ศาลปัตตานีสั่งคุก 4 เดือน อดีตประธานเปอร์มัสร่วมคาร์ม็อบ
2022.11.10
กรุงเทพฯ

ศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษาในวันพฤหัสบดีนี้ ให้จำคุก 4 เดือน แต่รอลงอาญา นายซูกริฟฟี ลาเตะ อดีตสมาชิกเปอร์มัส ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการปราศรัยในกิจกรรมคาร์ม็อบเดือนสิงหาคม 2564 เพื่อเรียกร้องวัคซีนโควิด-19 ด้านเจ้าตัวยืนยัน เห็นว่าสิ่งที่ตนเองกระทำไม่ผิด และกำลังปรึกษาทนายความเพื่อยื่นอุทธรณ์คดี ด้านนักสิทธิชี้คำพิพากษาอาจกระทบการสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลจังหวัดปัตตานี นัดอ่านคำพิพากษา คดีที่ พ.ต.ท. กรกฤษ เกาะยอ สารวัตรสืบสวน สภ.เมืองปัตตานี เป็นโจทก์ฟ้องนายอารีฟีน โสะ, นายสูฮัยมี ลือแบซา และนายซูกริฟฟี เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 จากการทำกิจกรรมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 7 และ 14 สิงหาคม 2564
“ศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 ซูกริฟฟี ลาเตะ มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทั้ง 2 คดี ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน ปรับ 20,000 บาท รวมจำคุก 4 เดือน ปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ส่วนจำเลยอีก 2 คน ศาลยกฟ้อง” ศูนย์ทนายความฯ ระบุผ่านทวิตเตอร์
หลังฟังคำพิพากษา นายซูกริฟฟี เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเองไม่ได้กระทำผิดตามที่ฟ้อง และกำลังปรึกษาทนายความเพื่อต่อสู้คดีในอนาคต
“คิดว่าจะอุทธรณ์ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เราทำไม่ผิด เขาฟ้องว่าผมเป็นผู้จัดการชุมนุมทำให้เกิดการระบาดของโควิด แต่ผมปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวน เพราะเราไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม เป็นแค่คนเข้าร่วม และขึ้นปราศรัยแค่ประมาณ 5 นาที แต่เขาใช้รถผมในการปราศรัย ตอนนั้นผมร่วมกิจกรรม เพราะคิดว่าเรายังไม่มีวัคซีนโควิดที่มีคุณภาพพอ ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยง เราไม่มั่นใจในการทำงานของรัฐบาล แต่เขายกฟ้องคนอื่นเพราะไม่ใช่เจ้าของรถ” นายซูกริฟฟี กล่าว
คดีนี้ หลังจากที่นายซูกริฟฟี และเพื่อนถูกฟ้องในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ต่อมาอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในวันที่ 25 มีนาคม 2565 ในข้อกล่าวหาว่า 1. ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคน 2. ไม่สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหสถาน
และ 3. ร่วมกันชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยศาลได้สืบพยานทั้ง 2 คดีไปพร้อมกัน ในวันที่ 6-7 กันยายน 2565 เนื่องจากมีพยานและหลักฐานเหมือนกัน ซึ่งจำเลยทั้ง 3 รายให้การปฏิเสธในชั้นศาล และศาลมีคำพิพากษาลงโทษในวันพฤหัสบดีนี้
ในวันพุธที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, ฮิวแมนไรท์วอทช์, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิมนุษยชน รวม 24 องค์กร ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย เพื่อขอให้ช่วยเรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ต่อนักกิจกรรม
เนื่องจาก ศูนย์ทนายฯ มีข้อมูลว่า ตั้งแต่พฤษภาคม 2563-กันยายน 2565 มีผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดี 1,468 คน ใน 661 คดี ในจำนวนนั้นเป็นเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 ปี 241 คน ใน 157 คดี แต่เพียงหนึ่งวันให้หลัง ศาลกลับมีคำพิพากษาลงโทษ เพราะฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกมา
“คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด ยังต้องดำเนินต่อไป แม้สถานการณ์โควิดที่เป็นเหตุในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นสามารถควบคุมได้แล้ว และได้มีการยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วก็ตาม พวกเราเห็นว่ารัฐบาลไทยควรถอนฟ้อง มีคำสั่งไม่ฟ้อง และไม่ตั้งข้อกล่าวหาเพิ่ม ด้วยเหตุผล มาตรการบางมาตรการไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ผู้ถูกดำเนินคดีใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสงบ สร้างภาระที่ไม่จำเป็นแก่กระบวนการยุติธรรม” จดหมายเปิดผนึก ระบุ
น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลไทยควรยุติการดำเนินคดีฝ่าฝ่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมดต่อนักกิจกรรมที่ชุมนุมอย่างสันติ และควรเคารพการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพ
“ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงมากกว่าพื้นที่อื่นในไทยด้วย กฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงฯ อยู่แล้ว การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโควิดฯ ดำเนินคดีกับนักกิจกรรม จึงเป็นการกดทับกดขี่ด้วยกฎหมายกับประชาชนที่นี่ทับซ้อนไปอีก ซึ่งไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำพิพากษาลงโทษในคดีการเมือง อาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และระบบตุลาการ ซึ่งไม่เป็นผลดี” น.ส. พรเพ็ญ กล่าว
นายซูกริฟฟี ในอดีตเคยเป็นประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนปาตานี (Persekutuan Mahasiswa Sempadan Selatan Thai - PerMAS) ซึ่งภายหลังได้ประกาศยุติบทบาทในปี 2564 และต่อมาเป็นสมาชิกกลุ่มเดอะ ปาตานี (The Patani) เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในการแสดงอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
พล.อ. ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และขยายประกาศดังกล่าว 19 ครั้ง ครอบคลุมระยะเวลากว่า 2 ปี ก่อนจะยกเลิกประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565
กระแสการต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงในทั่วประเทศกว่าพันครั้ง เมื่อนับถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2565 มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 1,864 คน