กฎหมายทำแท้งบังคับใช้แล้ว อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ไม่ผิดทุกกรณี

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.02.08
เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ
กฎหมายทำแท้งบังคับใช้แล้ว อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ไม่ผิดทุกกรณี นักเคลื่อนไหวร่วมชุมนุมเดินขบวน เพื่อสนับสนุนประเด็นของกลุ่มผู้หญิง กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2563
เอเอฟพี

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง โดยแก้ไขให้ หญิงตั้งครรภ์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีความผิดทางอาญา หากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หรือ หากเกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด หากผ่านการปรึกษาแพทย์ อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวชี้ว่า กฎหมายอาญามาตรา 301 ควรถูกยกเลิก เพราะผู้หญิงที่ทำแท้งไม่ควรถูกลงโทษทุกกรณี

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 ระบุว่า ให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305 เดิม แล้วใช้กฎหมาย อาญามาตรา 301 และ 305 ซึ่งมีเนื้อหาใหม่แทน โดยกฎหมายทั้ง 2 มาตรา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

“มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ขณะมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เนื้อหาใหม่ของมาตรา 301

และเนื้อหาใหม่ของมาตรา 305 ประกอบด้วย “มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด (1) จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น (2) จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่า หากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง”

“(3) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่า ตนมีครรภ์ เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ (4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ (5) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ แต่ไม่เกินยี่สิบสัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” ราชกิจจานุเบกษา ระบุ

การแก้กฎหมายทำแท้งครั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติวาระ 3 เห็นชอบ 166 เสียง ไม่เห็นชอบ 7 เสียง และงดออกเสียง 21 เสียง ต่อพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. .... แก้ไขมาตราว่าด้วยการทำแท้ง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยก่อนหน้านี้ ในวันที่ 20 มกราคม 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้มีมติเห็นชอบ 276 เสียง ไม่เห็นชอบ 8 เสียง และงดออกเสียง 54 เสียง ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับเดียวกัน

การแก้ไขกฎหมายทำแท้ง สืบเนื่องจาก ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ตามคำร้องของแพทย์หญิงศรีสมัย เชื้อชาติ ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 กำหนดให้หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก มีความผิดอาญานั้น เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของหญิงเกินจำเป็น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และ มาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

ศาลรัฐธรรมนูญจึงสั่งให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยหากไม่มีการแก้ไขหรือแก้ไขไม่แล้วเสร็จภายใน 360 วัน ตามรัฐธรรมนูญจะถือว่า มาตรา 301 ไม่มีผลบังคับใช้ทันที ทำให้ในวันที่ 3 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 ซึ่งเกี่ยวข้องกัน เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ แล้วส่งต่อให้รัฐสภาพิจารณา กระทั่งผ่านความเห็นชอบทั้งวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร และถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายในวันเสาร์ที่ผ่านมา

นักเคลื่อนไหวชี้ว่า กฎหมายอาญามาตรา 301 ควรถูกยกเลิก เพราะหญิงที่ทำแท้งไม่ควรถูกลงโทษทุกกรณี

น.ส. สุไลพร ชลวิไล จากกลุ่มทำทาง ซึ่งเป็นกลุ่มให้คำปรึกษาเรื่องการทำแท้ง และรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้ง เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มทำทาง ที่พยายามให้ยกเลิกโทษสำหรับผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งในทุกกรณีเหมือนไม่ได้รับการรับฟัง โดยชี้ว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มคือ หากไม่ยกเลิกกฎหมาย ควรกำหนดอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ไม่ใช่ 12 สัปดาห์ แต่ข้อเรียกร้องนี้ก็ไม่เป็นผลเช่นกัน

“การทำแท้งเป็นสิทธิที่ผู้หญิงควรจะได้ ไม่ว่าอายุครรภ์จะเท่าใด และเราจะเฝ้าดูว่ารัฐจะออกมาตรการใด เพื่อรองรับกฎหมายที่เพิ่งบังคับใช้ เพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยที่สุด” น.ส. สุไลพร กล่าว

“เราตั้งคำถามต่อรัฐว่า มีกฎหมายออกมาแล้ว รัฐจะสร้างความเข้าใจกับประชาชนในสังคม เช่น การประชาสัมพันธ์ว่า สถานพยาบาลที่สามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัยอยู่ที่ใดบ้าง หรือแก้ไขหลักสูตรสุขศึกษา เพศศึกษาให้นักเรียนรู้ อย่างไร เราเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้สังคม เหมือนเช่นทำกับกรณีโควิด และรัฐควรจะผลักดันให้ เกิดสถานพยาบาลที่ยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยสำหรับผู้หญิงจริง ๆ” น.ส. สุไลพร กล่าวเพิ่มเติม

น.ส. สุไลพร เปิดเผยว่า จากการทำงานให้ข้อมูลเรื่องการทำแท้งปลอดภัยพบว่า ในแต่ละวันมีคนที่ต้องการทำแท้ง และขอคำปรึกษาผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของกลุ่มทำทางถึงเดือนละกว่า 100 คน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจเรื่องการทำแท้งปลอดภัย และต้องการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งรัฐควรมีหน้าที่ผลักดันในเรื่องนี้ด้วย

ด้าน น.ส.กรกนก คำตา สมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในประเทศไทยมีสถานพยาบาลที่สามารถทำแท้งให้กับหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ตามกฎหมายกำหนด จึงไม่อิงตามหลักวิทยาศาสตร์

“เราจะยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ม. 301 แม้กฎหมายมีการแก้ไขแล้ว เพราะเห็นว่า กฎหมายยังคงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และ มาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เพราะเราเห็นว่า ผู้หญิงไม่ควรต้องแอบทำแท้ง และเสี่ยงจากการทำแท้งเถื่อน” น.ส.กรกนก กล่าว

ด้าน เครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย (Referral System for safe Abortion - RSA) ในการดูแลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ระบุว่า จะทำการช่วยเหลือผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ท้องไม่พร้อม และมีความประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์ แม้กฎหมายจะระบุว่าอย่างไรก็ตาม

“เครือข่ายอาสา พวกเรามีจุดยืนที่มุ่งมั่นช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ตามหลักเกณฑ์การแพทย์และความต้องการของผู้หญิงและครอบครัว โดยไม่มีจิตคิดทำลายชีวิตใคร การไม่ช่วยเหลือในยามวิกฤตเป็นการทำลายทั้งชีวิตผู้หญิงและเด็กที่เกิดมาโดยไม่พร้อม ให้อยู่อย่างทุกข์ทรมานและขัดสน ภายใต้สังคมรอบด้านที่คอยแต่ประณามซ้ำเติมด้วยคำพูดเหยียดหยาม...และไม่ว่ากฎหมายจะเป็นอย่างไร จุดยืนเราไม่เปลี่ยนแปลง จะยืนหยัดช่วยเหลือตามจรรยาบรรณวิชาชีพของเรา”​ ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง