วัยรุ่นลาวเหยื่อค้ามนุษย์เผยถูกทรมาน ใน ‘คาสิโน’ ฉ้อฉลที่ชายแดนเมียนมา
2023.04.13

ในวันที่แสนสดใสวันหนึ่ง เป็นวันที่ "คำ" เริ่มออกเดินจากบ้านที่อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว เพื่อมุ่งหน้าสู่ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเขาคิดว่านั่นคือโอกาสที่จะทำงานหาเงินสร้างรายได้จากเมืองการพนันอันรุ่งโรจน์แห่งนี้
“ผมคิดว่าตัวเองจะได้ทำงานประมาณ 1-2 เดือน แล้วก็ได้กลับบ้าน” เด็กหนุ่มวัย 16 ปี ที่ใช้ชื่อสมมุติว่า "คำ" เพื่อความปลอดภัย กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์ ในภายหลังจากที่ได้กลับมาบ้านเกิดที่ลาวอีกครั้ง
แต่แทนที่คำจะได้ทำงานที่มีรายได้งดงาม คำกลับตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์และถูกกักขังไว้ในตึกที่มีสภาพอับทึบ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และอยู่ห่างจากบ้านของเขาถึง 644 กิโลเมตร ชีวิตของคำถูกกันออกจากโลกภายนอก ต้องทุกข์ทรมาน และถูกบังคับให้ทำงานเป็นนักต้มตุ๋นหลอกลวงผู้คนทางอินเทอร์เน็ต หรือที่คนไทยรู้จักในนาม แก๊งคอลเซ็นเตอร์
รั้วลวดหนามล้อมรอบด้านนอก เกรทวอลล์พาร์ค ที่ถูกปิดตาย ซึ่งทางการกัมพูชากล่าวว่าได้พบหลักฐานการค้ามนุษย์ ลักพาตัว และทรมาน ระหว่างบุกค้นพื้นที่ต้องสงสัยอาชญากรรมทางไซเบอร์ ในเมืองสีหนุวิลล์ กัมพูชา เดือนกันยายน 2565 (รอยเตอร์)
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ฐานที่ประจำการลับ ๆ แบบเดียวกับที่คำถูกกักขังมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากในภูมิภาคนี้ เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้เครือข่ายอาชญากรต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการหาเงิน
วิธีการหนึ่งที่ได้รับความนิยมในทุกวันนี้ เกี่ยวข้องกับการหลอกเหยื่อโดยใช้การสร้างความสัมพันธ์เชิงชู้สาวแบบปลอม ๆ บนโลกออนไลน์ ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่การหลอกเงินจากกลุ่มเป้าหมายให้ได้จำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
พนักงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์บอกว่า หากพวกเขาพลาด พวกเขาจะถูกทรมาน
เด็กและเยาวชนจากแขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เล่าประสบการณ์อันเจ็บปวดให้เรดิโอฟรีเอเชียฟังว่า พวกเขาถูกนำตัวไปยังสถานที่ที่พวกเขาเรียกว่า “เกาะทรายคาสิโน” (Casino Kosai) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่พัฒนา ใกล้กับเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ติดกับชายแดนไทยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
และยังเชื่อว่ามีวัยรุ่นรวมถึงคนวัยหนุ่มสาวจากแขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว จำนวนอีกหลายสิบคนที่ยังคงถูกกักขังไว้ในพื้นที่ดังกล่าว ร่วมกับเหยื่อจากพื้นที่ต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย
โฆษณาปลอมบนหน้าเฟซบุ๊กของ Sand International (ภาพแคปเจอร์จากหน้าจอ : เรดิโอฟรีเอเชีย)
สัญญาจะให้เงินเดือนมากกว่า
โดยทั่วไปแล้ว จุดเริ่มต้นคือ งานที่ล่อตาล่อใจ
"แก้ว" วัยรุ่นลาววัย 18 ปี เดินทางมาถึงเกาะทรายคาสิโนเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังจากคำเดินทางมาที่นี่ แก้วมีงานทำอย่างถูกกฎหมายในคาสิโนที่ สปป.ลาว แต่ต่อมามีชายคนหนึ่งติดต่อมาหาเขาผ่านแอปพลิเคชันวอตส์แอปป์ (WhatsApp) โดยบอกว่าแก้วจะได้เงินเดือนมากกว่าเดิม โดยได้เดือนละ 13 ล้านกีบ (766 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 26,000 บาท) และมีโบนัสให้ หากเขายอมมาทำงานที่ประเทศไทย
และไม่กี่วันต่อมา ก็มีคนพาแก้วกับเพื่อนอีกสองคนขึ้นรถกระบะสีดำ ยี่ห้อโตโยตา วีโก้ มา โดยพวกเขาถูกส่งตัวต่อให้ขึ้นเรือข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเข้ามายังประเทศไทย
แก้วรู้ตัวว่าเขากำลังตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เมื่อตอนที่เขาเห็นชายสองคนพร้อมอาวุธเข้าประกบตัวเขาและเพื่อน
“ตอนอยู่บนเรือ หนึ่งในพวกเรา ... เสนอขึ้นมาว่าเราควรกลับลาว แต่เรากลัวเกินกว่าจะร้องขอ” เพราะมีผู้ชายคนหนึ่งถือปืนและมีดอยู่ที่นั่น นอกจากนี้ พวกเขาทั้งสามคนก็ยังถูกห้ามใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อโทรหาพ่อแม่
ทั้งแก้วและคำบอกกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า เส้นทางค้ามนุษย์ที่พวกเขาตกเป็นเหยื่อจะไปสิ้นสุดที่เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา
ในช่วงแรก สถานการณ์ต่าง ๆ ของงานที่ต้องทำ ยังไม่มีแย่มากนัก วิธีการหลอกลวงมีทั้งแกล้งทำเป็นคนโสดหัวใจเปลี่ยวเหงาในไทยที่กำลังมองหาความรัก เริ่มต้นบทสนทนา และสร้างความสัมพันธ์แบบปลอม ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์
พวกเขาต้องรีบก้าวสู่ขั้นต่อไปอย่างรวดเร็ว เพื่อชวนให้เป้าหมายโอนเงินเข้ามาในบัญชีปลอมที่หลอกว่าเป็นบัญชีสำหรับการลงทุน โดยเก็บเงินเหล่านั้นเอาไว้แทน
พนักงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้ถูกบังคับให้ทำงานวันละ 16 ชั่วโมง เสาะหาคนที่จะตกเป็นเหยื่อให้หลอกโอนเงิน
“เรามีเวลา 3 วันเพื่อหาลูกค้าหนึ่งคน” แก้ว นึกทบทวน “ถ้าหาไม่ได้ เราอาจโดนทำร้ายร่างกายในวันที่ 4”
คำ เผยรูปภาพของตนเองที่มีร่องรอยของการถูกทรมานให้กับนักข่าวของเรดิโอฟรีเอเชีย ซึ่งรวมถึงภาพบาดแผลบนร่างกายที่เขาบอกว่า ถูกทำร้ายด้วยเครื่องมือที่ใช้กระทุ้งวัวควาย
เกาะทรายคาสิโน (นักข่าวพลเมือง)
ปัญหาระดับภูมิภาค
ศูนย์บัญชาการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พุ่งเป้าโจมตีเหยื่อทั่วโลก มีการค้นพบศูนย์ฯ เหล่านี้ที่ไทย รวมถึง สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา โดยพบมากในเมืองที่มีคาสิโน และหลายแหล่งถูกสร้างขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายอาชญากรชาวจีนที่ปฏิบัติการอยู่บริเวณแนวชายแดน ทำให้ตำรวจเข้าถึงได้ยาก
ก่อนปี 2563 “สถานที่แบบนี้หลายแห่งเกี่ยวข้องกับสองสิ่ง คือ การพนัน ซึ่งกลุ่มชาวไทยและชาวจีนเดินทางเข้ามาเสี่ยงโชคทุกสุดสัปดาห์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือไม่เช่นนั้นก็เล่นการพนันออนไลน์” ฟิล โรเบิร์ตสัน องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว
“หลังจากนั้น จู่ ๆ โควิดก็ระบาด แล้วเครือข่ายอาชญากร (ที่ทำธุรกิจคาสิโน) เหล่านี้ตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจมาเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์”
ชายแดนไทย-เมียนมาเป็นสถานที่ที่ดึงดูดเครือข่ายอาชญากร เพราะปัญหาความวุ่นวายภายในต่าง ๆ ทำให้ภูมิภาคนี้มีตำรวจตรวจตราน้อย พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สู้รบระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมาเป็นเวลายาวนาน
ฟิล โรเบิร์ตสัน กล่าวว่า มีรายงานว่ามีคาสิโน (ค้ามนุษย์) ประมาณ 20-30 แห่ง กระจายตัวอยู่ตลอดแนวชายแดน
เรดิโอฟรีเอเชียคุยกับเยาวชน 6 รายที่ถูกหลอกไปที่เกาะทรายคาสิโน จากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่พ่อแม่ของวัยรุ่นลาวจำนวนหลายคนส่งมาให้เรดิโอฟรีเอเชีย วัยรุ่นลาวเหล่านั้นยังคงติดอยู่ข้างในพื้นที่ดังกล่าว พื้นที่เหล่านั้นมีลักษณะเป็นคลังสินค้า อยู่ห่างจากเมืองเมียวดีทางตอนใต้ไปประมาณ 32 กิโลเมตร
แหล่งข่าวในพื้นที่บอกกับเรดิโอฟรีเชียภาคพม่าว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการควบคุมโดยกองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ (Democratic Karen Benevolent Army - DKBA) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธ
พันเอก ซอ เซียน วิน โฆษกของกลุ่ม DKBA ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว พร้อมกล่าวถึงเรื่องคาสิโนค้ามนุษย์ว่า “เราไม่ยอมให้เกิดเรื่องเช่นนั้นขึ้นในภูมิภาคของเรา”
เยาวชนที่ถูกบังคับให้ทำงานที่เกาะทรายคาสิโน ถูกมัดไว้กับเสา (ซ้าย) และภาพบาดแผลที่หลัง (ภาพแคปเจอร์จากวิดีโอ เรดิโอฟรีเอเชีย)
จับเป็นตัวประกัน
ในตอนแรก แก้วตั้งใจจะหลอกเงินคนไม่กี่คน แต่หลังจากนั้นไม่นาน การหาเหยื่อรายใหม่ก็ยากขึ้นเรื่อย ๆ เขายังคงตระหนักได้ว่าไม่มีทางไหนที่เขาจะถูกปล่อยออกไปจากที่นี่ นอกเสียจากว่า จะมีใครสักคนยอมจ่ายค่าไถ่ตัวให้เขา มิเช่นนั้นแล้ว เขาจะถูกขายต่อไปให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์แก๊งใหม่
หนึ่งในคนที่พาตัวเขามาอนุญาตให้แก้วโทรศัพท์หาพ่อแม่ และขอให้พ่อแม่จ่ายค่าไถ่เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท (14,625 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อปล่อยตัวเขา “ถ้าไม่ทำ ผมจะถูกขายต่อไม่ว่าจะเป็นหรือตาย” เขาบอกตามที่ได้ยินมา
พ่อแม่ของแก้วต่อรองราคาค่าไถ่เหลือ 200,000 บาท (5,800 ดอลลาร์สหรัฐ) คำ เป็นหนึ่งในเหยื่อเกือบสิบคนที่เลือกจะหนี เพราะพวกเขาอ่านภาษาไทยไม่ออกและทำงานตามคำสั่งไม่ได้
เหยื่อถูกบอกให้โทรศัพท์หาพ่อแม่ พร้อมบอกว่าพวกเขาจะถูกปล่อยตัวเมื่อได้เงินค่าไถ่ 500,000 บาท เหยื่อบางคนซึ่งรวมถึงครอบครัวของคำ สามารถต่อรองราคาค่าไถ่ได้และรับรองว่าจะถูกปล่อยตัว
คำและแก้วรวมถึงเหยื่ออีกไม่กี่คน กลับถึงบ้านก่อนกำหนดเมื่อช่วงต้นปีนี้
กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ (DKBA) เป็นกลุ่มติดอาวุธที่ควบคุมพื้นที่ของเกาะทรายคาสิโน ในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา แหล่งข่าวในพื้นที่บอกเรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาพม่า (รอยเตอร์)
ไม่รู้จะหันไปขอความช่วยเหลือจากใคร
ทั้งเหยื่อและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การค้ามนุษย์ได้รับการช่วยเหลือและการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย
“น่าเศร้าที่ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทั้งการคอร์รัปชันอย่างมหาศาล ทำให้ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและความไม่ใส่ใจ” แวนดา เฟลบาบ-บราวน์ จากสถาบันบรูกกิงส์ สถาบันวิจัยทางนโยบาย ในกรุงวอชิงตันกล่าว
วัยรุ่นอีกหลายสิบคนยังคงติดอยู่ในนั้น ซึ่งรวมถึงเด็กอายุ 14 ปีที่แม่ของเขาติดต่อมายังเรดิโอฟรีเอเชียภาคภาษาลาว เช่นเดียวกับพ่อแม่ของวัยรุ่นคนอื่น ๆ ที่เชื่อว่าลูก ๆ ของพวกเขายังอยู่ที่เกาะทรายคาสิโน
เจ้าหน้าที่รัฐบาลลาวกล่าวว่า ได้พบกับรัฐบาลทหารเมียนมา และส่งข้อมูลของจุดที่ตั้งเกาะทรายคาสิโนต่อไปให้
เหยื่ออีกรายที่ยังคงอยู่ที่นั่น ติดต่อมาหาเรดิโอฟรีเอเชียเมื่อเดือนมีนาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารลาวมาถึงสถานที่เกิดเหตุ ในขณะที่เขากำลังถูกนำตัวไปที่คาสิโน เพราะเหตุนี้เขาจึงเขียนข้อความส่งมาถึงเรดิโอฟรีเอเชียได้
ในขณะที่ตำรวจไทย (ขณะข้ามแดนผ่านจากประเทศไทย เข้ามาในพม่า) แสร้งมองไม่เห็น เพราะได้รับสินบนจากกลุ่มค้ามนุษย์ชาวจีน นั่นเอง
“ตำรวจรู้ว่าเราอยู่ที่ไหน” เขาเขียนบอก “ผมไม่รู้ว่า ทำไมเขาไม่ยอมช่วยเรา”
เยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ หลังจากได้รับอิสรภาพ (ภาพมอบแก่ เรดิโอฟรีเอเชีย)