ญาติเหยื่อกราดยิงพารากอน : รู้สึกเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรม

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.01.02
กรุงเทพฯ
ญาติเหยื่อกราดยิงพารากอน : รู้สึกเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจลาดตระเวนภายในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ หลังมือปืนเปิดฉากยิงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายก่อนถูกจับกุม เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

"ไม่ได้รับความเป็นธรรม" คือ ความรู้สึกจากปากของสมาชิกครอบครัวของ น.ส. เพ็ญพิวรรณ มิตรธรรมพิทักษ์ หรือ หนุงหนิง ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุกราดยิงที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 หลังจากผ่านมากว่า 3 เดือนแล้ว แต่ผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวยังไม่ถูกส่งฟ้องต่อศาล หลังจากที่อัยการเปิดเผยว่า แพทย์ลงความเห็นผู้ต้องหามีอาการป่วยทางจิตและยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้

“อยากให้เขาติดคุกถึง(เป็น)ผู้ใหญ่ ไม่อยากให้เขาออก เพราะลูกตายทั้งคน เขา(หนุงหนิง)กำลังทำงานมั่นคง แล้วอยู่ๆมายิงเขาตาย อยากให้เขาติดคุกถึงโตเลย ให้รู้สึกบ้าง เขาไม่ใช่เด็กแล้วนะคะ เขารู้เรื่องหมด แต่เรื่องยิงเขาบอกว่าไม่รู้ อยากให้เขาติดคุก รีบปล่อยมาทำไม ไม่ใช่(ตาย)คนเดียวนะ ไหนจะบาดเจ็บอีก ไม่เป็นธรรมเลย” มารดา (สงวนชื่อและนามสกุล) ของ น.ส. เพ็ญพิวรรณ กล่าวกับสื่อมวลชน

ด้านญาติอีกคน (สงวนชื่อและนามสกุล) กล่าวว่า “มันเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรม เด็กไม่ได้บ้า เด็กไม่ได้มีจิตวิปริต แต่กฎหมายบ้านเราต้องมีเอกสาร ซับซ้อน ซึ่งความเป็นจริงก็เห็นอยู่ สังคมก็รู้ โซเชียลก็รู้ ว่าจริงๆแล้ว เหมือนเด็กแกล้งบ้า แต่กฎหมายให้รอ อัยการไม่ยอมรับ ไม่รู้ต้องรอถึงเมื่อไหร่”

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากเหตุในวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่เยาวชน (สงวนชื่อและนามสกุล) อายุ 14 ปี (ขณะก่อเหตุ) ใช้อาวุธปืนแบลงค์กันดัดแปลงยิงประชาชนในศูนย์การค้าสยามพารากอน ตำเป็นเหตุให้มีชาวจีน 1 คน และชาวเมียนมา 1 คน เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน และให้หลัง 2 สัปดาห์ น.ส. เพ็ญพิวรรณ หรือหนุงหนิง อายุ 30 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องเสียชีวิตลง

หลังเกิดเหตุ พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ จงอิทธิ รอง ผกก. (สอบสวน) สน.ปทุมวัน เปิดเผยในวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ได้เข้าสอบปากคำผู้ก่อเหตุเบื้องต้น พร้อมกับนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ และเปิดเผยว่าได้แจ้ง 5 ข้อหาให้ผู้ก่อเหตุและครอบครัวรับทราบ ประกอบด้วย ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พยายามฆ่า, มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต, และยิงปืนในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

ต่อมา กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เผยแพร่เอกสารขี้แจงกระบวนการดำเนินการว่า ตำรวจได้สอบสวนผู้ก่อเหตุเบื้องต้นในวันที่ 4 ตุลาคม แล้วส่งตัวไปไต่สวนการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลฯ ส่งตัวผู้ก่อเหตุต่อไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง เพื่อขออำนาจฝากขัง ต่อมาผู้ต้องหาถูกนำตัวไปตรวจสภาวะทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

“ระหว่างสอบสวนผู้ต้องหาสามารถรู้และเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยผู้ต้องหาสามารถให้การได้ว่า สั่งซื้ออาวุธและเครื่องกระสุนอย่างไร มีเพื่อนสนิทเป็นใคร ฝึกซ้อมยิงปืนกี่ครั้ง… เพียงแต่ไม่ให้การถึงเหตุการณ์ที่ตนก่อขึ้นเท่านั้น ระหว่างสอบสวนทั้งพนักงานสอบสวนและผู้เข้าร่วมสอบสวนทุกฝ่าย” บช.น. ระบุ

ด้าน นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (รองโฆษก อสส.) เปิดเผยว่า สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ได้มีความเห็นส่งกลับมายังพนักงานอัยการว่า ผู้ต้องหายังมีสภาพที่ยังไม่พร้อมสำหรับการต่อสู้คดี

“จิตแพทย์เจ้าของไข้ และทีมสหวิชาชีพ นิติจิตเวชได้ตรวจวินิจฉัยและประเมินผลว่า ผู้ต้องหาไม่มีความเข้าใจตระหนักรู้เรื่องของข้อกล่าวหา ไม่มีความสามารถในการพูดคุยและตอบคำถาม รวมทั้งไม่สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองได้ ผลการประเมินสรุปว่า ผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้” นายนาเคนทร์ กล่าวในวันที่ 28 มกราคม 2567

นายนาเคนทร์ ชี้แจงว่า พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนการสอบสวนมาให้อัยการแล้ว แต่อัยการได้ส่งคืนสำนวนดังกล่าว เนื่องจากการสอบสวนของตำรวจก่อนหน้านี้ เป็นการสอบสวนก่อนมีผลวินิจฉัยสุขภาพจิตจากแพทย์ ซึ่งถือว่าขัดต่อกฎหมาย

“เมื่อผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอยู่ในสภาวะหายป่วยเป็นปกติและสามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นแล้วส่งสำนวนคดีนี้ให้พนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาอีกครั้งภายในอายุความตามกฎหมาย โดยอายุความในคดีนี้มีอายุความสูงสุด 20 ปี” รองโฆษก อสส. ระบุ

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีเยาวชน สถานพินิจฯ สามารถคุมตัวผู้ต้องหาเยาวชนระหว่างการดำเนินคดีได้ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งทำให้ผู้ต้องหาในคดีนี้ได้รับอิสระจากการควบคุมตัวในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ไม่อนุญาตให้ให้สื่อมวลชนเข้าทำข่าวการปล่อยตัวผู้ต้องหา 

หลังการปล่อยตัว น.ส. ศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเยาวชน ระบุว่า ครอบครัวยินยอมให้เยาวชนผู้ก่อเหตุอยู่ภายใต้การรักษาตัวของสถาบันต่อไป โดยคาดว่าทางครอบครัวจะเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล 

ขณะที่ น.ส. นวพร สุนันท์ลิกานนท์ นักวิชาการด้านสิทธิเด็ก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า สังคมไทยควรต้องถอดบทเรียนในการรับมือกับปัญหาจากคดีนี้

“เราไม่สามารถนำสิ่งที่เกิดขึ้นในคดีนี้มาบรรทัดฐานในอนาคตได้ เพราะต้นทุนของเยาวชนแต่ละคนไม่เท่ากัน และเราก็ยังไม่สามารถด่วนสรุปปัญหาของคดีนี้ได้ เพราะแม้ต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจของเด็กคนนี้จะสูง ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีความแข็งแกร่งทางจิตใจ ยังยืนยันว่า เราต้องถอดบทเรียนเรื่องนี้ เพื่อให้โอกาสในการเกิดซ้ำลดลง และเพื่อความเป็นธรรมกับครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย” น.ส. นวพร กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง