ครม. อนุมัติมาตรการช่วยธุรกิจ แรงงาน ประชาชน ช่วงโควิด-19 ระบาด
2021.01.12
ปัตตานี และกรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ผู้ใช้แรงงาน รวมถึงประชาชนทั่วไป ช่วงการระบาดของโควิด-19 แล้ว โดยเตรียมจะจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นเงิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นวลา 2 เดือน มีการให้สินเชื้อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบวงเงิน 2 แสนล้านบาท จากธนาคารแห่งประเทศไทย และให้ใช้น้ำประปา-ไฟฟ้า-อินเตอร์เน็ตฟรี ขณะเดียวกัน หน่วยงานท้องถิ่นหลายแห่งเตรียมจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 สำหรับฉีดให้ประชาชนในพื้นที่เองแล้ว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า กระทรวงฯ จะไม่ห้ามท้องถิ่นในการจัดซื้อวัคซีนเอง เพียงแต่จำเป็นที่ต้องผ่านมาตรฐาน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุม ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ได้อนุมัติแผนช่วยเหลือช่วงโควิด-19 ระบาดเป็นการฉุกเฉินแล้ว โดยจะมีการประชุมรายละเอียดเพิ่มเติม และขออนุมัติ ครม. อีกครั้งในสัปดาห์หน้า
“ผมมีนโยบายให้มีการเยียวยารายได้ให้กับผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ครอบคลุมดังเช่นที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ เกษตรกร ในเบื้องต้นได้พิจารณาวงเงินที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาท ต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตอนนี้ได้สั่งให้กระทรวงการคลัง เร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
“สำหรับเรื่องการดำเนินการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ปัจจุบันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องของธนาคารของรัฐ ยังมีวงเงินเหลืออยู่ ประมาณสองแสนกว่าล้าน และได้ให้กระทรวงการคลังประสานธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วยเหลือในเรื่องหนี้สิน และเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ และประชาชนโดยเร็วนะครับ เช่น สินเชื่อธนาคารออมสิน 10,000-15,000 บาท ต่อราย ดอกเบี้ยต่ำ 0.1-0.35 ต่อเดือน อันนี้ได้มีการหารือกัน ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารของรัฐ และ ธนาคารพาณิชย์ด้วยว่าจะทำยังไงกันต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ครม. อนุมัติให้มีส่วนลดค่าไฟฟ้าตามใบแจ้งหนี้ เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 โดยสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย หากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้ไฟฟ้าฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก หากใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าตามเงื่อนไขกำหนด สำหรับ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก ลดค่าน้ำประปาร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้ง ให้เพิ่มความเร็วและความแรงของอินเทอร์เน็ตบ้าน มือถือ ส่วนโครงการคนละครึ่ง จะมีการพิจารณาให้สิทธิเพิ่มอีก 1 ล้านคน ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564
ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังจะพิจารณาวงเงินช่วยเหลือที่เหมาะสม สำหรับ แรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ และเกษตรกร 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยจะนำเสนอในที่ประชุม ครม. ภายในสัปดาห์หน้า และจะมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องในวงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท อาทิ สินเชื่อธนาคารออมสิน 10,000-15,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1 ถึง 0.35 ต่อเดือน รวมถึงช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม อาทิ ลดหย่อนเงินสมทบนายจ้าง ให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องสำรองเงินไปก่อน พร้อมส่งเสริมการจ้างงานและรักษาระดับการจ้างงาน โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ ทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยลดภาษีที่ดินร้อยละ 90 ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ เหลือร้อยละ 0.01 เร่งรัดการจัดสอบข้าราชการให้เร็วขึ้นกว่าทุกปี เพื่อทดแทนข้าราชการที่เกษียณอายุ
ในวันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 287 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 10,834 ราย หายป่วยแล้ว 6,732 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 4,035 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยังมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 67 ราย
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้องค์การปกครองส่วนท้องถิิ่น หรือโรงพยาบาลเอกชนสามารถจัดซื้อวัคซีนได้เอง อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องขออนุมัติต่อกระทรวงสาธารณสุขก่อน
“รัฐบาลมีมาตรการที่จะนำวัคซีนมาให้บริการกับประชาชน โดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามถ้าท้องถิ่นเขามีงบประมาณ แล้วต้องการที่จะดูแลพี่น้องประชาชน วัคซีนที่ใช้ยังไงก็ต้องเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียน ถ้าท้องถิ่นมีความจำนงที่จะแบ่งเบาภาระรัฐบาล ก็เอารายชื่อมาตรวจกัน” นายอนุทิน กล่าว
โดยปัจจุบัน พบว่า องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นบางแห่งได้แสดงเจตจำนงที่จะจัดซื้อวัคซีน เพื่อฉีดให้ประชาชนในพื้นที่แล้ว เช่น เทศบาลตำบลคลองท่อมใต้ จังหวัดกระบี่ เทศบาลนครแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี หรือเทศบาลนครนนทบุรี โดยนายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ได้ยื่นเรื่องถึงกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอจัดซื้อวัคซีนฉีดให้ประชาชน ในพื้นที่เทศบาลนคร จำนวนประมาณ 2.6 แสนรายแล้ว
“เทศบาลนครนนทบุรี ต้องการ 5.2 แสนโดส ราคาประมาณโดสละ 500 บาท คิดเป็นเงิน 260 ล้านบาท ซึ่งเรามีกำลังจ่ายไหว ก็เป็นเงินของประชาชน ของหลวงนั่นแหละ เราส่งเรื่องถึงกระทรวงสาธารณสุขวานนี้ กระบวนการต่อไปก็เป็น กระทรวงจัดหาวัคซีนให้ แล้วก็รอคำสั่ง ในการซื้อครั้งนี้ เรามีแนวคิดว่า รัฐบาลสามารถจัดซื้อวัคซีนได้แค่ครึ่งเดียวของประชากรทั้งหมด ท้องถิ่นเรามีกำลังเราจะทำแทนรัฐบาล เราก็มาช่วยอีกแรงนึง เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนเพราะ การป้องกันดีกว่าการรักษา เป็นสิ่งที่ต้องทำได้รวดเร็ว” นายสมนึก กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยจากรัฐบาลว่า จะมีการจัดสรรวัคซีนให้กับท้องถิ่นในปริมาณเท่าใด และอย่างไร ก่อนหน้านี้ ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขว่า วัคซีนโควิด-19 ที่จะใช้ในประเทศไทยจากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน อาจจะผ่านการรับรองขององค์การอาหารและยา ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 นี้
"รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณซื้อวัคซีนโควิด 19 จากซิโนแวค กรมควบคุมโรคได้แสดงความต้องการใช้ไปยังองค์การเภสัชกรรมให้ซื้อและเป็นตัวแทนจำหน่าย พร้อมทำเอกสารเพื่อยื่นขึ้นทะเบียน อย.ด้วย เนื่องจากซิโนแวคไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย โดยจะขึ้นทะเบียนให้ได้ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมได้เห็นชอบสำรองงบประมาณในการสั่งซื้อไปก่อน 1 พันกว่าล้านบาท” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงไทยจะพัฒนาวัคซีนของตัวเอง เพื่อที่จะกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ โดยวัคซีน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน มูลค่า 1,228 ล้านบาท จะถูกนำเข้าประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 ใช้ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้สูงอายุ 2 แสนโดส เดือนมีนาคมและเมษายน จะได้รับอีก 8 แสนโดส และ 1 ล้านโดส ตามลำดับ ขณะที่อีก 26 ล้านโดส ซึ่งรัฐบาลได้จองกับบริษัท แอสตราเซเนกา มูลค่า 6,049 ล้านบาท จะมีการส่งมอบในเดือนพฤษภาคม และส่วนที่จัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส โดยยังไม่ระบุมูลค่าสัญญาซื้อขาย จะทยอยอนุมัติและส่งมอบต่อไป ทำให้รวมทั้งหมดไทยนำเข้าวัคซีนทั้งสิ้น 63 ล้านโดส
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนในประเทศต้นทางแล้ว 5 ชนิด คือ 1. วัคซีน บ.ไฟเซอร์ฯ ประเทศสหรัฐอเมริกา/เยอรมนี มีประสิทธิภาพ 95 เปอร์เซ็นต์ 2. วัคซีน บ.โมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา ประสิทธิผล 94.5 เปอร์เซ็นต์ 3. วัคซีน บ.แอสตราเซเนกา ของอังกฤษ/สวีเดน ประสิทธิผล 62- 90 เปอร์เซ็นต์ 4. วัคซีนสปุตนิกวี ของรัสเซีย ประสิทธิผล 92 เปอร์เซ็นต์ และ 5. วัคซีนของสถาบันผลิตภัณฑ์ชีววิทยาปักกิ่ง ของจีน ประสิทธิผล 79 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ วัคซีนของ บ.ซิโนแวค ของจีน ประสิทธิผล 78 เปอร์เซ็นต์ อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน ในประเทศจีน
ด้าน ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังขาดแคลนเลือดสำหรับใช้รักษาผู้ป่วย ในช่วงการระบาดของโควิด-19 จึงเชิญชวนให้ประชาชนไปบริจาคที่สภากาชาด เพราะโรงพยาบาลทั่วประเทศไม่มีเลือดเพียงพอ สำหรับการรักษาพยาบาล ด้วย จำนวนผู้บริจาคลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ หน่วยเคลื่อนที่ยกเลิกการจัดบริจาคโลหิต ทำให้สภากาชาดไม่มีเลือดพอจ่ายให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่บริจาคที่เคยเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงการติดโควิด-19 ให้เฝ้าระวังอาการ 4 สัปดาห์ก่อนการบริจาค และในขั้นตอนการบริจาคต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง