ชาวเมียนมา-ไทยประท้วงรัฐประหาร หน้าสถานทูตเมียนมาในไทย

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.02.01
กรุงเทพฯ
ชาวเมียนมา-ไทยประท้วงรัฐประหาร หน้าสถานทูตเมียนมาในไทย ชาวเมียนมาชุมนุม ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย หลังเกิดรัฐประหารและจับกุมตัวนางอองซาน ซูจี วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
จิตติมา หลักบุญ/เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์นี้ ชาวเมียนมาร่วม 100 คน รวมที่ตัวหน้าสถานทูตเอกอัครราชทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย เพื่อคัดค้านการทำรัฐประหารในประเทศเมียนมา รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และนักการเมืองรายอื่นซึ่งถูกทหารควบคุมตัว ในขณะที่เหล่าผู้นำประเทศอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ โดยไม่มีการประณามการทำรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาแต่อย่างใด และการจับกุมนางอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมา ถือว่าเป็นการโจมตีระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชีย

ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาพากันออกแถลงการณ์อย่างไม่มีนัยยะสำคัญ ต่อการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันจันทร์ โดยไม่มีชาติใดออกมากล่าวประณามการยึดอำนาจของกองทัพทหารเมียนมา นับว่าเป็นการสึกกร่อนของระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาคอย่างยิ่ง

ประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้านพรมแดนติดกับเมียนมา ก็มีประวัติในการทำรัฐประหารเพื่อโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย  ดังนั้น จึงแทบจะไม่มีความเห็นในการตอบโต้การกระทำของกองทัพเมียนมาอย่างเป็นทางการ

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยแก่สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า การยึดอำนาจในประเทศเมียนมาเป็นกิจการภายใน รัฐบาลไทยจะไม่เข้าไปก้าวก่าย ขณะเดียวกันยืนยันว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนักการเมืองเมียนมาเรื่องการขอลี้ภัยมายังประเทศไทย

“(คิดเห็นอย่างไรกับความวุ่นวายในพม่า-นักข่าว) เรื่องของเขา เป็นเรื่องภายในเขา (ชายแดนต้องระวังไหม-นักข่าว) เรื่องโควิดอย่างเดียว” พล.อ.ประวิตร กล่าว

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ทำการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตย โดยล่าสุด แกนนำเยาวชนส่วนใหญ่ ถูกแจ้งข้อหาคดีอาญาละเมิดกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ หรือมาตรา 112

ในช่วงเช้าวันนี้ สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นของประเทศเมียนมารายงานว่า กองทัพเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี และควบคุมตัว นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ, นายวิน มินต์ ประธานาธิบดี และสมาชิกพรรคอีกหลายคน โดยแต่งตั้งนายมิน ส่วย รองประธานาธิบดีให้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นการชั่วคราว ทั้งได้ตัดระบบสื่อสาร ยุติการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์บางช่อง โดยกองทัพเมียนมาอ้างว่า การดำเนินการครั้งนี้เพื่อตอบโต้การทุจริตเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) นำโดยนางอองซาน ซูจี เป็นฝ่ายชนะ โดยรัฐบาลยืนยันว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ และจัดการเลือกตั้งภายใน 1 ปี

โดยในการชุมนุม ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ครั้งนี้ มีแกนนำกลุ่มราษฎรร่วมชุมนุมด้วย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้เข้าสลายการชุมนุม และควบคุมตัวผู้ชุมนุม 3 คน โดยระหว่างนั้นมีการกระทบกระทั่งจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บร่วมสิบคน

การชุมนุมเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 15.30 น. โดยชาวเมียนมาและชาวไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชุมนุมจากกลุ่มราษฎรรวมกว่า 100 คน เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งนี้ ชาวเมียนมาส่วนใหญ่ใส่เสื้อสีแดง ถือป้ายประท้วง ธงชาติ รวมถึงรูปของนางอองซาน ซูจี มีการตะโกนเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี และคืนประชาธิปไตยให้กับชาวเมียนมา

“ขอให้ทหารพม่าปล่อยประชาชนปล่อยคนที่จับไป อย่าทำร้ายประชาชนเลย เกิดมาได้เลือกตั้งแค่ 2 ครั้ง ไม่เคยได้เลือกใช้ชีวิตของตัวเองเลย ขอให้ทุกคนออกมาสู้ ไม่อยากให้มีรัฐประหารอีก อยากให้ทหารเห็นใจประชาชนบ้าง อยากให้ทหารฟังเสียงประชาชนบ้าง” หญิงชาวเมียนมา รายหนึ่งกล่าวแก่สื่อมวลชน

“ช่วยประเทศเราด้วย เขาจับผู้นำของเราไป ผู้นำคนเดียวของเราคือ อองซาน ซูจี พวกเขาจับผู้นำในตอนเช้า ตัดการสื่อสารและโทรศัพท์ เราติดต่อใครไม่ได้ พวกเรามาเรียกร้องเพื่อประเทศของเรา เรายืนเคียงข้างอองซาน ซูจี ช่วยประเทศเราด้วย” ผู้ชุมนุมอีกราย ตะโกนระหว่างการชุมนุม

ขณะเดียวกัน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำคณะราษฎร ได้ร่วมปราศรัยในการชุมนุมครั้งนี้ โดยระบุว่า ไม่ต้องการให้ประเทศเมียนมาต้องพบกับสถานการณ์ที่เหมือนกับประเทศไทย คือ การบริหารประเทศโดยรัฐบาลทหาร

“รัฐประหารเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกลืนกินความเจริญก้าวหน้าของทุกชนชาติ…  ไม่ว่าประเทศใดหากมีเผด็จการทหารเข้าปกครอง หากมีทหารยึดอำนาจ ล้มล้างประชาธิปไตย ประเทศนั้นก็จะอยู่ในวังวนอุบาทว์ของเผด็จการทหารทุกประเทศไป เราไม่ต้องการให้พี่น้องไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใดต้องเผชิญกับสิ่งที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ เราต้องการประชาธิปไตยสำหรับทุกประเทศ ทุกชนชาติ ประชาชนไม่ว่าจะเป็นประชาชนของประเทศไหน ควรจะได้เป็นเจ้าของประเทศของตัวเอง” นายพริษฐ์ กล่าว

หลังจากที่ผู้ชุมนุมรวมตัวกันได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ในเวลาประมาณ 16.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมภายใน 30 นาที เนื่องจากการชุมนุมครั้งนี้เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ อย่างไรก็ตาม ในเวลาประมาณ 17.00 น. การชุมนุมยังไม่ยุติ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนหลายสิบนายพร้อมด้วยโล่และกระบองจึงเคลื่อนแถวเข้าหาผู้ชุมนุม และระหว่างนั้นมีเสียงดังคล้ายระเบิดดังขึ้นหลายครั้ง พร้อมกับมีกลุ่มควันในบริเวณที่ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมไม่ยอมยุติการชุมนุมตามที่เจ้าหน้าที่ประกาศ แต่ล่าถอยไปตามถนน มีการขว้างปาก้อนหินและไม้ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าประชิดตัวและควบคุมฝ่ายผู้ชุมนุมชาวไทยได้ 3 คน และถูกพาไปยัง บก.ตชด. 1 จังหวัดปทุมธานี ตามการรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กระทั่งเวลาประมาณ 18.00 น. การชุมนุมยุติ โดยสรุปมีผู้ชุมนุม และฝ่ายตำรวจได้ระบาดเจ็บกว่า 10 ราย

“เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้แก๊สน้ำตา เราใช้ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเพื่อรักษาความสงบ... เราจับผู้ก่อความวุ่นวายไปสามสี่คน ส่วนเจ้าหน้าที่บาดเจ็บราว 9 นาย เพราะโดนขว้างด้วยก้อนหิน” พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก สตช. กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวหลังเกิดเหตุ

ไทยหวังเมียนมากลับสู่สันติโดยเร็ว

นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลไทยกำลังติดตามสถานการณ์ในประเทศเมียนมาอย่างใกล้ชิด และพร้อมให้ความช่วยเหลือคนไทยที่อาศัยอยู่ในเมียนมา

“เมียนมาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของไทยและเป็นประเทศสมาชิกที่สำคัญของอาเซียน ไทยจึงหวังที่จะเห็นสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา และหวังว่า สถานการณ์ในปัจจุบันจะได้รับการแก้ไขอย่างสันติ และกลับคืนสู่ปกติในเร็ววัน เพื่อประโยชน์ของประชาชนเมียนมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ออกประกาศแจ้งคนไทยในเมียนมารับฟังข่าวสารจากสถานเอกอัครราชทูตฯ อย่างใกล้ชิด และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการเมียนมา” นายธานี กล่าว

นักวิชาการชี้แรงงานเมียนมาจะทะลักเข้าไทยหลังรัฐประหาร

นายซาไล บาวี นักวิชาการชาวเมียนมา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การยึดอำนาจในประเทศเมียนมาจะทำให้เศรษฐกิจเมียนมาซบเซา และกระตุ้นให้แรงงานอพยพมาหารายได้ในประเทศไทย

“เรามีประสบการณ์มายาวนานว่าการรัฐประหาร ไม่ได้นำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ดีและมั่นคง การที่กองทัพอ้างว่าจะเข้ามาปฏิรูปเศรษฐกิจจึงเป็นข้ออ้างที่พร่ำเพรื่อ จนกลายเป็นเรื่องตลกไปแล้ว สาเหตุหลักๆ ที่พรรคของนางอองซาน ถูกยึดอำนาจในครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าพรรคยูเอสดีพีซึ่งเป็นพรรคทหารได้คะแนนน้อยมากๆ ความนิยมทางสังคมก็ลดน้อยลงตามไปด้วย การต่อสู้ตามกติกาจึงยากมาก การยึดอำนาจกลับมาไว้ในมือในตอนนี้จึงสมเหตุสมผล เพราะหากช้ากว่านี้ รัฐบาลพลเรือนจะยิ่งมั่นคงและได้รับความนิยมมากขึ้น” นายซาไล กล่าว

“ทั้งสื่อไทยและสื่อพม่าอยากเห็นท่าที่ของรัฐบาลไทยต่อการยึดอำนาจครั้งนี้… การชุมนุมหน้าสถานฑูตฯ เข้าใจว่ามีหลากหลายกลุ่มมาก ทั้งชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และกลุ่มคนพม่าที่สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี นอกจากนี้ยังมีนักกิจกรรมชาวไทยร่วมด้วย เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพพม่า ไม่ใช่แค่เฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ชาวพม่าในญี่ปุ่นก็ทำแบบนี้ด้วย” นายซาไล ระบุ

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง