กัญชาเสรี : สายเขียวดีใจ แต่รัฐยังไม่สนับสนุนให้สูบในที่สาธารณะ
2022.06.09
กรุงเทพฯ

ในที่สุดการรอคอยของ “สายเขียว” หรือผู้นิยมชมชอบกัญชาก็สิ้นสุดลง เพราะรัฐบาลได้ปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบในกลิ่นรสของมันสามารถพกพาหรือสูบได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะถูกจับกุมเหมือนเช่นในอดีต
แต่สิ่งที่ตามมาคือ หลายฝ่ายทั้งแพทย์, นักวิชาการ แม้กระทั่งสายเขียวเอง ต่างกังวลว่าการปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด 2564 โดยที่ยังไม่มีกฎหมายอื่นมาใช้ควบคุมทดแทน อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะเข้าถึงกัญชาได้ง่าย และเสพจนเกิดความเสียหายต่ออนาคตของชาติ
ประเทศไทยมีประวัติการใช้กัญชาในตำรับยา ตั้งแต่สมัยอยุธยา ปี 2175-2231 กระทั่งประเทศไทยต้องยุติการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย ตามอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ปี 2504 โดยกัญชากลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายมาโดยตลอด จนกระทั่ง พรรคภูมิใจไทย ได้ผลักดันให้กัญชาและกัญชงถูกกฎหมาย ใน พ.ศ. 2564 เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจของประชาชน แต่ยังคงห้ามสารสกัดจากกัญชา-กัญชง ซึ่งมีสาร THC มากกว่า 0.2% โดยมีผลบังคับใช้ในวันนี้
อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายเพื่อจุดมุ่งหมายมาควบคุมการใช้พืชทั้งสองชนิด คือ ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ... นั้น กลับเพิ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรกเมื่อวานนี้ และยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนเพื่อดำเนินการออกเป็นกฎหมายดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายกังวลต่อสูญญากาศทางกฎหมาย
“การปลดล็อกทำให้ผมสบายใจขึ้น คิดว่าคนทั่วไปจะสามารถใช้เพื่อผ่อนคลายหลังเลิกงานได้ แต่ข้อเสียหรือเรื่องที่น่าห่วงคือ ถ้าอนุญาตให้เยาวชนที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะใช้ คงจะเกิดปัญหาแน่นอนเพราะมันจะทำลายสมองของเด็ก ถ้าใช้มากเกินไป” นายต่อ (สงวนนามสกุล) พนักงานรัฐวิสาหกิจ อายุ 38 ปี จากเชียงราย กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ทั้งนี้ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาพบว่าในปี 2564 คนไทยอายุ 18-25 ปี ใช้กัญชาโดยไม่ใช่สำหรับการแพทย์ถึง 1.89 ล้านคน สูงกว่าปีก่อนหน้านั้น
นายต่อ กล่าวอีกว่า ตนเองใช้กัญชาเพื่อสันทนาการมา 18 ปี เคยถูกตำรวจจับ เพราะมีกัญชาอัดแท่งในครอบครอง แต่จ่ายเงินใต้โต๊ะจึงไม่ถูกดำเนินคดี แต่เมื่อพรรคภูมิใจไทยเสนอนโยบายกัญชาถูกกฎหมาย ตนจึงลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้งปี 2562
ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมกัญชาวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 (สุเบล ราย บันดารี/เบนาร์นิวส์)
'เพิ่มรายได้เกษตรกรไทย'
ด้าย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า โดยเนื้อหาสาระแล้วการปลดกัญชงและกัญชานั้น เป็นไปเพื่อใช้เป็นสมุนไพรในครัวเรือน ปรุงอาหาร และเพื่อการบำบัดรักษาโรคทางการแพทย์ ไม่ได้สนับสนุนการเสพเพื่อสันทนาการ โดยในปี 2564 ตลาดกัญชาในไทยมีมูลค่า 7,200 ล้านบาท ส่วนตลาดโลกจะมีมูลค่า 3.5 ล้านล้านบาทในปี 2567
“เรายังมีโอกาสทางการตลาดและมีโอกาสในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสำหรับตลาดกัญชาในประเทศไทย เป็นโอกาสของพี่น้องเกษตรกรไทยและผู้ประกอบการของไทยที่จะมีส่วนแบ่งในตลาดกัญชาโลก เกษตรกรผู้ปลูกกัญชา กัญชง ย่อมได้รับผลประโยชน์มีรายได้มากขึ้น” นายอนุทิน กล่าวสรุปต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้
“ผมได้ฟังความห่วงใยจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสูบ การเสพกัญชาในที่สาธารณะ หรือการบริโภคกัญชาเกินขนาด ซึ่งอาจทำให้เกิดพฤติกรรมที่สร้างความรำคาญใจ หรือเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ก็ต้องขอยืนยันว่า สิ่งที่เหล่านี้พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข หรือของรัฐบาล” นายอนุทิน ระบุ
ในร่าง พ.ร.บ. กัญชาฯ อนุญาตให้ครัวเรือนใช้ดูแลรักษาสุขภาพของคนในครัวเรือน โดยปลูกกัญชาได้ไม่เกินปริมาณตามที่กฎกระทรวงจะกำหนด แต่ให้จดแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ผ่านทางแอป Plook Ganja หรือทางเวบไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข ใบจดแจ้งมีอายุ 1 ปี ส่วนการผลิต นำเข้า ส่งออก การขาย หรือการโฆษณาต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีอายุ 3 ปี หากไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แอป Plook Ganja ล่มในตอนเช้าของวันพฤหัสบดีนี้ เพราะมีผู้เข้าลงทะเบียนของการปลูกกัญชากันอย่างล้นหลาม ขณะที่ โซเชียลมีเดียนำภาพต้นกัญชามาแสดง และพูดล้อเลียนว่าต้นกัญชาโตไวข้ามคืน โดยไม่กลัวผลกระทบทางกฎหมายใด ๆ
“หมายความว่า ปลดล็อกทุกอย่างเหมือนเปิดฟรี หลังจากวันที่ 9 กัญชาจะไม่เป็นยาเสพติด จะไม่มีการดำเนินคดี ผู้ที่ถูกคุมขังก็จะมีการปล่อย พกพา เสพ หรือซื้อขาย ก็จะไม่มีความผิดแล้ว เพราะมันไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว จะจับเขาไม่ได้ ฟรีจนกว่า พ.ร.บ. กัญชง-กัญชา จะมีผลบังคับใช้” พล.ต.ท. สรายุทธ สงวนโภคัย ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด อธิบายกับเบนาร์นิวส์ ถึงการปลดล็อกกัญชา
ด้าน พล.ต.อ. รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการสำนักกงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุยายน เป็นต้นไป จะไม่มีกฎหมายควบคุมการสูบกัญชาโดยตรง ต่างจากบุหรี่ที่มี พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบดูแลอยู่
“การสูบกัญชาไม่มีความผิด แต่การสูบกัญชาในที่สาธารณะ รบกวนสิทธิของผู้อื่นมีความปิดตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท” พล.ต.อ. รอย กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ทั้งนี้ ในก่อนหน้านี้ กัญชา นับเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งหากครอบครองหรือเสพจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-1 แสนบาท ต่อมา วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลได้แก้ไข พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ โดยถอดกัญชา ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 และวันที่ 5 มกราคม 2565 คณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ ก็มีมติให้ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดโดยสิ้นเชิง และให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน 2565 (สารสกัดจากกัญชา-กัญชง ซึ่งมีสาร THC มากกว่า 0.2% ยังผิดกฎหมาย)
ในขณะที่ กัญชายังผิดกฎหมาย ในปี 2564 ป.ป.ส. เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่จับกุมกัญชาของกลางได้ 4.15 หมื่นกิโลกรัม ถือว่าเพิ่มขึ้น จากปี 2563 ซึ่งจับของกลางได้ 9.22 พันกิโลกรัม
และในวันพฤหัสบดีนี้ กรมราชทัณฑ์เริ่มปล่อยตัวนักโทษหรือผู้ต้องหาคดีกัญชาจำนวน 3,071 คน ออกจากเรือนจำ เนื่องจากนับว่าผู้ต้องขังเหล่านั้น ไม่มีความผิดอีกต่อไป
ผู้ร่วมชุมนุมถีบจักรยานพร้อมกับถือโหลคุกกี้ไปบนถนนข้าวสาร ในวันกัญชาโลก 20 เมษายน 2565 (สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์)
ผลดีทางเศรษฐกิจ - ข้อกังวล
