นักเคลื่อนไหวหวั่นรัฐประหารครั้งใหม่ จาก 'สูญญากาศทางการเมือง' หลังการเลือกตั้ง
2023.03.23
วอชิงตัน

ผลการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคมนี้ ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างชัดเจน และอาจจะมีสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อนบีบบังคับให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านมาหลายปี และพรรคที่ทหารสนับสนุน ต้องจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน นักเคลื่อนไหวและนักวิชาการไทย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ในสัปดาห์นี้
นักเคลื่อนไหวแสดงความกังวลว่า สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น จะทำให้มีรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ และท้ายที่สุดก็จะก่อให้เกิดรัฐประหารอีกครั้ง
"สิ่งที่อาจเป็นไปได้คือ เราจะได้รัฐบาลเสียงข้างน้อยที่บริหารไม่ได้ และเมื่อรัฐบาลล้ม สิ่งที่ตามมาคือสูญญากาศ สิ่งที่ประวัติศาสตร์ไทยสอนเราคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีสูญญากาศทางการเมือง มันก็จะมีรัฐประหาร" รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าว
หนึ่งในผู้สนับสนุนประชาธิปไตยหกคน ที่เข้าพบสมาชิกสภานิติบัญญัติและเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ในสัปดาห์นี้ โดยขอให้ประเทศพันธมิตรเก่าแก่ของไทย อย่าเร่งรีบในการรับรองการเลือกตั้งที่มีข้อบกพร่อง และขอให้ความสำคัญกับปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
"เราไม่อยากให้สหรัฐฯ รับรองการเลือกตั้งของไทยเลย ถ้าผลของการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน เราอยากให้สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับข้อบกพร่องของการเลือกตั้งครั้งนี้" ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ ผู้ก่อตั้ง Association for Thai Democracy
"นอกจากนี้ เรายังอยากให้สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย"
พรรคพันธมิตรที่คาดไม่ถึง
กลุ่มนักเคลื่อนไหวได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยอย่าง พรรคเพื่อไทย ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจจะเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค
พรรคพลังประชารัฐสืบทอดอำนาจจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ในปี 2557
"บทบาทของสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่ อาจจะบีบให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้" ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร iLaw กล่าว
นับเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้วที่พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้ง ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมของพรรค ส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดและในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
รัฐบาลทหารที่นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อำนาจหลังจากการรัฐประหารในปี 2557 รวมถึงก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 รัฐบาลทหารได้เปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งของไทย โดยเห็นชอบและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส) ได้
ดังนั้น การได้เสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง หรือการสามารถรวมเสียงจากพรรคอื่นเข้ามาจนได้เสียงข้างมาก จึงยังไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ และน่าจะเป็นไปได้ยากที่พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามทหาร จะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่า 376 ที่นั่ง
“มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน” ยิ่งชีพ กล่าวพร้อมเสริมว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจาเพื่อบรรลุแผนจัดตั้งรัฐบาล
การเลือกตั้งในปี 2565 ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ก็ดำเนินไปในลักษณะเดียวกัน อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำพรรคฝ่ายค้านต้องสร้างพันธมิตรกับองค์กรสหชาติมาเลย์ (UMNO) ซึ่งเป็นศัตรูคู่อาฆาตของเขา เพื่อกุมบังเหียนรัฐบาล
ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ มีประชาชนกว่า 52 ล้านคน ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. 500 คน หลังจากนั้นจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้ ส.ส. และ ส.ว. ทั้งหมด 750 คน ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
ในการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างในช่วงเก้าเดือนที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร “อุ๊งอิ๊ง” ชินวัตร ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ยังคงได้รับความนิยมสูงกว่าผู้สมัครจากพรรคอื่น
ขัดขวางไม่ให้เยาวชนไปลงคะแนนเลือกตั้ง
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากการยุบสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ไม่ใช่วันที่ 7 พฤษภาคม ตามที่คาดกันก่อนหน้านั้น
นักเคลื่อนไหว กล่าวว่า การประกาศดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะขัดขวางไม่ให้เยาวชนได้ออกไปเลือกตั้ง เนื่องจากวันที่ 14 พฤษภาคม เป็นวันสอบปลายภาคของนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัย
ส่วนในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคมนั้น เป็นวันสุดท้ายของวันหยุดยาวสุดสัปดาห์ ซึ่งเริ่มจากวันฉัตรมงคล ในวันที่ 4 พฤษภาคม ซึ่งคนไทยจำนวนมาก สามารถวางแผนเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เอ็ดเวิร์ด มาร์คีย์ จากรัฐแมสซาชูเซตส์ และริชาร์ด เดอร์บิน จากรัฐอิลลินอยส์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทย “สร้างเงื่อนไขสำหรับการเลือกตั้งให้น่าเชื่อถือและยุติธรรม”
“ซึ่งความพยายามดังกล่าว กำหนดให้รัฐบาลไทยเปิดทางให้พรรคฝ่ายค้านและผู้นำทางการเมืองดำเนินกิจกรรมของตน โดยปราศจากการแทรกแซงที่ไม่เหมาะสมจากหน่วยงานของรัฐ” และเพื่อให้แน่ใจว่า “การนับคะแนนเสียงเป็นไปอย่างยุติธรรมและโปร่งใส” กล่าวโดยมติที่ไม่มีผลผูกพันต่อวุฒิสมาชิกทั้งสอง
“ประชาชนไทยสมควรมีการเลือกตั้งที่ยุติธรรมและโปร่งใส” มาร์คีย์ กล่าวในเอกสารข่าว
“มติของเราจะทำให้รัฐบาลไทยมีความชัดเจน สหรัฐอเมริกาต้องสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมประชาธิปไตย เพื่อให้อำนาจทางการเมืองกลับมาอยู่ในมือของประชาชนชาวไทย ไม่ใช่ผู้นำทหาร”
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กลุ่มสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมของไทย 30 กลุ่ม ร่วมส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยแสดงความกังวลว่าการลงคะแนนเสียง “จะมีขึ้นภายใต้ข้อจำกัดทางการเมือง รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ซึ่งไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม"
“เรากังวลอย่างยิ่งว่า การเลือกตั้งอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและความยืดเยื้อของการเมืองที่ไม่เสถียรภาพ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีประวัติการตอบโต้ต่อการประท้วงอย่างสงบ และอื่น ๆ ด้วยการใช้กำลังที่มากเกินกว่าเหตุ” เอกสารข่าวระบุ
“จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดและมีอำนาจมากที่สุดของไทย จะต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาถึงผลที่ตามมาจากการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไทย” เอกสารระบุ