ลายศิลปะบนเรือกอและ ยกระดับสู่เรือประมงพาณิชย์
2021.01.08
ปัตตานี

ศิลปะบนเรือกอและกำลังจะหายไป เพราะอาชีพประมงพื้นบ้านด้วยเรือกอและที่ลดน้อยถอยลง ขณะเดียวกันแทบจะไม่มีผู้ที่จะสืบทอดศิลปะนี้อีกต่อไป แต่นายสุรัตน์ รัตนศิธร เจ้าของเรือประมง เรือ น.ลาภประเสริฐ ในปัตตานี และนายซามาน อูมา (แบมัง) ช่างเขียนลายเรือกอและ ชาวอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี มีแผนการร่วมมือกันครั้งใหญ่เพื่อรักษาศิลปะอันทรงคุณค่านี้ ด้วยการเขียนลายลงบนเก๋งเรือประมงพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
ครั้งหนึ่ง นายมะกะตา สะแม ประธานประมงพื้นบ้านอำเภอเมือง ปัตตานี กล่าวว่า ในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส มีเรือกอและ รวมทั้งเรือท้ายตัด (มีลักษณะแบบเดียวกับเรือกอและ แต่ไม่มีหัว-หาง ท่อนท้ายตัดป้าน เพื่อให้สะดวกเมื่อติดตั้งเครื่องยนต์หางยาว) อยู่ราวหนึ่งพันลำ แต่ออกทะเลจริงเพียงราว 40 เปอร์เซ็น
เรือกอและ ที่มีการระบายสีสดใสด้วยลวดลายไทย มลายู ชวา และอาจผสมลวดลายจีน อย่างสวยงามเป็นเอกลักษณ์ที่พบในภาคใต้ตอนล่างเท่านั้น
“สิ่งที่น่าเศร้า ตอนนี้แบมังก็แก่แล้ว ความแก่จะพรากแบมังไปเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้เลย ก็ได้แค่หวังว่าคนรุ่นหลังจะสืบทอด แต่ทุกวันนี้ก็ไม่มีคนรุ่นใหม่มาเรียนรู้แล้ว เทคโนโลยีพรากชีวิตของเด็ก ๆ ในชุมชนไปหมด แม้กระทั่งลูกเราเองยังไม่ได้ให้ความสำคัญหรือสนใจจะฝึกหัด” นายซามาน อูมา (หรือแบมัง) ช่างเขียนลายเรือกอและ นักปราชญ์แห่งศิลปะลังกาสุกะ ชาวอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
แต่โชคดีที่ยังมี คุณสุรัตน์ รัตนศิธร เถ้าแก่เรือประมงในปัตตานีคนหนึ่ง ที่ยังเห็นคุณค่าสิ่งเหล่านี้
คุณสุรัตน์ เจ้าของเรือประมง เรือ น.ลาภประเสริฐ ได้จ้างแบมังให้เขียนลวดลายบนกระโจมเรือและส่วนอื่น ๆ บนเรือขนาดสามสิบตันกรอส
“ปัจจุบันนี้ ผมก็พยายามที่จะถ่ายทอดในส่วนของศิลปะในส่วนของลวดลายต่าง ๆ ซึ่งค่อนข้างที่จะหาดูได้ยากแล้ว เพื่อที่จะให้ได้เกิดการถ่ายทอดศิลปะในท้องถิ่นให้คนทั่ว ๆ ไปได้เห็น ในเรื่องของความสวยงามและความอลังการ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในเรื่องของศิลปะ ซึ่งจะไม่เหมือนในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะหาดูได้ นอกจากในส่วนของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” คุณสุรัตน์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“เกิดจากความผูกพันธ์ สืบเนื่องจากคุณแม่สร้างฐานะจากอาชีพนี้ และเราได้เจริญเติบโตในสังคมพหุวัฒนธรรมในส่วนของจังหวัดปัตตานี ที่จะมีส่วนของความเป็นคนมุสลิม คนจีน หรือคนไทยพุทธ เราอยู่ร่วมกันด้วยความรักความสามัคคี” คุณสุรัตน์ กล่าว
คุณสุรัตน์ กล่าวว่า ตอนนี้ ได้มอบหมายให้แบมัง วาดลวดลายในส่วนของหลาย ๆ ชิ้นงาน เช่น ส่วนของข้างเก๋งเรือ คือที่พักอาศัยบริเวณข้างบนของเรือหรือกระโจม ในส่วนของพื้นที่พัก หรือเป็นพื้นที่ที่เก็บอุปกรณ์ในส่วนของหาปลา ซึ่งเป็นบริเวณที่สูงที่สุดหรือไม่ได้เป็นส่วนใต้ท้องเรือ
“ปัจจุบันนี้ ที่ทำก็จะเป็นส่วนของกระโจมเรือประมงตัวนี้ เรายังไม่เคยมีใครที่จะมาถ่ายทอดส่วนของกระโจม การเขียนลายต่าง ๆ จะให้เป็นหน้าที่ของช่าง เพราะผมเองก็ไม่ใช่เป็นคนเก่งศิลปะ” คุณสุรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม
แบมัง ขณะเขียนลวดลาย ด้านข้างกระโจมเรือประมง วันที่ 30 ธันวาคม 2563 (เบนาร์นิวส์)
ด้านแบมัง กล่าวว่า ตนเองเริ่มหัดเขียนลวดลายบนเรือกอและมาตั้งแต่อายุ 20 ปี ด้วยความที่ตนเองเกิดมาในครอบครัวที่มีวิถีชีวิตชาวประมงที่ผูกพันธ์กับคลื่นลม ทะเล และเรือกอและ จึงเกิดการเรียนรู้วิถีต่าง ๆ รวมทั้งได้ซึมซับศิลปะแห่งลวดลายบนท้องเรือกอและไปด้วย
กับงานบนเรือประมงพาณิชย์นี้ แบมังจะเขียนศิลปะจากลายไทย ผสมผสานกับวัฒนธรรมจีน มลายู ตกผลึกมาเป็นลายอัตลักษณ์ประจำเรือ นอกจากนี้ ยังมีลายที่มาจากจินตนาการภาพสัตว์น้ำ ภาพวิถีชีวิต ซึ่งก็เกิดขึ้นตามแต่ช่างวาดลายเรือจะรังสรรค์ออกมาอีกด้วย โดยใช้เวลาลำละ 27 วัน ซึ่งเสร็จเรียบร้อยไปจำนวนหนึ่งแล้ว
“การที่ได้มีโอกาสวาดแทนที่บนเรือพาณิชย์ ก็ถือว่าเป็นอะไรที่ดีมาก ศิลปะแห่งลวดลายจะได้ขยายพื้นที่ และร่วมกันอนุรักษ์ ก่อนที่จะไปหาดูได้แค่ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งถ้าเด็ก ๆ นักเรียนอยากเรียน แบมังก็มีเวลาให้ อยากบอกคนรุ่นใหม่ว่า จริง ๆ แล้ว การเขียนลวดลายไม่ยากเลย ถ้าดูภาพรวมเหมือนจะยาก เพราะลายเส้นมันเยอะจนมั่วไปหมด” แบมังกล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ zaman ouma ซึ่งยังมีผลงานศิลปะบนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ เสื้อผ้า ร่ม รองเท้า ของที่ระลึก และเรือกอและจำลอง อีกด้วย
แบมัง เขียนศิลปะลวดลายไทย ผสมผสานกับวัฒนธรรมจีน มลายู ซึ่งเป็นลายอัตลักษณ์ประจำเรือกอและ วันที่ 30 ธันวาคม 2563 (เบนาร์นิวส์)