เมื่อมีการปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด 2564 ในเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว และรอผลบังคับใช้ในวันนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนได้เริ่มทำผลิตภัณฑ์เครื่องและอาหารที่ผสมหรือปรุงรสด้วยกัญชาจนขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ในมุมของผู้ปลูก-ผู้ขาย อย่างลับ ๆ เช่น นายวิคกี้ (ขอสงวนนามจริง) ชาวปทุมธานี แล้วนั้น เขาเชื่อว่าเมื่อมีการปลดล็อกครั้งนี้ กัญชาจะก้าวไกลไปมากกว่านั้น
“ต้นทุนการส่งจะถูกลง เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องถูกจับ อุปกรณ์การปลูกถูกลง ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง กัญชาเองก็จะถูกลงไปด้วย เชื่อว่าจะขายในวงกว้างได้มากขึ้น การถูกกฎหมายก่อนประเทศอื่นในอาเซียน จะทำให้ไทยกลายเป็นฮับของภูมิภาค สังคมเองก็จะเปิดใจให้คนใช้กัญชามากขึ้น ไม่มองเป็นขี้ยาเหมือนเมื่อก่อน” นายวิคกี้กล่าวกับเบนาร์นิวส์
วิคกี้ ให้ข้อมูลว่า เมื่อ 10 กว่าปีก่อน กัญชาอัดแท่งมีราคาประมาณกิโลกรัมละ 5,000 บาท ขณะที่กัญชาออร์แกนิก ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาสูงถึงกรัมละกว่า 1,000 บาท หลังจากที่มีกระแสว่ากัญชาจะถูกกฎหมาย กัญชาออร์แกนิกเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น มีการปลูกในประเทศไทย ทำให้ราคาลดลงเหลือ 300-600 บาทต่อกรัม ซึ่งวิคกี้ชี้ว่า กัญชาออร์แกนิกมีคุณภาพดี และดีต่อสุขภาพของผู้ใช้มากกว่ากัญชาแบบอัดแท่ง ที่มักปนเปื้อนยาฆ่าแมลง
อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ ฝ่ายยังคงมีความกังวล
นพ. สมนึก ศิริพานทอง ประธานสมาคมเซลล์บำบัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคด้วยกัญชา และพยายามผลักดันการปลดล็อกกัญชาเอง ก็เชื่อว่ากัญชาถูกกฎหมายเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่ควบคุมจะมีผลกระทบกับเยาวชน
“ทางการแพทย์กัญชาถูกกฎหมายไม่มีอะไรเสียหาย เพราะปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขก็ยอมรับแล้วว่ากัญชาใช้รักษาพาร์กินสัน มะเร็ง ไมเกรน อัมพาต นอนไม่หลับ และออฟฟิซซินโดรมได้ งานวิจัยก็พบว่า หากใช้ในปริมาณที่ไม่สูง หรือใส่ในอาหารก็จะทำให้สมองเสื่อมช้าลง อายุยืนขึ้น” นพ. สมนึก กล่าว
จากข้อมูลทางการแพทย์ กัญชามีสารที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้คือ 1. สาร CBD (Cannabidiol) ซึ่งมีฤทธิ์ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน และการบวมอักเสบของแผล และ 2. สาร THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และลดอาการปวด ขณะเดียวกันก็เป็นสารที่ให้ความเมาด้วย
“ที่น่ากังวลคือ ถ้าให้ปลูกได้ตามบ้านแล้วจะสามารถควบคุมการใช้ได้จริงหรือ ซึ่งโอกาสจะคุมไม่ได้ก็มีสูง มีโอกาสที่เด็ก ๆ จะเอาไปใช้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าคิดแต่โทษมันอย่างเดียว จนไม่กล้าเอามาใช้ส่วนที่เป็นประโยชน์ มันก็แย่” นพ. สมนึก กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ด้านนายพงศ์ธร จันทรัศมี เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด กล่าวว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ. กัญชาฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา “ทำให้กลายเป็นสูญญากาศในการกำกับดูแล” เราจึงเสนอให้ชะลอการปลดล็อก เพื่อรอให้มีมาตรการคุ้มครองเด็กเยาวชนที่ชัดเจน
ขณะที่ นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แสดงความเห็นสอดคล้องกัน กลัวว่าจะมีการกัญชาไปในทางที่ผิด ๆ โดยเฉพาะพวกเด็กและเยาวชน
ชายคนหนึ่งสูบกัญชาเพื่อฉลองวันกัญชาโลก ที่ย่านถนนข้าวสาร ซึ่งเป็นย่านท่องเที่ยวสำหรับแบ็คแพ็คเกอร์ วันที่ 20 เมษายน 2565 (สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์)