หมอกควัน : ทุกข์ระดับโลกของเชียงใหม่
2023.03.21
เชียงใหม่
เครื่องฟอกอากาศกลายเป็นของขวัญยอดฮิตที่คนเชียงใหม่มอบให้แก่กันในวันสำคัญ เพราะในฤดูแล้งของทุกปี คุณภาพอากาศของเชียงใหม่เข้าขั้นย่ำแย่ และยังหาทางแก้ไม่เจอ
“ผมมาเชียงใหม่ ก็หวังจะหนีความวุ่นวาย หนีมลพิษจากกรุงเทพมาพักผ่อน กลายเป็นว่าแย่กว่ากรุงเทพ ถอดหน้ากากปุ๊บแสบจมูก จะใส่หน้ากากนอนก็กลัวหายใจไม่ออกตาย อยากให้พี่เบิร์ดมาเชียงใหม่ จะได้รู้เสียทีว่า หมอกกับควันมันไม่เหมือนกัน” ปอม นักท่องเที่ยววัย 35 ปี ที่เดินทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ โดยขอใช้ชื่อเล่นเพื่อความเป็นส่วนตัว
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ปัญหาสภาพอากาศไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น เพราะดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index - AQI) ยืนยันได้ชัดเจนว่า ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ไม่มีแม้สักวันเดียวที่คุณภาพอากาศของเมืองท่องเที่ยวระดับโลกแห่งนี้มีอากาศดีพอจะใช้ชีวิตกลางแจ้งได้อย่างปกติ
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 เชียงใหม่เคยขึ้นแท่นเป็นเมืองที่มีสภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดในโลก ด้วยค่า PM2.5 ระดับ 212 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ล.บม.) โดยในเวลาเที่ยงของวันจันทร์นี้ (20 มีนาคม 2566) ที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส เชียงใหม่ มีค่า AQI 120 ซึ่งอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบกับสุขภาพ
รศ.พญ. บุษยามาส ชีวสกุลยง หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาและพบว่า ภาคเหนือมีผู้ป่วยมะเร็งปอดมากกว่าภาคอื่น โดยมีส่วนเกี่ยวข้องกับ PM2.5
“ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น เมื่อก่อนเราจะบอกว่าการเป็นมะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ แต่อัตราการสูบบุหรี่ของคนภาคเหนือไม่ได้มากกว่าคนภาคอื่น แต่อัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดกลับสูงกว่าคนภาคอื่น ๆ งานวิจัยในช่วงหลัง ๆ พบว่า ชนิดของมะเร็งปอดมีส่วนเกี่ยวข้องกับ PM2.5” รศ.พญ. บุษยามาส กล่าว
ข้อมูลในปี 2561-2565 พบว่า 3 อันดับจังหวัดที่มีผู้ป่วยมะเร็งปอดมากที่สุด อยู่ในภาคเหนือ คือ ลำปางที่มีผู้ป่วยมะเร็งปอด 45 คนต่อจำนวนประชากรหนึ่งแสนคน, เชียงใหม่ 41 คนต่อหนึ่งแสนคน และน่าน 38 คนต่อหนึ่งแสนคน ขณะที่กรุงเทพ 24 คนต่อหนึ่งแสนคน ส่วนอันดับสุดท้ายคือ ปัตตานี 6 คนต่อหนึ่งแสนคน
แม้แต่คนระดับนายกรัฐมนตรีอย่าง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังแสดงความหมดหวังในการแก้ไขปัญหา
“ถ้าทุกคนช่วยกันมันเอาอยู่แน่นอน มันต้องช่วยกันไง นายกฯ ไปสั่งปุ๊บ ลดให้ได้นะ ถ้าไม่ร่วมมือมันไปทำได้ไหมล่ะ ป่ามันปิดไม่ได้หรอก มันเป็นเรื่องอะไรหลาย ๆ อย่าง เพียงแต่ว่าอย่าเผา เขาห้ามก็อย่าเผา ตอนนี้ห้ามก็เผา จะทำยังไงอ่ะ กฎหมายมันมีอยู่” พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว เมื่อเดินทางถึงเมืองหลวงของภาคเหนือ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
สาเหตุของฝุ่นควันและความพยายามแก้ปัญหา
“สาเหตุหลัก คือ การเผา หลายปีก่อน นักวิจัยคิดว่าเป็นเพราะไฟป่าอย่างเดียว แต่เมื่อศึกษาอย่างจริงจังพบว่าพื้นที่แต่ละพื้นที่มีสาเหตุไม่เหมือนกัน และกรณีภาคเหนือ สาเหตุคือการเผามากกว่ายานพาหนะ ทั้งสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับกับหุบเขา พื้นที่ราบมีจำกัด ทำให้เกษตรกรต้องเพาะปลูกพืชอายุสั้นในป่าเขตที่สูง และใช้ไฟจัดการเศษพืชเพื่อเตรียมการเพาะปลูก” ผศ.ดร. ศุทธินี ดนตรี ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
ผศ.ดร. สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า ปีนี้อากาศในภาคเหนือแย่กว่าทุกปี เพราะพบการเผาไร่มากที่สุด ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน โดยอ้างรายงานของ GISTDA ว่าพบจุดความร้อนในภูมิภาค 9,781 จุด แบ่งเป็น เมียนมา 3,790 จุด กัมพูชา 2,733 จุด ไทย 1,984 จุด และ สปป.ลาว 1,274 จุด สำหรับไทยนับเป็นสถิติใหม่ คือ เพิ่มจาก 1,251 จุด เป็น 1,984 จุด
“แม้การคาดการณ์ฝุ่นแม่น แต่ยังไม่สามารถลดการเผาได้ มันก็สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการแก้ไขมีปัญหา โดยเฉพาะการไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา และกฎหมายที่ไม่บูรณาการ” ผศ.ดร. สมพร กล่าว
ด้าน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า เฉพาะมกราคม-พฤษภาคม 2565 หรือหน้าร้อนปีก่อน จังหวัดภาคเหนือมีพื้นที่เผาไหม้สะสมมากที่สุด คือ 3,183,174 ไร่ โดย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และเพชรบูรณ์ เป็นจังหวัดที่พบการเผาไหม้มากที่สุดตามลำดับ
ในปี 2566 นี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศว่าจะมุ่งเน้นที่การควบคุมการเผาในที่โล่งใน 17 จังหวัดภาคเหนือมากขึ้น และประสานกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ ดำเนินการตามนโยบาย “ชิงเก็บลดเผา บริหารจัดการเชื้อเพลิง” เพราะจากการพยากรณ์เชื่อว่าปรากฎการณ์ลานีญาจะน้อยลง และเข้าสู่เอลนีโญ ซึ่งทำให้ปริมาณฝนลดและอาจเกิดการเผาไหม้มากขึ้น
ส่วนในระดับท้องถิ่น นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ชี้ว่าปัญหาหมอกควันมีผลกระทบกับเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ จึงใช้ความร่วมมือกับภาคเอกชนแก้ไขปัญหา โดยให้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวังการเผาในที่โล่ง และยังได้ประสานกับเจ้าของกิจการที่มีอาคารสูง 17 แห่ง ขอความร่วมมือพ่นละอองน้ำรอบหรือบนอาคารสูง เพื่อช่วยดักจับฝุ่นควันในอากาศ และล้างถนนเพื่อลดฝุ่น รวมถึงสร้างความชุ่มชื้นในอากาศด้วย
ภาพถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์แสดงให้เห็นการเผาเศษเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวบนที่สูง ในอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 21 มีนาคม 2566 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)
ความล้มเหลวและทางออก
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แถลงต่อ พล.อ. ประยุทธ์ ระหว่างการเยือนเชียงใหม่เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยยืนยันว่า ปีนี้ เชียงใหม่จัดการกับการเผาได้อย่างดี
“เห็นได้จากที่ได้ตั้งรางวัลนำจับให้ผู้แจ้งเบาะแสการเผารายละ 10,000 บาท แต่จนถึงเวลานี้ยังไม่มีผู้แจ้งและได้รับรางวัลแม้แต่รายเดียว ที่ผ่านมาเชียงใหม่เกิดไฟไหม้ป่าที่รุนแรงขนาดต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ช่วยบินดับไฟเพียงครั้งเดียวที่อำเภอฮอด สาเหตุสำคัญมาจากฝุ่นควันที่ถูกพัดพามาจากนอกพื้นที่เข้ามาสะสม สถานการณ์ล่าสุดวันนี้ดีขึ้น จากความตั้งใจในการทำฝนเทียม โดยที่ผ่านมาทำให้เกิดฝนตกเป็นผลสำเร็จแล้ว 5 ครั้ง” นายนิรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายวศิน เมณฑ์กูล เกษตรกรจาก อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ยืนยันว่า การเผายังคงเกิดขึ้น ไม่ได้หมดไปอย่างที่หน่วยงานรัฐอ้าง
“การเผาตอนนี้ คือ ลักลอบ จะเผากันซึ่ง ๆ หน้าทำยาก เพราะเผาทีก็โดนปรับเยอะ แต่บนดอยมันจับไม่หมดอยู่แล้ว เผาทีก็ไม่ใช่ว่าเยอะ ไร่สองไร่ มันจับไม่ได้ การหาเห็ดถอบไปขายในเมืองเพื่อปากท้อง ทางเดียวที่จะทำได้ก็ต้องเผา ที่ผ่านมา ชาวบ้านพยายามเข้าร่วมโครงการเผาแบบเหลื่อมเวลากัน โดยจองคิว แล้วแต่ละหมู่บ้านก็เผาคนละเวลา ก็ทำได้ประมาณหนึ่งแต่ยังมีการเผาอยู่เพราะมันหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ” นายวศิน กล่าว
ด้าน นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า แนวทางของรัฐไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
“แนวคิดหลักของรัฐบาลคือ เกษตรปลอดการเผา ใครเผาถูกจับ การเผาทั้งหมดกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย กลายเป็นเรื่องใต้ดินใครจุดก็โดนจับ ควรจะเปลี่ยนเป็นมาตรการควบคุมเชื้อเพลิง จำแนกแยกแยะพื้นที่ที่ดินออกจากป่า ให้ชุมชนมีแผนป้องกันไฟฝุ่นควัน แต่ในขณะเดียวกันต้องดูแลเรื่องเศรษฐกิจด้วย เช่นเปลี่ยนจากให้ชาวบ้านปลูกข้าวโพดมาเป็นพืชอื่น ๆ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลา” นายชัชวาลย์ กล่าว
“วิธีการง่ายที่สุดที่จะจัดการเศษเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวคือ การเผา เช่น การปลูกข้าวโพดบนดอยจะเคลียร์พื้นที่ ถ้าเกิดจะให้เขาไถกลบก็คงไม่ได้ เพราะดอยมันชัน รถไถเข้าไม่ได้ แต่จริง ๆ เงื่อนไขคือ เผามันสะดวกกว่า ง่ายกว่า ดังนั้น ทางแก้ปัญหาคือ เกษตรอินทรีย์เพราะไม่ต้องเผา ไม่ใช้สารเคมี ไม่ทำลายป่า ไม่ทำให้นิเวศมันเสีย” ดร. ธัญศิภรณ์ จันทร์หอม สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ
แต่สำหรับนักวิจัยอิสระชาวเชียงใหม่ ชี้ว่าการเผาพืชพันธุ์ของเกษตรกร คือภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
“ทุกครั้งที่เราสูด PM2.5 เข้าปอด มันคือการสูดความเหลื่อมล้ำเข้าไป ชาวบ้านเขาเผาเพราะวิถีชีวิตต้องทำเกษตร ต้องหาของป่ามาขาย หรืออาจเพราะไม่มีวิธีกำจัดขยะดี ๆ เหมือนคนในเมือง วาทะกรรมที่ว่าคนเผาไม่มีจิตสำนึก มันเป็นการประดิษฐ์ขึ้นมาของชนชั้นกลาง” นายวิทย์ กรบุญ นักวิจัยอิสระ วัย 40 ปี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“ลองเอาคนเมืองมาใช้ชีวิตชาวบ้านที่เชียงใหม่ คุณก็ต้องเผา ช่วยกันสูด PM2.5 ให้เต็มปอดสิ จะได้ลดความเหลื่อมล้ำกัน”