โพลเผยประชาชนอยากเห็น รัฐเร่งสอบสวนเหตุไฟไหม้รถทัศนศึกษา

ผู้เชี่ยวชาญแนะ วางมาตรการกันเกิดเหตุซ้ำ-รัฐสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการ
รุจน์ ชื่นบาน
2024.10.07
กรุงเทพฯ
โพลเผยประชาชนอยากเห็น รัฐเร่งสอบสวนเหตุไฟไหม้รถทัศนศึกษา เจ้าหน้าที่กู้ภัยทำงานที่จุดเกิดเหตุรถบัสที่เกิดเพลิงไหม้ ในเขตชานเมืองกรุงเทพฯ วันที่ 1 ตุลาคม 2567
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

กรณีรถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี หลังประสบอุบัติเหตุไฟไหม้ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย สัปดาห์ก่อน แม้รัฐบาลระบุว่าจะเยียวยาครอบครัวเหยื่อในเหตุการณ์ดังกล่าว และสั่งให้ย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ประชาชนยังต้องการให้รัฐเร่งสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญแนะให้มีการตั้งกรรมการกลางถอดบทเรียน และวางมาตรการความปลอดภัย และรัฐบาลควรช่วยสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการ

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,006 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคม 2567 เกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า ตัวอย่างเกือบทั้งหมดต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาสาเหตุของกรณีนี้

“98% ต้องการให้ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาสาเหตุของไฟไหม้รถบัส 99.2% ระบุว่าต้องการให้ปฏิรูปความปลอดภัยทั้งระบบครอบคลุมทุกกลุ่มไม่ใช่เฉพาะนักเรียน” ซุปเปอร์โพล เปิดเผยข้อมูล

ซุปเปอร์โพล ได้สอบถามความเห็นเกี่ยวกับความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ ต่อความปลอดภัยของรถทัศนศึกษา ซึ่งตัวอย่างเห็นว่า หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุด 81.4% คือ  เจ้าของรถบัสทัศนศึกษา/บริษัทบริการขนส่ง รองลงมา 79.9% โรงเรียนที่จัดทัศนศึกษา และ 67.9% กรมการขนส่งทางบก

หลังเกิดเหตุ แม้รัฐบาลจะแสดงความเสียใจ และยืนยันที่จะร่วมรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผลสำรวจที่ออกมายืนยันว่า ประชาชนต้องการมากกว่าที่รัฐได้ดำเนินการไป

“ในฐานะแม่ ดิฉันขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต… รัฐบาลจะดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตค่ะ” น.ส. แพทองธาร ชินวัตร กล่าวในวันเกิดเหตุ 

ล้อมคอกมาตรฐานรถบัส

ประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก คือ มาตรฐานของตัวรถ เนื่องจากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ระบุว่า รถคันที่เกิดเหตุ ยี่ห้อรถเดิมคือ อีซูซุ แต่ดัดแปลงมาเป็นยี่ห้อเบนซ์ โดยใช้เครื่องยนต์ยี่ห้อเบนซ์ 8 สูบ 280 แรงม้า น้ำหนักรถ 14,300 กิโลกรัม จำนวนผู้โดยสาร 41 ที่นั่ง ถูกจดทะเบียนครั้งแรกตั้งแต่ปี 2513 หรือ 54 ปีที่แล้ว และที่สำคัญมีการติดตั้งถังแก๊สเชื้อเพลิงมากเกินที่ขออนุญาต

“จากการตรวจสอบเบื้องต้นรถบัสคันเกิดเหตุ พบว่ามีถังแก๊สจำนวน 11 ถัง จากที่มีการขออนุญาตติดตั้งไว้แค่ 6 ถัง” นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดี ขบ. กล่าว

แต่กฎหมายระบุว่า รถขนาดบรรทุก 15,000 กิโลกรัม 40 ที่นั่ง สำหรับ รถ Natural Gas for Vehicles (NGV) สามารถติดตั้งถังแก๊ส Compressed Natural Gas (CNG) ได้ไม่เกิน 6 ถัง 

“รถคันนี้ ติดถังแก๊สไปมากถึง 11 ถัง ซึ่ง 1 ถัง มีน้ำหนัก 175 กิโลกรัม ถ้าคิดเฉพาะน้ำหนักจะมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ไปถึง 875 กิโลกรัม” ดร. ศราวุธ เลิศพลังสันติ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวต่อสื่อมวลชน

ประเด็นที่เกิดขึ้น ทำให้ ขบ. ถูกตั้งคำถามเรื่องการตรวจสภาพรถ และมาตรการรักษาความปลอดภัย นายจิรุตม์ อธิบดี ขบ. ได้เปิดเผยว่า ได้ชี้แจงต่อ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร (สส.) ว่า ขบ. จะมีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวในอนาคต

“ทางกรมจะเรียกรถโดยสารสาธารณะที่ใช้ CNG ทั้งหมด 13,426 คัน เข้ารับการตรวจสภาพให้แล้วเสร็จใน 60 วัน ถ้าไม่ผ่านจะไม่ให้ใช้ กระทรวงคมนาคมจะปรับปรุงกฎหมายยกระดับมาตรฐานของผู้ประกอบการขนส่ง เรื่องการให้บริการ การตรวจสภาพรถต่าง ๆ ก็จะทบทวนกฎหมายที่มีอยู่ ก่อนการทัศนศึกษาก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจก่อนเดินทาง และให้รถเช่าเหมาไม่ประจำทางมีพนักงานประจำรถ ที่ผ่านการอบรมเผชิญเหตุ” นายจิรุตม์ กล่าว

AP24275310812786.jpg
เจ้าหน้าที่ชุดพิสูจน์หลักฐานตำรวจตรวจสอบรถบัสที่เกิดเพลิงไหม้ บนถนนวิภาวดีรังสิต ชานเมืองกรุงเทพฯ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

ต่อประเด็นการรับมือกับปัญหา นายปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ อดีตนายกสภาวิศวกร ชี้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นมีผลกระทบอย่างมากต่อประเทศ เนื่องจากอาจจะกระทบความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงควรมีหน่วยงานกลางที่เข้ามาถอดบนเรียนกรณีที่เกิดขึ้น และวางมาตรการความปลอดภัยร่วมกับรัฐ

“สนับสนุนให้มีหน่วยงานที่เป็นกลางและเป็นอิสระในการถอดบทเรียน เพื่อความปลอดภัยในระยะยาว ต้องดำเนินการทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับบุคลากร ในการสาธิตขั้นตอนความปลอดภัย และอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ ต้องครบถ้วน และมีหน่วยงานกลางที่เป็นอิสระใช้หลักวิชาการอย่างจริงจังในการขับเคลื่อน รวมถึงรถจะต้องมีสภาพดี และปลอดภัย” นายปิยะบุตร กล่าว

เหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 12.20 น. ของวันที่ 1 ตุลาคม 2567 บนถนนวิภาวดีขาเข้า หน้าห้างสรรพสินค้าเซียร์รังสิต โดยรถบัสคันนี้มีผู้โดยสาร 44 คน เป็นครู 6 คน และนักเรียน 38 คน เป็นหนึ่งในสามคันที่นำนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ประถม และมัธยมต้น จากโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม มาทัศนศึกษา โดยขณะเกิดเหตุ ผู้โดยสารภายในรถไม่สามารถเปิดประตูฉุกเฉินท้ายรถได้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

เบนาร์นิวส์จัดทำ วิดีโอคลิป สังเกตระบบความปลอดภัยบนรถโดยสาร สั้น ๆ บอกข้อสำคัญของการใช้รถโดยสารสาธารณะคือ ควรมีสติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และใช้สายตามองหาระบบความปลอดภัยบนรถโดยสาร

ในการเพิ่มมาตรการความปลอดภัย ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการ วิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า หากมีมาตรการความปลอดภัยใหม่ รัฐควรช่วยเหลือผู้ประกอบการในการปรับตัวตามมาตรการด้วย

“ในการให้ผู้ประกอบการ ปรับปรุงมาตรฐานรถให้ได้มาตรฐานดีขึ้น ตรงนี้ค่อนข้างสำคัญ เราควรไม่สามารถปล่อยให้ผู้ประกอบการดำเนินการเองได้เพราะต้นทุนค่อนข้างสูง รัฐอาจจะต้องมีโปรแกรมช่วยปรับปรุงมาตรฐานรถให้ดีมากขึ้น มีมาตรการช่วยเหลือ เช่น มีเงินโดยตรง หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปให้ผู้ประกอบการ ในการเปลี่ยนปรับปรุงมาตรฐานรถ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการใหม่ของ กรมขนส่งทางบก” ดร. สุเมธ กล่าว

ในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัว นายสมาน (สงวนนามสกุล) อายุ 48 ปี ซึ่งเป็นคนขับรถบัสคันดังกล่าว และเบื้องต้นแจ้งสองข้อกล่าวหาประกอบด้วย 1. ขับรถโดยประมาททำให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และ 2. ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล แล้วไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือ ไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงาน เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย 

ส่วนสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ และการใช้รถบัสที่ไม่ได้มาตรฐาน อธิบดี ขบ. ยืนยันว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

“มันเกิดประกายไฟได้ยังไง แก๊สรั่วตรงไหน ขอให้อยู่ในสำนวนของพนักงานสอบสวนที่ไปตรวจร่วมกัน เพราะเดี๋ยวเร่งรัดสรุปไปมันจะไม่ตรง แต่ที่แน่ ๆ มันต้องมีประกายไฟ มีการตั้งกรรมการสอบสวน เจ้าหน้าที่กรมก็เป็นคนตรวจสอบครั้งสุดท้ายว่า ปฏิบัติตามระเบียบหรือไม่ กรมจะต้องสอบสวนระเบียบวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ใครหละหลวมไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย” นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี ขบ. กล่าว

นอกจากนี้อธิบดี ขบ. กล่าวได้ว่าได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยให้ข้าราชการ จำนวน 2 ราย ตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย (นายช่างตรวจสภาพรถชำนาญงาน) และนายช่างตรวจสภาพรถชำนาญงาน ฝ่ายตรวจสภาพรถ สำนักงานขนส่งจังหวัดสิงห์บุรี ไปช่วยราชการ ณ กรมการขนส่งทางบก

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง