กัญชากับปัญหาหลังปลดล็อกมาหนึ่งเดือน
2022.07.06
กรุงเทพฯ

กระทรวงสาธารณสุขถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ มีผลเป็นทางการเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2565 นี้ โดยไม่ได้มีกฎหมายควบคุมการสูบและการผสมอาหารเป็นการเฉพาะให้ชัดเจน ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาตามมาอย่างกว้างขวาง ทำให้วงการแพทย์และสาธารณชนเรียกร้องให้รัฐควบคุมการบริโภคกัญชาโดยไว
น.ส. น้ำหวาน (สงวนนามสกุลเพื่อความเป็นส่วนตัว) เปิดเผยว่า ตนทดลองใช้คุกกี้กัญชาเพื่อให้หลับง่าย แต่หลังทานไปได้ราว 1 ชั่วโมง กลับมีอาการผิดปกติ จนคนในครอบครัวต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
“มีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าเดี๋ยวตัวเองจะต้องตายแน่ ๆ นึกถึงแต่เหตุการณ์ที่แย่ตลอดเวลา เหมือนสมองมันพาให้คิดไปแต่เรื่องไม่ดี และบังคับไม่ได้ เราคลื่นไส้ ช็อก ขาดสติ ตัวสั่น หลอน บังคับร่างกายอะไรไม่ได้เลย ขยับตัวไม่ได้ พูดก็พูดไม่ออก เราร้องไห้หนัก และเวลาจะพูดอะไรก็เหมือนคนไร้สติ” น.ส. น้ำหวาน อายุ 34 ปี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า นับตั้งแต่ปลดล็อกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 มีผู้ใช้กัญชา 31 ราย ได้รับผลกระทบจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และในนั้นมีถึง 86 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการ
ขณะที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มีเด็กที่ป่วยจากการรับกัญชาทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจแล้ว 9 ราย ระหว่างวันที่ 21-30 มิถุนายน 2565 โดยรุนแรงที่สุดคือ พบเด็กชายอายุ 15 ปี 6 เดือน ในจังหวัดเชียงราย
“มีอาการหูแว่ว ถือมีดวิ่งไล่แทงชาวบ้าน พ่อกับชาวบ้านช่วยกันจับส่งโรงพยาบาล ผลตรวจพบสารกัญชาในปัสสาวะ จึงรับไว้ในโรงพยาบาล” หน่วยงานทั้งสองระบุ
ปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย ทำให้หลายภาคส่วนวิพากษ์-วิจารณ์ถึงการที่รัฐบาลรีบปลดล็อกกัญชา ก่อนการออกกฎหมายควบคุมการเสพเพื่อสันทนาการและการผสมอาหารให้ชัดเจน
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เสนอมาตรการควบคุมกัญชา ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุป 4 ข้อประกอบด้วย 1. กำหนดการใช้กัญชาเฉพาะด้านการแพทย์ และมีแพทย์ดูแลใกล้ชิด 2. ห้ามใช้กัญชาและสารสกัด เป็นส่วนประกอบในอาหาร, ขนม และเครื่องดื่มทุกชนิด 3. ระหว่างรอกฎหมายเฉพาะต้องมีมาตรการควบคุมการผสมกัญชาในอาหาร และป้องกันการเข้าถึงของเด็ก สตรีมีครรภ์ และหญิงที่ให้นมบุตร, ห้ามโฆษณาอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา, ให้ข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงโทษของกัญชา และ 4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรายงานผลกระทบที่เกิดจากกัญชาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้มีเสียงวิจารณ์อย่างหนัก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังคงยืนยันว่า กระทรวงฯ ผลักดันกัญชาให้ถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประเทศ
“กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยสนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการ โดยปราศจากการยับยั้งชั่งใจ ไม่เคยสนับสนุนการใช้กัญชาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อสุขภาพ ไม่เคยสนับสนุนให้การใช้โดยที่ให้ไปออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมากกว่าการใช้เพื่อรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย รักษาความเครียด รักษาอาการนอนไม่หลับ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคน” นายอนุทิน กล่าวในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้
“คนที่จะต้องการทำสิ่งที่ดีให้เป็นโทษ เป็นเวรเป็นกรรมของพวกเขา ช่วยไม่ได้จริง ๆ เพราะกระทรวงสาธารณสุข รัฐบาลไทย มีหน้าที่ที่จะส่งเสริมคนดี ส่งเสริมคนที่ตั้งใจหาโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัว ให้ได้ประสบผลสำเร็จตามเจตนารมย์ของเขา” นายอนุทิน กล่าวโทษคนที่ใช้กัญชาในทางไม่เหมาะสม
นายอนุทิน เชื่อว่ากัญชาจะเป็นพืชที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรมีรายได้อีกด้วย ซึ่งในปี 2564 ตลาดกัญชาในไทยมีมูลค่า 7,200 ล้านบาท ส่วนตลาดโลกจะมีมูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท ในปี 2567
