ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทะลุหลัก 1 ล้านราย
2021.08.20
กรุงเทพฯ
ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกินทะลุหลัก 1 ล้านรายแล้ว ตามข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในวันศุกร์นี้ ในขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามซื้อวัคซีนโควิด-19 จากบริษัท ไฟเซอร์ เพิ่มอีก 10 ล้านโดส เป็น 30 ล้านโดส เพื่อเร่งการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน หลังจากได้รับผลกระทบจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้าอย่างรุนแรง โดยจะส่งถึงประเทศไทยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
ตามสไลด์โชว์ที่แสดง ในระหว่างที่ พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงข่าวในวันนี้ พบว่าประเทศไทยผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมแล้ว 1,009,710 ราย นับตั้งแต่พบเชื้อครั้งแรกในเดือนมกราคม 2563 ซึ่ง 97 เปอร์เซ็นต์ในจำนวนผู้ป่วยนี้ ติดเชื้อในระลอกสามตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นมา
“ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,851 มีรายงานยอดผู้เสียชีวิตวันนี้ 240 คน ผู้ที่หายป่วยสะสมตอนนี้ 7.68 แสนกว่าราย ยังมีผู้ที่เข้ารับการรักษา 205,079 ราย อาการหนัก 5 พันกว่าราย ใช้เครื่องช่วยหายใจอีก 1 พันกว่าราย” พญ. อภิสมัย กล่าวแสดงถึงสถานการณ์ที่ยังเป็นภาระหนักของแพทย์ พร้อมทั้งกล่าวย้ำเตือนให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนมีความระมัดระวัง
“มีผู้ได้รับแอสตราเซเนกาเข็มหนึ่ง และติดเชื้อภายใน 2 สัปดาห์ หมายความว่าหลังวัคซีน 2 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันยังไม่ได้เกิดขึ้น ผู้ติดเชื้อ กทม และปริมณฑล แนวโน้มยังค่อนข้างจะคงที่ แม้ฉีดวัคซีนแล้ว แม้แต่ครบสองเข็มแล้วก็ประมาทไม่ได้” พญ. อภิสมัย กล่าว และระบุว่า จากการศึกษาในผู้เสียชีวิตกว่า 4,600 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนถึงเกือบ 64 เปอร์เซ็นต์
ในวันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า ได้เซ็นสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์เพิ่มเติมจากเดิมที่เซ็นสัญญาซื้อ 20 ล้านโดสไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564
“ได้เป็นประธานในพิธีลงนามในการแก้ไขสัญญาเพื่อสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 10 ล้านโดส จากเดิม 20 ล้านโดส เป็น 30 ล้านโดส คู่สัญญาระหว่างอธิบดีกรมควบคุมโรค โดย นพ. โอกาส การย์กวินพงศ์ กับบริษัทไฟเซอร์ โดย Ms. Deborah Seifert (เด็บบราห์ ไซเฟิร์ท) ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทยและอินโดไชนา… สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ มีรายงานว่าจะทยอยส่งให้ประเทศไทย ในไตรมาส 4 ของปี 2564” ข้อความตอนหนึ่ง ระบุ
ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้แล้ว 25,818,666 โดส เป็นผู้ที่ฉีดครบสองเข็ม 5,705,200 ราย และผู้ที่ฉีดเข็มที่สาม 527,457 ราย
ปัจจุบัน รัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 14.7 ล้านโดส รวมรับบริจาค 1.46 ล้านโดส วัคซีนซิโนแวค สั่งซื้อ 13.4 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 7.7 ล้านโดส รวมรับบริจาค 1 ล้านโดส วัคซีนไฟเซอร์ สั่งซื้อ 30 ล้านโดส ยังไม่มีการส่งมอบ แต่ได้รับบริจาคแล้ว 1.5 ล้านโดส ขณะเดียวกัน วัคซีนซิโนฟาร์ม สั่งซื้อโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ส่งมอบแล้ว 5 ล้านโดส และวัคซีนโมเดอร์นา สั่งซื้อโดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ผ่านองค์การเภสัชกรรม 5 ล้านโดส เตรียมส่งมอบปลายปี 2564 ทั้งนี้ มีการส่งมอบแล้ว 28.9 ล้านโดส
ด้าน ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยในการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุขว่า การฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาตามด้วยซิโนแวค ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้รูปแบบนี้เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2564 สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี อิงตามงานวิจัย
“โดยสรุปฉีดไขว้ด้วยซิโนแวค ตามด้วยแอสตราฯ ได้ภูมิสูงกว่าซิโนแวค 2 เข็ม ถึง 3 เท่า สูงกว่าฉีดไขว้ด้วยแอสตราฯ ตามด้วยซิโนแวค 3 เท่า สูงกว่าแอสตราฯ 2 เข็มเล็กน้อย แต่ต่ำกว่าไฟเซอร์ 2 เข็มเพียง 1 เท่า ส่วนการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยแอสตราฯ ได้ภูมิต้านทานสูงกว่ากระตุ้นด้วยซิโนฟาร์ม 4 เท่า สูงกว่าฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม 1.7 เท่า และได้ภูมิต้านทานใกล้เคียงกับผู้ที่หายป่วยด้วยเชื้อเดลตา และเชื้อแอลฟา” ศ.พญ. กุลกัญญา กล่าว
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงานข่าว