การลงทุนของจีนในมหาวิทยาลัยเอกชนไทยสร้างความน่ากังวล
2023.02.20
เชียงใหม่

นักวิชาการไทยหวั่นว่า การที่นักลงทุนจีนเข้าถือหุ้นใหญ่ในมหาวิทยาลัยเอกชน 3 แห่งของไทยนั้น มหาวิทยาลัยจะมุ่งหากำไรมากกว่าคุณภาพการศึกษา
ทั้งยังกังวลว่า สถาบันเหล่านี้จะจัดลำดับความสำคัญของการรับสมัครนักศึกษาจีนมากกว่านักศึกษาไทย และหลักสูตรนานาชาติจะมีมากกว่าหลักสูตรที่เน้นความต้องการในประเทศ
ด้านนักศึกษาไทยบางรายในมหาวิทยาลัยเหล่านี้ กล่าวว่า ตั้งแต่มีนักลงทุนชาวจีนเข้ามา ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายในหลักสูตร การเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวที่เห็น คือมีจำนวนนักศึกษาจีนเพิ่มขึ้น และบางกรณีก็มีการเพิ่มหลักสูตรนานาชาติ
ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยเมื่อต้นปี 2566 ถึงกรณีดังกล่าวว่า อว. เฝ้าติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาเนื่องจากมีกฎหมายไทยกำกับดูแลอยู่
“ในปัจจุบันมี 3 มหาวิทยาลัยที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้น โดยมีผู้บริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เป็นชาวจีน คือมหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยเมธารัถย์ และมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด แต่สัดส่วนการถือครองหุ้นยังคงเป็นนิติบุคคลสถานะไทย ตามพรบ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542”
ต่อประเด็นความกังวลด้านการเข้าซื้อกิจการมหาวิทยาลัยเอกชนไทยของทุนจีน ศ.ดร. ศุภชัย ชี้ว่า รัฐยังคงมีกฎหมายสำหรับกำกับดูแลเรื่องนี้
“ไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือผู้บริหารอย่างไร ก็ต้องถูกกำกับควบคุมภายใต้ พรบ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน และ พรบ.การอุดมศึกษา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษาเอกชนของไทยอย่างเคร่งครัด โดยมีคณะกรรมการการอุดมศึกษา คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา และสำนักปลัดกระทรวง อว. เป็นผู้กำกับดูแล” ศ.ดร. ศุภชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญคือ นักลงทุนจีนเข้ามาเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยไทยได้อย่างไร
โดยเมื่อ 4 ปีก่อน ดร. กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกริก เคยเปิดเผยว่า สถานการณ์ที่นักศึกษาลดจำนวนลงจากประมาณ 3 พันคน เหลือเพียง 2 พันคน ทำให้มหาวิทยาลัยประสบปัญหาขาดทุน จึงจำเป็นต้องขายหุ้นให้กับกลุ่มทุนจีน
ศ.ดร. ศุภชัย ระบุว่า ตามกฎหมายไทย นายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี สามารถเป็นต่างชาติได้ แต่กรรมสภามหาวิทยาลัยนั้น ๆ ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องเป็นคนไทย
“ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกริก ทั้งนายกสภาและอธิการบดี เป็นคนไทย มีกรรมการสภาที่เป็นชาวจีนประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์” ศ.ดร. ศุภชัย กล่าวกับสื่อมวลชน
ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกริก มีนักศึกษามากกว่า 1,000 คน ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ขณะที่ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ซึ่งมีนักศึกษาราว 600 คน มีประธานสภาชาวจีน และคณบดีชาวไทย โดยมีสมาชิกสภาชาวจีนประมาณ 40 เปอร์เซนต์
ขณะที่ มหาวิทยาลัยเมธารัถย์ เดิมชื่อ มหาวิทยาลัยชินวัตร ปัจจุบันถือหุ้นโดย บริษัท เฟธ สตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีกรรมการบริหาร และผู้ถือหุ้นเป็นชาวจีน 51 เปอร์เซ็นต์ ของมหาวิทยาลัย
โดยมหาวิทยาลัยเมธารัถย์ ทั้งนายกสภา และอธิการบดีเป็นชาวจีน กรรมการสภาเป็นชาวจีนประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีนายกสภาเป็นชาวจีน อธิการบดีเป็นชาวไทย และมีกรรมการสภาเป็นชาวจีนประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์
บัณฑิตเดินออกจากอาคาร หลังพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ วันที่ 30 ตุลาคม 2563 (โซ เซยา ทุน/รอยเตอร์)
ความน่ากังวล
นอกเหนือจากปัญหาความเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยแล้ว นักวิชาการยังกังวลเกี่ยวกับทุนการศึกษาและปัญหาการเข้าถึงการศึกษาด้วย
อาจารย์พิไลรัตน์ ศรีวิเชียรอำไพ คณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยคริสเตียน ระบุกับเบนาร์นิวส์ว่า สิ่งที่น่ากังวลในการเข้าซื้อหุ้นมหาวิทยาลัยในไทยของกลุ่มทุนจีน มีทั้งต่อตัวมหาวิทยาลัยเอง และนักศึกษาไทย
“ทุนจีนเข้าถือหุ้นในมหาวิทยาลัยมากขึ้น สร้างความกังวลในแง่ของการจัดการ กลัวว่าจะบริหารเพื่อหากำไร มุ่งไปในเชิงธุรกิจเต็มตัว แต่ละเลยเรื่องคุณภาพการศึกษา ถึงระบบคิดด้านธุรกิจของคนจีนจะมีแนวโน้มช่วยให้การบริหารมีประสิทธิภาพ แต่เชื่อว่าต้องแลกมาด้วยเรื่องอื่นอีกหลายเรื่อง ซึ่งต้องดูในระยะยาว ที่น่ากังวลอีกเรื่องคือ เด็กไทยอาจถูกแย่งพื้นที่ เพราะมหาวิทยาลัยรับนักศึกษาได้จำกัด แต่ผู้เรียนเพิ่มขึ้นจากการมาของนักศึกษาจีน” อาจารย์พิไลรัตน์ กล่าว
ด้าน ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชี้ว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในไทยมีแนวโน้มที่ต้องการจะรับนักศึกษาจีนมากขึ้น
“มีความพยายามอย่างชัดเจนของมหาวิทยาลัยที่ต้องการเปิดหลักสูตรนานาชาติรองรับนักศึกษาจีน สำหรับมหาวิทยาลัยรัฐยังถือว่า การคัดเลือกยังมีมาตรฐาน นักศึกษาจีนจำเป็นต้องสอบเข้า ซึ่งนักศึกษาจีนจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาเรื่องผลสอบภาษาอังกฤษ แต่ไม่แน่ใจว่า มหาวิทยาลัยเอกชน มีมาตรการคัดกรองนักศึกษาจีนให้มีมาตรฐานก่อนเข้าเรียนหรือไม่” ดร. เอียชา กล่าว
ที่ผ่านมารายงานของกระทรวงศึกษาธิการพบนักศึกษาจีนในห้องเรียนมากขึ้น ตามตัวเลขที่เผยแพร่ในปี 2563 ก่อนการระบาดของโควิด-19
สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของนักลงทุนจีน ที่ผ่านมาจำนวนนักศึกษาจีนในประเทศไทยเองก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 มี 10,617 คน, ปี 2562 มี 11,993 คน และปี 2563 มี 14,423 คน กระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา 102 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีนักศึกษาจีนมากที่สุดคือ กว่า 3 พันคน
ปัจจุบันประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยเอกชน 42 แห่ง และมหาวิทยาลัยของรัฐ 69 แห่ง (สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ที่รวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล) โดยมหาวิทยาลัยของรัฐยังได้รับความนิยมในหมู่นักศึกษาไทยมากกว่า แต่มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งเองก็มีความพร้อมที่ดีกว่า และสามารถยกระดับนักศึกษาให้มีมาตรฐานทางการศึกษาที่สูงขึ้น
“หลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศเปิดประเทศ เชื่อว่าจะมีนักศึกษาจีนจำนวนมากเดินทางมาเรียนหนังสือในประเทศไทย” ศ.ดร. ศุภชัย ระบุ
นักศึกษาไทยร่วมกันถือโล่ที่มีตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ขณะเข้าร่วมพิธีครบรอบการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในจังหวัดนราธิวาส วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 (เอเอฟพี)
การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรที่อาจเกิดขึ้น
นักศึกษาไทยจำนวนหนึ่งที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งมีทุนจีนเป็นเจ้าของ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์โดยระบุว่า พวกเขาไม่ได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในหลักสูตร
นายโชคทวี (สงวนนามสกุล) นักศึกษาบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเกริก เปิดเผยว่าทางมหาวิทยาลัยไม่ได้ประกาศอะไรชัดเจน และไม่คิดว่าจะส่งผลกับหลักสูตรที่เรียน
“รายวิชาต่าง ๆ ก็เหมือนเดิม คนสอนเป็นคนเดิม แทบจะไม่เห็นความต่างเลยนะครับ คือไม่มีนักศึกษาจีนเพิ่มขึ้น เท่าที่ผมรู้” โชคทวี ระบุ
เช่นเดียวกับ นายประภัทร์ (สงวนนามสกุล) นักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกริก ที่รู้ว่ามีนักธุรกิจจีนมาซื้อหุ้น แต่ไม่ได้คิดว่าจะส่งผลกับมหาวิทยาลัยมากเท่าไหร่ แต่อาจมีนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น มีคนจีนมากขึ้น
ด้าน นางสาวนภัสสร (สงวนนามสกุล) นักศึกษามหาวิทยาลัยเมธารัถย์ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงเจ้าของ อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนชื่อจากเดิมคือ มหาวิทยาลัยชินวัตร ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2542 โดยทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกขับออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการรัฐประหารในปี 2549 และไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ
“มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยก็มีภาษาจีน มีหลักสูตรใหม่ ๆ ที่รับนักศึกษาต่างชาติ มีโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศเยอะแยะเลย” นภัสสร ระบุ
“คิดว่าเป็นเรื่องภาษา คือถ้าเป็นนักศึกษาต่างชาติเช่น อินเดีย คือภาษาเขาจะดีมาก ต่างกับนักศึกษาจีนที่รู้จัก ที่มีทักษะทางภาษาอังกฤษไม่แตกต่างกับเด็กไทยสักเท่าไหร่ เผลอ ๆ จะอ่อนกว่าด้วยซ้ำ นับเฉพาะที่รู้จักนะคะ”
อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัย “การศึกษาเบื้องต้นว่าด้วยนักศึกษาจีนในไทย” ของ ดร. กุลนรี นุกิจรังสรรค์ และคณะ จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า 2 ปัจจัยหลักที่นักศึกษาจีนตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่างประเทศ เพราะไม่สามารถสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศจีน และต้องการหลีกหนีสังคมจีนที่แข่งขันและมีความกดดันสูง
“เหตุผลที่เลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายด้านการศึกษา เพราะค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง ครอบครัวชนชั้นกลางจ่ายไหว, หลักสูตรมีความหลากหลายและยืดหยุ่น ตอบโจทย์นักศึกษาจีนได้, นักศึกษาจีนชื่นชอบเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว สังคม วัฒนธรรม อาหาร รวมถึงดาราภาพยนตร์ไทย และนักศึกษาจีนเชื่อมั่นในศักยภาพด้านการศึกษา ความปลอดภัย ความมั่นคง คุณภาพชีวิตในไทย” ส่วนหนึ่งของงานวิจัย ระบุ
ด้าน นายลี เหว่ย ยี นักศึกษาปริญญาโทชาวจีน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การตัดสินใจมาศึกษาต่อในไทยของคนจีน มีเหตุผลในการตัดสินใจมากกว่าเรื่องการศึกษา
“เอาแบบไม่โลกสวย มันก็มีคนจีนที่สนใจเรื่องการศึกษาจริง ๆ แต่มันก็มีคนที่มาเรียนเพื่อเอาวีซ่า เพื่อจะได้เที่ยวนาน ๆ หรือมาเรียนเพราะมีธุรกิจในไทยอยู่แล้ว ตัวผมเองมาเรียนที่นี่เพราะอยากเรียนภาษาอื่น นอกจากภาษาอังกฤษ อยากเรียนต่างประเทศ และประเทศไทยมีทุน ถึงช่วงโควิดระบาดจะมีเพื่อนคนไทยล้อเลียน แต่ก็รู้สึกได้ว่า พ่อค้า แม่ค้า คนขายของชอบคนจีน” นาย ลี กล่าว