ก่อนหน้านี้ กัญชานับเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งหากครอบครองหรือเสพจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมา วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลได้แก้ไข พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ โดยถอดกัญชา ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 และวันที่ 5 มกราคม 2565 คณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ ก็มีมติให้ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดโดยสิ้นเชิง และให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน 2565 (สารสกัดจากกัญชา-กัญชง ซึ่งมีสาร THC มากกว่า 0.2% ยังผิดกฎหมาย)
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้ออกกฎหมาย คือ พ.ร.บ. กัญชง-กัญชา มาควบคุมการใช้กัญชาให้ทันท่วงที โดยปัจจุบัน พ.ร.บ. กัญชง-กัญชา ผ่านความเห็นชอบของ สภาผู้แทนราษฎรวาระแรก และอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ โดยกฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาโดยสรุป คือ 1. จะมีคณะกรรมการเฉพาะคอยกำกับดูแลการใช้งาน 2. การผลิต นำเข้า และส่งออก หรือขายต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้มีอำนาจ และมีโทษทางอาญาหากฝ่าฝืน 3. การปลูกต้องมีการขอจดแจ้ง 4. ต้องมีการกำหนดค่าธรรมเนียมการขออนุญาต 5. ห้ามขายให้กับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และให้นมบุตร ยกเว้น มีใบอนุญาตจากแพทย์ 6. เจ้าพนักงานมีอำนาจยึด และตรวจสอบสถานที่หากต้องสงสัยว่ามีการทำผิดเกี่ยวกับกัญชา-กัญชงได้ และ 7. บทเฉพาะกาล 5 ปี หลังจากกฎหมายบังคับใช้ ให้นำเข้ากัญชา-กัญชา ได้เฉพาะเพื่อการแพทย์ ประโยชน์ทางราชการ และการศึกษาเท่านั้น
ในระหว่างนี้ น.ส. น้ำหวาน ที่พบเจอกับประสบการณ์เลวร้ายกล่าวเตือนผู้ใช้กัญชาว่าต้องมีความระมัดระวัง
“คนที่จะลองใช้กัญชา สิ่งที่ต้องระวังที่สุดคือการแพ้ หรือ Overdose (ใช้ในปริมาณมากเกินไป) ควรเริ่มจากใช้ปริมาณน้อย ๆ ห้ามประมาท เพราะแต่ละคนมีปฏิกริยาตอบสนองไม่เหมือนกัน สำหรับเรายังเชื่อว่ากัญชาควรถูกกฎหมาย แต่รัฐควรให้ความรู้กับคนทั่วไปถึงผลข้างเคียงของกัญชา แต่ตัวเราเองเราเข็ดแล้ว ไม่เอาแล้ว กลัว” น.ส. น้ำหวาน กล่าว
กัญชาเสรีกับข้อดี-ข้อเสีย
หลังการปลดล็อกกัญชา ทำให้มีการขายดอกกัญชา ต้นกัญชา ใบกัญชา ตามร้าน และในที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาวางขายทั่วไป แม้กระทั่งมีการขายกัญชาผสมบุหรี่ในที่สาธารณะ ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายที่สามารถเอาผิดการกระทำลักษณะดังกล่าวได้โดยตรง
นายต่อ (สงวนนามสกุล) พนักงานรัฐวิสาหกิจ อายุ 38 ปี จากเชียงราย ในฐานะผู้ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า เห็นด้วยกับการออกกฎหมายเพื่อควบคุมไม่ให้เยาวชนสามารถเข้าถึงกัญชาได้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการนำกัญชากลับไปขึ้นบัญชียาเสพติด
“ผมเชื่อว่าปลดล็อกเป็นเรื่องที่ดี แม้จะทำให้กัญชาในตลาดขึ้นราคา แต่การที่มีภาพลักษณ์แย่ ๆ ของคนใช้กัญชาออกมา เป็นพฤติกรรมแย่ ๆ เฉพาะบุคคล และน่าจะเกิดจากการใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่น สายเขียว คนใช้กัญชาเพื่อสันทนาการจริง ๆ เขาจะไม่ใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่น หรือแม้แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งที่สายเขียวต้องการน่าจะเป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับพวกเขา” นายต่อ ระบุ
ขณะที่ นพ. สมนึก ศิริพานทอง ประธานสมาคมเซลล์บำบัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคด้วยกัญชา กล่าวว่า ในฐานะแพทย์เห็นด้วยกับการถอดกัญชาจากบัญชียาเสพติด แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกติกาควบคุมสำหรับผู้ใช้
“ตอนนี้ เด็กเล็ก ๆ ก็เข้าถึงกัญชาได้ ไม่มีที่ไหนในโลกเป็นแบบนี้ รัฐบาลควรรีบออกกฎหมายควบคุม การขายกัญชาควรให้ผู้มีใบอนุญาต แพทย์ หรือเภสัชกรเป็นคนสั่งจ่าย ไม่ใช่ประชาชนสามารถขายกันเองริมถนน หรือหากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะสูบสันทนาการก็ควรจำกัดพื้นที่ เป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ขายใกล้โรงเรียน การเอากัญชาขึ้นมาบนดินให้ถูกกฎหมายย่อมดีกว่าการขายกันใต้ดินมั่ว ๆ แล้วมีสารปนเปื้อน ปัญหาต่าง ๆ นี้ หมอหรือคนในกระทรวงต้องกล้าพูด” นพ. สมนึก กล่าว
ด้านชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า รัฐบาลเปิดเสรีกัญชาเพื่อผลประโยชน์ของนายทุน
“อ้างกัญชาทางการแพทย์เพื่อให้ชาวบ้านได้ปลูกกันบ้านละ 6 ต้น ชาวบ้านดีใจได้ปลูก 6 ต้น แต่แท้จริงก็เป็นการปลดล็อกเพื่อให้คนใหญ่คนมีทุนปลูกกันเป็นฟาร์มต่างหาก กะจะรวย แต่ไม่สนใจผลกระทบต่อสังคม นี่คือกลเกมส์แห่งกัญชาเสรี ดังนั้น จึงขอเชิญชวนผู้คนในสังคมไทย เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายกัญชาเสรี ให้กัญชากลับเป็นยาเสพติด และให้ใช้สำหรับกัญชาทางการแพทย์เท่านั้น” ชมรมแพทย์ชนบท ระบุผ่านเฟซบุ๊กเพจ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2565