ศาลปกครองสั่งรัฐบาลทำแผนแก้ปัญหาฝุ่นใน 90 วัน
2024.01.19
กรุงเทพฯ

ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งในวันศุกร์นี้ให้รัฐบาลจัดทำแผนแก้ไขปัญหาฝุ่นควันภายใน 90 วัน จากคดีที่ภาคประชาชนฟ้องร้องนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากทำงานล่าช้าและละเลยการปฏิบัติหน้าที่จัดการปัญหา PM2.5 ตั้งแต่เมื่อ 10 เมษายน 2566 ด้านนักวิชาการหวังจะเห็นการแก้ไขปัญหาฝุ่นในระยะยาวจากรัฐบาล
"แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (นายกรัฐมนตรี) จะได้ดำเนินการเพื่อสั่งการให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงตกอยู่ในภาวะที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอันเกิดจากฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง กรณีจึงถือว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดล่าช้าเกินสมควร" ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ
“พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องกำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการและยั่งยืนเพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข บรรเทา หรือระงับภยันตรายอันเกิดจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือให้ทันท่วงที ทั้งนี้ ให้ดำเนิการกำหนดมาตรการ หรือจัดทำแผนฉุกเฉินดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน” คำสั่งศาล ตอนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกฟ้องสามารถยื่นอุทธรณ์คดีได้ภายใน 30 วัน
หลังฟังคำพิพากษา นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ฟ้อง ระบุว่า หลังจากนี้ กลุ่มจะมีหนังสือถึงอัยการขอให้ไม่อุทธรณ์ เพราะไม่ต้องการให้กระบวนการแก้ปัญหาล่าช้าไปอีก
“เราไม่อาจฝากความหวังไว้ให้ภาครัฐเพียงอย่างเดียว เราต้องให้ความใส่ใจ อาศัยความร่วมมือ แรงผลักดันจากทุกภาคส่วนเป็นส่วนสำคัญ เพื่อที่จะทำให้เป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวม เราคงต้องชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลก่อนหน้าทำอะไรไม่ได้เรื่องเลย หวังว่าคำพิพากษาในครั้งนี้จะเป็นบทเรียนแก่รัฐบาลที่นำโดยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะดำเนินการอย่างรอบด้านมากขึ้น บูรณาการงานต่าง ๆ มากขึ้น” นายสมชาย กล่าว
คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ประชาชน และนักวิชาการในจังหวัดเชียงใหม่ ได้รวมตัวกันยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดหุ้น ต่อศาลปกครองเชียงใหม่
เรียกร้องให้รัฐบาล ราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คือ จัดทำแผนฉุกเฉิน ออกมาตรการ นโยบายจัดการ/ควบคุม/ระงับ หรือบรรเทา สถานการณ์วิกฤตฝุ่นควัน PM2.5 และผลร้ายจากมลพิษทางอากาศ PM2.5 ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีสภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดในโลก ด้วยค่า PM2.5 ระดับ 212 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ล.บม.)
ต่อคำพิพากษา นพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เชื่อว่า ผลคำพิพากษาของศาลปกครองในวันนี้จะทำให้เห็นการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลในอนาคต
“ดีใจกับการพิพากษาในครั้งนี้ เพราะเห็นแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว ก่อนหน้านี้มีหลายคดีที่อาจออกมาผลกระทบไม่ชัดเจน ทำให้ฝ่ายทีมแพทย์ไม่สบายใจเกี่ยวกับการสื่อสาร ครั้งนี้เป็นที่ชี้ชัดว่า ผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับขั้นของศาลปกครอง” นพ. รังสฤษฎ์ กล่าว
“เป็นครั้งแรกที่เราเริ่มมองเห็น โอกาสที่จะหายใจได้มากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามยังมองกลไกแก้ไข น่าจะต้องไปถึงเรื่องของบริษัททุนที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หวังว่าทุกภาคส่วนจะช่วยกันป้องกันและให้ความร่วมมือในการจัดการ” นพ. รังสฤษฎ์ กล่าวเพิ่มเติม
ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (2.5 PM) เป็นฝุ่นที่สามารถลอดผ่านรูจมูกเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและส่งผลต่อสุขภาพได้ สำหรับประเทศไทย ระบุว่า หาก PM2.5 เฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมงสูงกว่า 50 มคก./ล.บม. ถือว่าเกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกับสุขภาพ ขณะที่ในหลายประเทศกำหนดค่ามาตรฐานที่ 25 มคก./ล.บม.
เมื่อวันพุธ สภาผู้แทนราษฎร เพิ่งมีมติเอกฉันท์ 443 เสียงผ่านร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด 7 ฉบับ วาระแรก โดยขณะนี้มีการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด และพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ของรัฐบาล ที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเร็ว ๆ นี้ สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 1. มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการจัดการอากาศสะอาด ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการระดับจังหวัดขับเคลื่อนนโยบายทั้งด้านการปฏิบัติ และวิชาการ
2. ทำระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ติดตามเฝ้าระวัง เก็บฐานข้อมูล และกำหนดกรอบการบริหารสภาพอากาศ 3. กำหนดมาตรการการลดและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด 4. กำหนดเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ 5. ทำเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด เช่น กำหนดภาษี ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับอากาศ และ 6. กำหนดความรับผิดทางแพ่งและบทกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย
ในขณะเดียวกัน ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ระบุว่า ปัจจุบัน ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ส่วนใหญ่ เริ่มอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ระหว่าง 26.5-90.6 มคก./ล.บม. ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ มีภูมิภาคละ 1 พื้นที่ที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ระหว่าง 10.5-71.5 มคก./ล.บม. ขณะที่ภาคใต้สภาพอากาศโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี เฉลี่ย 10.1 - 33.2 มคก./ล.บม
จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน