กกต. รับรอง 'ชัชชาติ' เป็นผู้ว่าฯ กทม.

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.05.31
กรุงเทพ
กกต. รับรอง 'ชัชชาติ' เป็นผู้ว่าฯ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพ และสมาชิกสภากรุงเทพ ก่อนได้รับการรับรองเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุด วันที่ 22 พฤษภาคม 2565
สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ชนะเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้วในวันอังคารนี้ หลังจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ขณะที่เจ้าตัวยืนยันว่าพร้อมทำงานให้กับคนกรุงเทพฯ ทุกคน และร่วมมือกับสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) จากทุกพรรค 

นายชัชชาติ ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนที่ 17 เปิดเผยกับสื่อมวลชนหลังทราบข่าวที่ กกต. ได้รับรองผลการเลือกตั้งว่า ขอบคุณทุกคะแนนเสียงเลือกตั้ง และพร้อมเริ่มทำงานให้กับกรุงเทพฯ 

“เราก็จะเป็นผู้ว่าฯ ของทุกคน ดูแลทุกคนเหมือนกัน ไม่ว่าจะมีความคิดแตกต่างกันอย่างไร ผมเชื่อว่าช่วง 9 วันที่ผ่านมาเป็นบทพิสูจน์ที่ดีมาก ว่าคนกรุงเทพมีความหวัง แล้วเราเดินไปด้วยไม่ได้มีความแตกต่างเลย ไปทุกที่ ทุกพรรคการเมืองเดินไปด้วยกัน พลังประชารัฐ ก้าวไกล เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ เราเชิญพวกท่านมาอย่างยินดี ประชาชนอยากได้ชีวิตที่ดีขึ้น เมืองที่มีความหวังขึ้น” ชัชชาติ กล่าว ณ ตลาดดินแดง 

“ผมเชื่อว่าเป็นก้าวต่อไปที่สำคัญ นโยบายที่เราเขียนไว้หลาย ๆ ข้อ ข้าราชการ กทม. ก็เอาไปทำเลย มันเริ่มขยับแล้ว ถึงแม้เราจะยังไม่ได้เข้าไปทำงานก็ตาม ผมว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ว่าคนร่วมมือร่วมใจกัน เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดี และมีพลังจากการร่วมมือของทุกคน” ผู้ว่าฯ คนล่าสุด ระบุ

ชัชชาติ ลงสมัครชิงตำแหน่งในนามอิสระ ได้โฆษณานโยบาย 200 นโยบาย ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 9 กลุ่มนโยบายหลัก คือ สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี เดินทางดี ปลอดภัยดี บริหารจัดการดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี สร้างสรรค์ดี และเรียนดี

ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย กกต. ได้เผยแพร่เอกสารข่าวประกาศผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยระบุว่า “วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เสนอผลการตรวจสอบเบื้องต้น และเห็นควรประกาศผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 1 ราย... คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ก็มีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมจึงมีมติประกาศผลการเลือกตั้ง” 

กกต. ระบุว่า เหตุผลที่ไม่ได้ประกาศผลการเลือกตั้งทันทีที่ทราบผลการนับคะแนนเนื่องจาก กกต. ต้องดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น ตาม พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 17 แม้ว่าจะมีผู้ร้องเรียนหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ ก่อนการเลือกตั้งฯ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ร้องเรียน กกต. ให้เอาผิดชัชชาติ กรณีที่ออกแบบป้ายหาเสียง ซึ่งมีรอยประที่สามารถนำไปตัดเย็บทำกระเป๋าได้ ซึ่งนายศรีสุวรรณเห็นว่าอาจเป็นการสัญญากับประชาชนว่าจะให้สิ่งของ ซึ่งขัดกฎหมายการเลือกตั้ง และล่าสุด ในวันจันทร์ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณได้เข้าร้องเรียนที่สำนักงาน กกต. ให้เอาผิดนายชัชชาติ กรณีเกี่ยวกับการจัดการป้ายหาเสียงด้วยเพราะไม่ได้เอาป้ายหาเสียงออกให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน 

หลังการเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 กกต. ได้ประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ โดยชัชชาติ ได้รับ 1,386,215 คะแนน ทิ้งห่างคู่แข่งอันดับถัดไป เช่น นายสุชัชวีร์ สุวรรณรัตน์ (พรรคประชาธิปัตย์) ที่ได้ 2.54 แสนเสียง, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล) 2.53 แสนเสียง, นายสกลธี ภัททิยกุล (อิสระ) 2.3 แสนเสียง และ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง (อิสระ) อดีตผู้ว่า กทม. คนเก่า ที่ได้ 2.1 แสนเสียง โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในครั้งนี้ทั้งสิ้น 4.36 ล้านคน ผู้มาใช้สิทธิ 2.65 ล้านคน คิดเป็น 60.73 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิทั้งหมด 

อย่าเอา ม. 112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง 

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างรอการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ชัชชาติซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางลงพื้นที่ทันที รวมทั้งได้พูดคุยกับประชาชน และหารือกับว่าที่ ส.ก. ในแต่ละเขต 

ในระหว่างที่นายชัชชาติไปปรากฎตัวในงานตลาด(นัด)ราษฎร วันที่อาทิตย์ที่ผ่านมา น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ตั้งคำถามต่อนายชัชชาติ เกี่ยวกับจุดยืนการแก้ไขกฎหมายอาญา ม. 112 ซึ่งชัชชาติได้ตอบคำถามดังกล่าวว่า การแก้กฎหมายอยู่นอกเหนืออำนาจของผู้ว่าฯ และไม่ง่าย 

“ผมว่าเริ่มจากการไม่เอา 112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เริ่มตรงนี้ก่อนแล้วมันค่อย ๆ พัฒนาไป ผมก็อดทนมา 8 ปี ตั้งแต่ปฏิวัติถึงตอนนี้ เราต้องมียุทธศาสตร์ในการเดิน การแก้แค้นมันดีที่สุดเมื่อมันเย็นแล้ว อย่าเอาความโกรธ ความแค้นไปทำ แล้วเวลาก็อยู่ข้างพวกเรา 112 จะยกเลิกไม่ง่าย แต่ขออย่าเอามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง” ชัชชาติ ระบุ 

ผลการเลือกตั้งดังกล่าว ทำให้นายชัชชาติ กลายเป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกในรอบ 9 ปี หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ปลด ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ซึ่งชนะเลือกตั้งในปี 2556 ออกจากตำแหน่งในปี 2559 เนื่องจากมีข้อครหาเรื่องการทุจริต และได้แต่งตั้ง พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ ขึ้นเป็น ผู้ว่าฯ แทน 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง