ประชาชนชุมนุมไล่ พลเอก ประยุทธ์ ก่อนครบวาระ 8 ปี
2022.08.23
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ ประชาชนนับพันคนจัดการชุมนุมในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาใกล้ครบเวลา 8 ปี ออกจากตำแหน่ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางกำลังรอบทำเนียบรัฐบาลอย่างแน่นหนาเพื่อเตรียมรับมือผู้ชุมนุม
ประชาชนในนามมวลชนอิสระจัดกิจกรรม “ขีดเส้นตายไล่เผด็จการการสืบอำนาจรัฐบาลประยุทธ์” โดยได้ปักหลักบริเวณถนนราชดำเนิน ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและลานคนเมือง เพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในการขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นี้ และหากยังอยู่ในอำนาจต่อไปก็อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ได้
“จะนับถอยหลังเคาท์ดาวน์ปิดฉาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประยุทธ์จะอยู่หรือไปไม่ใช่ปัญหาแล้ว เพราะประยุทธ์ไม่มีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญที่ พลเอก ประยุทธ์ตั้งนายมีชัยมาเขียนเอง ไม่มีมาตราไหนให้ความคุ้มครอง ไม่มีมาตราไหนให้นับปี 62 หรือปี 60 มีแต่ให้นับก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เท่านั้น” นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน กล่าวต่อผู้ชุมนุมที่ลานคนเมือง
ด้าน พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ในวันนี้มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณหนึ่งพันคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เตือนเรื่องความปลอดภัย
ในวันนี้ ผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาลตามที่ขู่ไว้ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนามมากั้นพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งได้วางกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากเป็นพิเศษ ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้ยกเลิกภารกิจในช่วงบ่ายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี และเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลทันทีโดยไม่ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนที่สอบถามเกี่ยวกับการชุมนุม
“นายกรัฐมนตรีขอให้ยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ เพราะทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรีเองด้วย ดังนั้นผลจะออกมาอย่างไรจึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล นายกรัฐมนตรีไม่อาจก้าวล่วงอำนาจศาลได้” นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวแทนนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และพรรคฝ่ายค้านยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อการวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากดำรงตำแหน่งเกินวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ซึ่งครบเวลา 8 ปี และขอให้มีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ ต่อมาคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้วในวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ แต่ศาลฯ ยังไม่ได้ระบุว่าจะรับวินิจฉัยหรือไม่
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุว่า การนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ มีความเป็นไปได้ใน 3 แนวทาง คือ หนึ่ง ให้นับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี 2557 ซึ่งจะทำให้ครบวาระในวันที่ 23 สิงหาคม 2565, สอง ให้นับวาระตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ เมื่อปี 2560 ซึ่งจะทำให้ครบวาระในวันที่ 8 มิถุนายน 2570 และสาม ให้นับวาระการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งจะทำให้ครบวาระในวันที่ 5 เมษายน 2568
พล.อ. ประยุทธ์ เผชิญกับความนิยมที่ตกต่ำลง โดยเมื่อวันจันทร์นี้ เครือข่ายนักวิชาการ “เสียงประชาชน” 8 มหาวิทยาลัย ร่วมกับ 8 สื่อมวลชน เปิดผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็น 8 ปีนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลออกมาว่า มีกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ไม่ควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี จำนวน 348,511 เสียง คิดเป็น 93.17 เปอร์เซ็นต์ และเห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ควรดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี 25,552 เสียง คิดเป็น 6.83 เปอร์เซ็นต์ การสำรวจความคิดเห็นดังกล่าว ทำในระหว่างวันที่ วันที่ 20-21 สิงหาคม 2565 โดยมีตัวอย่างกว่า 3.74 แสนตัวอย่าง