เกาหลีเหนือยิงจรวดตกทะเลญี่ปุ่นช่วงการประชุมเอเปค
2022.11.18
กรุงเทพ

ปรับปรุงเวลา 13:50 น. ET 2022-11-18
ผู้นำญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ประชุมฉุกเฉินในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ที่มีขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อปรึกษาเรื่องที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธตกใกล้ญี่ปุ่นในวันศุกร์นี้
สำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์ จะร่วมการประชุมนี้ด้วย นับเป็นอีกครั้งที่การเมืองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหัวข้อใหญ่ในการประชุมนานาชาติในรอบสองสัปดาห์
ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงเทพฯ ว่า เชื่อว่าขีปนาวุธดังกล่าว “ตกลงห่างจากเกาะฮอกไกโด ในพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น”
การกระทำการยั่วยุโดยเกาหลีเหนือ “มีบ่อยครั้งมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน” และ “เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้อย่างยิ่ง” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าว
ด้าน นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ประณามการกระทำของเกาหลีเหนือ
“เราขอประณามการกระทำเหล่านี้ และเราเรียกร้องอีกครั้ง ให้เกาหลีเหนือเลิกการบ่อนทำลายเสถียรภาพ ซึ่งเป็นการผิดกฎหมาย” นางกมลา กล่าวหลังการประชุมฉุกเฉิน
เกาหลีเหนือคงทำเพื่อเป็นการประท้วง คงไม่มีผลใด ๆ ต่อเกาหลีเหนือ เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกเอเปคและไม่ค่อยเข้าร่วมประชุมกับชาติอื่นใด
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การยิงขีปนาวุธครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 8 ในปีนี้ เมื่อวันที่ 3 เดือนนี้ เกาหลีเหนือได้ยิงจรวดหลายลูกเพื่อประท้วงการซ้อมรบระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา
ในวันศุกร์นี้ มีการยิงจรวดเมื่อเวลา 11.20 ตกลงห่างจากเกาะฮอกไกโด 210 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อว่าสามารถยิงเป้าหมายที่ใดก็ได้ในอเมริกา
จุดเริ่มต้นที่อาจเป็นความขัดแย้งรุนแรง
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า นางกมลา แฮร์ริส จะเดินทางเยือนเกาะปาลาวัน ในทะเลจีนใต้ ในวันอังคารนี้ โดยนางกมลา จะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สุดของสหรัฐฯ ที่จะเดินทางไปเยือนเกาะนี้ของฟิลิปปินส์
ปาลาวัน ตั้งอยู่ชายขอบน่านน้ำที่มีข้อพิพาทอ้างสิทธิระหว่างหลายประเทศในภูมิภาค รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และการเยือนครั้งนี้ จีนอาจมองว่าเป็นการยั่วยุ
เพราะจีนอ้าง “กรรมสิทธิ์พื้นที่ตามประวัติศาสตร์” มากที่สุดเกือบร้อยละ 90 ของทะเลจีนใต้ และยังได้สร้างสิ่งปลูกสร้างเป็นเกาะเทียมบนแนวปะการังหลายแห่ง ทั้งมีการวางกำลังทางทหาร แม้จะมีการประท้วงจากประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม
อีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งสุ่มเสี่ยงจะยกระดับความรุนแรง ในความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างจีนและสหรัฐฯ คือไต้หวัน ซึ่ง สี จิ้นผิงอธิบายว่าเป็น “แกนผลประโยชน์หลักที่สำคัญของจีน” และ “เป็นเส้นแดงด่านแรก ห้ามผู้ใดก้าวล่วง และไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือต่อรองใด ๆ”
ดร. เจียง ยู่ ลี่ สำนักวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยยูนนาน นอร์มอล ประเทศจีน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า “ในภาพใหญ่เลย เอเปคจะมีความสำคัญกับการพัฒนาของจีนในระยะยาวมาก ๆ และไทยเองก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น การสร้างความร่วมมือกับไทยจึงสำคัญมาก หากท่าทีของ สี จิ้นผิง ก็ชัดเจนว่าเขาหว่านแหพอสมควร พยายามเป็นมิตรกับชาติที่ไม่ได้ขึ้นกับสหรัฐฯ ให้ได้มากที่สุด"
อีกทั้ง "ต้องยอมรับว่า พรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่อยากตกประเด็นโลกตอนนี้ เอเปคมีประเด็นสำคัญมากมาย เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม นวัตกรรม สี จิ้นผิงให้ความสำคัญกับการประชุมระดับนานาชาติมากในช่วงสองสามปีมานี้"
"ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างไทยกับจีน และไทยกับสหรัฐฯ มันวางอยู่บนเงื่อนไขของการค้า และการพัฒนาในระดับโลกเป็นหลัก จึงเชื่อลึก ๆ ว่า รัฐบาลไทยฉลาดพอที่จะเลือกว่า ประเด็นไหนควรจะร่วมกับใคร" ดร. เจียง ยู่ ลี่ กล่าว
การแข่งขันของมหาอำนาจ
การแข่งขันทางด้านการเมืองในภูมิภาคของประเทศมหาอำนาจ ได้กลายเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุมของผู้นำระดับโลกในรอบสองสัปดาห์นี้
ประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพเอเปค ได้เรียกร้องให้เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วม “อยู่เหนือความขัดแย้ง” และให้เน้นการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
เอเปคก่อตั้งในปี 2532 มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาการค้าเสรีในภูมิภาค ปัจจุบันมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ รวมทั้งสองมหาอำนาจใหญ่ คือ สหรัฐอเมริกาและจีน
กรุงปักกิ่งและกรุงวอชิงตัน ได้กลายเป็นคู่แข่งทางด้านการเมืองในภูมิภาคและมีปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งทางด้านการค้าและความมั่นคง รวมถึง ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า “เอเชียแปซิฟิกไม่ใช่สนามหลังบ้านของใคร และไม่ควรจะเป็นสนามสำหรับการแข่งขันของมหาอำนาจ” แต่ไม่ได้ระบุชื่อประเทศใด ๆ โดยตรง
“ไม่มีความพยายามที่จะทำให้เกิดสงครามเย็นอีกครั้ง” ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าว
ในการประชุมกลุ่มประเทศ G-20 บาหลี ในสัปดาห์ก่อน ประธานาธิบดีของจีนและสหรัฐฯ ได้พบกันตัวต่อตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ โจ ไบเดน ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อสองปีก่อน
ประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวว่า “ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีสงครามเย็นครั้งใหม่”
โจ ไบเดน ได้กล่าวอีกว่า “สหรัฐอเมริกาจะแข่งขันอย่างเข้มข้นกับจีน” แต่ “การแข่งขันนั้นจะต้องไม่กลายเป็นความขัดแย้ง”
ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค เพราะได้กลับอเมริกาไปก่อนเพื่อไปร่วมงานแต่งงานของหลานสาว และมอบหมายให้ รองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส ซึ่งเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในคืนวันพฤหัสบดีทำหน้าที่แทน
พระสงฆ์ปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)
จับกุมตัวผู้ประท้วง 25 คน
การประชุมเอเปค ซึ่งจะสิ้นสุดในวันเสาร์นี้ อยู่ภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวด
ในวันศุกร์นี้ กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ห่างจากที่จัดการประชุมราว 7 กิโลเมตร ตำรวจได้ใช้กระบองและกระสุนยางสลายชุมนุม
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือน้องมายด์ กล่าวว่า มีผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 5 คน เพราะตำรวจได้ใช้กระสุนยางยิงใส่
นอกจากนั้น ช่างภาพของสำนักข่าวรอยเตอร์ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา
พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษกกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและการจราจรการประชุมเอเปค กล่าวว่า ได้จับตัวผู้ประท้วง 25 คน ได้ดำเนินการแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พรบ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558, ทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหาย, วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น เป็นต้น
“ผู้ชุมนุมทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ขว้างปาก้อนหิน สิ่งของ ทำร้ายรถยนต์กระบะ ราชการเสียหาย มีการใช้กำลังทำร้ายและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตำรวจจึงมีความจำเป็นต้องใช้กำลังป้องกันตนเอง และทำการจับกุมผู้กระทำความผิดเหตุซึ่งหน้าดังกล่าว” พล.ต.ต. อาชยน กล่าว
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน
อัพเดท : เพิ่มข้อมูลแผนการเดินทางของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะไปเยือนเกาะปาลาวัน และการสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