เศรษฐาเร่งแก้ปัญหา PM2.5 พุ่งสูง สั่งผู้ว่าฯ ภาคเหนือลงพื้นที่

รุจน์ ชื่นบาน
2024.02.15
กรุงเทพฯ
เศรษฐาเร่งแก้ปัญหา PM2.5 พุ่งสูง สั่งผู้ว่าฯ ภาคเหนือลงพื้นที่ อาคารสูงในกรุงเทพฯ ท่ามกลางมลพิษที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ในเช้าวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เร่งแก้ปัญหาค่า PM2.5 พุ่งสูงในกรุงเทพฯ และอีก 44 จังหวัด สั่งผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือลงพื้นที่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ประสานกรุงเทพฯ ออกมาตรการทำงานที่บ้าน (work form home) จนถึงสุดสัปดาห์นี้ พร้อมกำชับส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง

นายกรัฐมนตรีได้หารือกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และรับฟังรายงานจากปลัดทส. หลังค่า PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดโดยรอบเกินค่ามาตรฐานติดต่อกันหลายวัน ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน

“ดูรายงานของวันนี้ก็พบว่าจุดสูงสุดของค่าฝุ่นพิษในแผนที่ จ.เชียงใหม่ ควรจะมีค่าฝุ่นที่สูงกว่านี้ แต่ในช่วงเวลานี้กลับเป็นสีเหลือง จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี หลังจากที่ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ถึง 3 ครั้ง เพื่อติดตามและกำชับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ผลที่ออกมานั้นดูดี จึงอยากจะทำเชียงใหม่ให้เป็นโมเดลนำร่องอีกหลายจังหวัด” นายเศรษฐา ระบุ

นายเศรษฐากล่าวด้วยว่า ปัญหา PM2.5 เป็นเรื่องใหญ่ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น ต้องดูกันไป ทั้งเรื่องควันพิษที่ออกมาจากรถยนต์ รวมถึงมาตรการที่จะเปลี่ยนให้ไปใช้รถ EV รวมถึงแนวความคิดของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่จะมีการย้ายท่าเรือคลองเตยออกไป ก็เป็นเรื่องดี จะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว

“การแก้ปัญหาในระยะสั้น กรุงเทพฯ ได้ประกาศให้มีมาตรการ work form home บางส่วนแล้ว และให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ประสานกับฝ่ายความมั่นคงติดตามเรื่องนี้ รวมถึงประสานกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเผา” นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการหารือกับ ทส.

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งสื่อสารเตือนภัย (SMS) ถึงประชาชนในพื้นที่ และควบคุมปัญหาจุดความร้อนจากการเผาป่าทั้งในไทยและฝุ่นข้ามพรมแดน

ด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA รายงานข้อมูลจากดาวเทียมของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 พบ 44 จังหวัดในประเทศไทยมีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ

ขณะที่ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพฯ รายงานสถานการณ์ PM2.5 ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศประจำวันนี้ พบว่าเกินมาตรฐานจำนวน 65 พื้นที่ อยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ และจำนวน 13 พื้นที่ และอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลต่อสุขภาพ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เปิดเผยหลังการประชุมกับนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้เร่งลงพื้นที่ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปถึงหน้างานและขอความร่วมมือชาวบ้านให้หยุดการเผาวัชพืช เศษใบไม้

“ต้องเร่งขอความร่วมมือเกษตรกร หากเป็นต่างจังหวัดคือเรื่องการเผาผลผลิตทางการเกษตรและวัชพืช ส่วนในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ อาจต้องกลับมาใช้มาตรการ work form home การใช้สำนักงานร่วมกัน ใช้ยานพาหนะร่วมกัน ใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากที่สุด” นายอนุทิน ระบุ

โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ เปิดเผยว่าได้ประสานกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการปฏิบัติการเฝ้าระวังเรื่องการสาธารณสุข

“เราได้ขอความร่วมมือไปยังจังหวัดที่มีการเผาในพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า ให้กำชับเข้มงวดควบคุม เพื่อลดผลกระทบที่เกิดทั้งในพื้นที่และการส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง” นายจตุพร ระบุ

ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้การแก้ไขปัญหาหมอกควันเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งแก้ไข และเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 สภาผู้แทนราษฎร เพิ่งมีมติเอกฉันท์ 443 เสียง ผ่านร่างพ.ร.บ. อากาศสะอาด 7 ฉบับ วาระแรก โดยขณะนี้ มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อจัดทำร่างพ.ร.บ. อากาศสะอาด และพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป

สำหรับ ร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ของรัฐบาล ที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเร็ว ๆ นี้ สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 1. มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการจัดการอากาศสะอาด ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการระดับจังหวัดขับเคลื่อนนโยบายทั้งด้านการปฏิบัติ และวิชาการ

2. ทำระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ติดตามเฝ้าระวัง เก็บฐานข้อมูล และกำหนดกรอบการบริหารสภาพอากาศ 3. กำหนดมาตรการการลดและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด 4. กำหนดเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ 5. ทำเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด เช่น กำหนดภาษี ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับอากาศ และ 6. กำหนดความรับผิดทางแพ่งและบทกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย

รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้ผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ได้ชี้ว่า การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันไม่สามารถรอคอยรัฐบาลได้เพียงอย่างเดียว ทุกฝ่ายควรมีส่วนร่วม

“เรื่องฝุ่นเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน ที่ผ่านมารัฐบาลก่อนหน้าทำอะไรไม่ได้เรื่องเลย เราคาดหวังว่า นายกฯ เศรษฐา จะดำเนินการอย่างรอบด้านมากขึ้น อย่าใช้แผนเดิมในการแก้ไขปัญหาฝุ่น เพราะที่ผ่านมายืนยันแล้วว่าใช้การไม่ได้อย่างชัดเจน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และเราต้องการให้หน่วยงานรัฐและเอกชน ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่ออากาศสะอาด” รศ. สมชาย กล่าว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง