8 พรรคร่วมฝ่ายค้านมี 'โรดแมป' จัดตั้งรัฐบาล แต่ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯ ยังไม่ลงตัว
2023.05.18
กรุงเทพฯ

ในวันนี้ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยแกนนำ 8 พรรคการเมือง แถลงจุดยืนในการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ระบุว่ามีเอกภาพเพียงพอในการเป็นรัฐบาล ขณะที่ประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ยังอยู่ระหว่างการเจรจา
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน ที่ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคเป็นธรรม, พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคสังคมใหม่ รวมกันได้ทั้งสิ้น 313 เสียง จากจำนวน 500 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎร
“พรรคก้าวไกลรวมถึงพรรคร่วมทั้ง 8 พรรค มีจุดยืนในการจัดตั้งรัฐบาล มีความชัดเจน มีเอกภาพเพียงพอเป็นที่น่าพอใจ” นายพิธา กล่าวต่อผู้สื่อข่าว
ในการแถลงข่าวครั้งนี้ นายพิธา ระบุว่า ทั้ง 8 พรรคการเมืองเห็นชอบตรงกันในเรื่องการสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ร่วมกันทำข้อตกลงร่วม หรือ MOU เพื่อแสดงถึงแนวร่วมในการทำงานร่วมกัน และวาระร่วมของทุกพรรค ในการแก้ไขวิกฤตทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเพื่อเตรียมความพร้อมในบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้อย่างไร้รอยต่อ
“ทั้งสองคณะ ทั้งคณะเจรจา และคณะเปลี่ยนผ่าน มีการวางแผนไว้หลายรูปแบบว่าอนาคตจะมีฉากทัศน์แบบไหน จะต้องบริหารจัดการอย่างไร เราสามารถจะลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้มีความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล” นายพิธา ระบุพร้อมยืนยันความมั่นใจว่าจะได้รับเสียงโหวตที่เพียงพอในการเป็นนายกรัฐมนตรี
แม้ว่าขณะนี้ พรรคก้าวไกล แถลงจับมือร่วมกับพรรคการเมืองรวมทั้งสิ้น 8 พรรค ได้เสียงรวมกันทั้งสิ้น 313 เสียงแล้ว แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ระบุว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจำนวน 376 เสียง จากจำนวนสมาชิกทั้งสองสภารวมกันทั้งหมด 750 เสียง ในจำนวนนี้เป็นเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 เสียง
“เรามั่นใจว่าเราจะมีเสียงในรัฐสภา 376 เสียง เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีและเพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดตั้งให้รัฐมนตรีเป็นรัฐบาลของประชาชน” นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม นโยบายที่พรรคก้าวไกลใช้หาเสียงในช่วงที่ผ่านมาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 112 ที่ถูกระบุว่าเป็นกฎหมายที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เป็นเครื่องมือในการปิดปากนักชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย จนมีเยาวชนและประชาชนจำนวนมากถูกฟ้องร้องจากการใช้กฎหมายนี้ ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุก 15 ปี
เงื่อนไขดังกล่าวนำไปสู่ความไม่ชัดเจนในการผลักดันการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ทั้งจากพรรคที่คาดว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล และสมาชิกวุฒิสภา ที่จะร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะถึงนี้
“เรื่องสำคัญที่ติดใจคือเรื่องการแก้ไข หรือ ยกเลิกมาตรา 112” นายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
นายจเด็จ กล่าวต่อด้วยว่า การแก้ไขกฎหมายอาญามาตราดังกล่าวอาจไปกระทบถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 6 เรื่องพระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะได้รับการเคารพสักการะ จะละเมิดไม่ได้
การแก้มาตรา 112 ยังเป็นปัญหา
ด้านพรรคภูมิใจไทย ที่ผู้สมัครได้รับเลือกตั้งจำนวน 70 ที่นั่ง ออกแถลงการณ์ระบุจุดยืนของพรรคที่จะไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายแก้ไข หรือ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
“จุดยืนนี้เป็นหลักการสำคัญของพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือต่อรองได้ พรรคภูมิใจไทยจึงไม่สามารถลงมติสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้” แถลงการณ์ระบุ
ขณะนี้ แม้แต่พรรคการเมืองที่จับมือร่วมรัฐบาลพรรคก้าวไกล ก็มีท่าทีปรากฏให้เห็นถึงการมีความคิดที่แตกต่างในประเด็นการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ชนะได้รับการเลือกตั้งเป็นลำดับที่สอง ระบุระหว่างการแถลงข่าวว่า จะมีการพิจารณาในเงื่อนไขต่าง ๆ ที่พรรคก้าวไกลเสนอมาใน MOU
