ดีเอสไอบุกจับเครือข่ายภาพอนาจารเด็กใหญ่ที่สุดในโลก

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2021.02.11
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
ดีเอสไอบุกจับเครือข่ายภาพอนาจารเด็กใหญ่ที่สุดในโลก เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และองค์กรเกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบ เนเน่ โมเดลลิ่ง ในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นที่ครอบครองสื่ออนาจารเด็ก วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564
ภาพ : ดีเอสไอ

ในวันพฤหัสบดีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าจับกุมเจ้าของบริษัทโมเดลลิ่ง ซึ่งเป็นเครือข่ายครอบครองภาพอนาจารเด็ก จำนวนกว่า 5 แสนภาพ ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในโลก โดยการจับกุมครั้งนี้เป็นการประสานข้อมูลกับสำนักงานตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลีย เบื้องต้น ดีเอสไอ เตรียมตั้งข้อหากระทำชำเราเด็ก อายุต่ำกว่า 13 ปี และ 15 ปี รวมถึงฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ

พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ รวมถึงองค์กรสิทธิเด็กหลายองค์กร ตรวจสอบและทำการจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งเป็นผู้ครอบครองภาพอนาจารของเด็ก โดยเป็นการขยายผลจากการจับกุม นายฐกร อรรถปฐมชัย หรือ นายหมี หรือ นายบาส ผู้ต้องหาในคดีใกล้เคียงกัน เมื่อปีเดือนพฤษภาคม 2563  

“เขาให้การว่าเขารับจ้างถ่ายโมเดลลิ่ง เขาบอกว่า เอาเด็กมาแล้วก็มาถ่าย เพื่อที่จะทำชื่อเสียง ทำอะไรอย่างนี้ เขาโฆษณาเชิญให้เด็กเข้ามาดู มีการโฆษณาว่ารับจ้างถ่ายและจะมีรายได้ ก็ชักชวนชักจูงในเฟซบุ๊ก (ดีเอสไอ)ยังไม่ได้ลงรายละเอียด (ว่ารับสารภาพหรือปฏิเสธ) แต่มีของกลางทั้งหมด (มีคนที่ตกเป็นเหยื่อ) เบื้องต้นเยอะมาก จากที่เราเจอของกลางในที่ตรงนี้ ต้องเอากลับไปไล่วิเคราะห์หมด เพราะมันเยอะมาก (เขา)ทำมาหลายปีแล้ว 7-8 ปี” พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวแก่สื่อมวลชน หลังการจับกุม

ใบแถลงข่าวกรมดีเอสไอ ยังระบุว่า จากการสืบสวนและจับกุม นายดนุเดชฯ ในครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการพบคลังภาพลามกอนาจารเด็กมากกว่า 500,000 ไฟล์ภาพ ซึ่งนับว่าเป็นการได้มาซึ่งภาพลามกอนาจารเด็กที่มากที่สุด และเกี่ยวพันกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กจำนวนหลายพันราย

พ.ต.ท.กรวัชร์ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัว นายดนุเดช แสงแก้ว หรือ เนเน่ อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาคดีพิเศษที่ 77/2563 ได้ที่บ้านพักในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นสำนักงานบริษัท เนเน่ โมเดลลิ่ง พร้อมด้วยของกลางเป็นไฟล์ภาพอนาจารดังกล่าว โดยหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบข้อมูลเพื่อนำมาเป็นหลักฐานดำเนินคดี และสืบหาผู้ที่เกี่ยวข้องรายอื่นต่อไป ขณะที่ นายดนุเดช ยังมิได้ให้การปฏิเสธ หรือรับสารภาพ

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ดีเอสไอจะตั้งข้อหานำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้, กระทำชำเรา และพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม, กระทำอนาจารแก่เด็กอายุไม่เกิน 13 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม และพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล

การจับกุมครั้งนี้ สืบเนื่องจาก ตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลียได้ประสานข้อมูลมายังประเทศไทยว่า ออสเตรเลียพบภาพอนาจารของเด็ก 1 ภาพซึ่งมีเบาะแสเชื่อมโยงกับประเทศไทย กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ดีเอสไอ จึงได้นำข้อมูลดังกล่าวมาตรวจวิเคราะห์ร่วมกับองค์กร Operation Underground Railroad (O.U.R.) จนทำให้สามารถจับกุมตัว นายฐกร อรรถปฐมชัย หนึ่งในเครือข่ายครอบครองภาพอนาจารเด็กได้ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 และต่อมาได้รวบรวมข้อมูลจนทราบว่า ขบวนการนี้มี นายดนุเดช เป็นผู้เกี่ยวข้อง จากข้อมูลเบื้องต้น นายดนุเดช เป็นเจ้าของบริษัท เนเน่ โมเดลลิ่ง ซึ่งรับจัดหานักแสดง และนายแบบเด็กให้กับภาพยนตร์ โฆษณา ละคร หรือรายการโทรทัศน์ มีนักแสดงเด็กในสังกัดจำนวนมาก โดยหลังจากนี้ ดีเอสไอจะได้ทำงานร่วมกับ องค์กร O.U.R., มูลนิธิเอ-ทเวนตี้วัน (A21 Foundation), องค์กร LIFT International, มูลนิธิพิทักษ์สตรี (AAT), TCLS Legal Advocate และศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาจิตใจของเด็กซึ่งตกเป็นเหยื่อ

นักสิทธิเยาวชนชี้รัฐต้องเอาผิดผู้ครอบครองสื่ออนาจารเด็ก และเร่งเยียวยาเหยื่อ

น.ส.มัจฉา พรอินทร์ ผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์การล่วงละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กอยู่บ่อยครั้ง แต่สังคมไทยไม่เคยตระหนักและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ข่าวที่ถูกนำเสนอจึงเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะสถานการณ์จริงอาจเลวร้ายกว่ามาก

“กรณีนี้น่าสนใจว่า ประเทศไทยจะมีการจับกุมผู้ที่ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กได้หรือเปล่า ซึ่งถ้าไม่ได้ ก็แสดงว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่ปล่อยให้เรื่องละเมิดทางเพศเป็นเรื่องปกติ ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะสุดท้ายเหยื่อคือเยาวชน สังคมไทยมีการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสูงมาก ซึ่งสะท้อนความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม เหยื่อจำนวนมากไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ เหยื่อจำนวนมากจึงเลือกที่จะเงียบ สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ เด็กที่กลายเป็นเหยื่ออาจถูกกล่าวโทษ ทั้งที่เหยื่อควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากทีมวิชาชีพ” น.ส.มัจฉา กล่าว

“กระบวนการเยียวยาที่ดีที่สุดคือ การสร้างการรับรู้ทางเพศในสังคมไทยให้รอบด้านและสากลมากกว่านี้ ที่ผ่านมา เราไม่ได้สอนเรื่องเพศให้เข้าใจ ให้เคารพในมิติทางเพศ เช่น คนไทยเห็นเด็กเล็ก ๆ ก็เข้าไปจับแก้ม จับก้นเด็ก เราอยู่ในวัฒนธรรมที่ล่วงละเมิดเด็ก และเป็นวัฒนธรรมที่ไม่อ่อนไหว ซึ่งมันต้องเปลี่ยน เราไม่ควรแตะต้องเนื้อตัวเด็ก โดยรวมคือไทยสอนเรื่องเพศเด็กได้ล้มเหลวมาก” น.ส.มัจฉา กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง