ปลดนายชัยวัฒน์ออกจากราชการตามที่นายชัยวัฒน์ได้ร้อง