“ทุกพรรคการเมืองจะช่วยกันพิจารณาข้อตกลงร่วมกัน หรือ MOU โดยแต่ละพรรคจะไปดูว่าอะไรที่รับได้ และอะไรที่สมควรจะปรับ และอะไรที่เห็นว่ามันไปด้วยกันไม่ได้เลย เช่น กรณีของมาตรา 112” นายแพทย์ชลน่าน กล่าว
“ถ้าเราลงนามใน MOU ร่วมกัน แสดงว่ามันมีข้อตกลงที่เราตกลงสรุปจบแล้ว” นายแพทย์ชลน่าน ระบุถึงฉากทัศน์หากการเจรจาข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาลลงตัวในประเด็นเรื่อง ม.112
ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย เคยระบุว่า การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเรื่องที่ต้องเจรจาในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกลอีกคนหนึ่ง กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า หน้าที่ของพรรคการเมืองคือต้องปกป้องสถาบันกษัตริย์ พร้อมระบุว่า มาตรา 112 ไม่ควรนำไปใช้ในการทำร้ายใคร
“การที่มีผู้มีอำนาจมาใช้ประเด็น 112 ในการกลั่นแกล้ง ทำร้าย บุคคล ต้องมีการนำมาพิจารณา” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
“การจะทำให้ ม.112 ปกป้องสถาบันฯ ได้อย่างดี และไม่เป็นเครื่องมือให้กับใครที่มีอำนาจทำร้ายคนอื่น เป็นสิ่งที่เป็นหลักการ และยืนยันว่าพวกเราปกป้องสถาบันฯ” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวเพิ่มเติม
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แต่ละคนอาจมีจุดยืนที่แตกต่างกัน พรรคไทยสร้างไทยก็มีจุดยืน ซึ่งต้องคุยกันในมาตรานี้ และทุกนโยบายก็ต้องคุยเช่นกัน
การลงนามใน MOU จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 9 ปีแห่งการรัฐประหารนั้น ซึ่งระหว่างนี้ พรรคก้าวไกลจะได้ส่งรายละเอียดให้แต่ละพรรคการเมืองได้ศึกษาทำความเข้าใจก่อนลงนามในวันดังกล่าว
คาดหมายว่า ประเทศไทยจะยังไม่มีนายกรัฐมนตรีภายในสัปดาห์หน้าหรือเดือนหน้า เนื่องจากกฎหมายระบุว่า ต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองผลผู้ได้รับการเลือกตั้งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการเลือกตั้ง จากนั้นจึงจะเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีภายใน 15 วัน
ขณะที่พรรคก้าวไกลพยายามรวบรวมเสียงที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรในการจัดตั้งรัฐบาล ยังมีความเป็นไปได้ว่าอดีตพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่สนับสนุนกองทัพผู้แพ้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา อาจได้กลับมาเป็นรัฐบาลด้วยเสียงสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภา
สถานะนายกรัฐมนตรีของพิธายังไม่แน่นอน
ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม กล่าวว่า การจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาล แม้จะมีแนวโน้มที่ชัดเจนจาก 8 พรรค แต่จำนวนเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี ยังเป็นปัญหาจากสมาชิกวุฒิสภา
“ส.ว. ตอนนี้ส่วนหนึ่งเขาออกตัวเป็นผู้พิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตย จึงกังวลว่าการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลนั้นมีรายละเอียดอย่างไร พรรคก้าวไกลจึงจะต้องเจรจาหนักมากกับสมาชิกวุฒิสภา นอกจากนี้ ยังต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนกับสาธารณะ” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“มีความเป็นไปได้คือพิธาจะถูกแทรกแซงทางการเมืองด้วยการใช้กระบวนการยุติธรรม ทำให้หมดความชอบธรรมในการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และเมื่อพรรคก้าวไกลมีแคนดิเดตนายก เพียงคนเดียว ความชอบธรรมหลังจากนั้นในการจัดตั้งพรรคร่วมฯ จึงเป็นของพรรคเพื่อไทย” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
หนึ่งสัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคก้าวไกล มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทสื่อมวลชน ซึ่งอาจทำให้นายพิธาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
การร้องเรียนในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ที่ทำให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดสภาพ ส.ส. จากการถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ปลายปี 2562
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อต้นปี 2563 เนื่องจากพรรคได้กู้ยืมเงินจากนายธนาธรเพื่อดำเนินกิจกรรม ซึ่งเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้นายพิธาและสมาชิกคนอื่น ๆ ต้องก่อตั้งพรรคก้าวไกลขึ้นมาก่อนการเลือกตั้งปีนี้
“คิดว่ามีโอกาสค่อนข้างเยอะที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อ หากพรรคก้าวไกลทำไม่สำเร็จ แต่มองในแง่ดีก็คิดว่ายังจะเชิญพรรคก้าวไกลกลับมาร่วมด้วย” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าว
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน