ศบค. เริ่มคลายล็อกเปิดห้าง-ร้านอาหาร กันยายนนี้ แต่ยังคงเคอร์ฟิว
2021.08.27
กรุงเทพฯ

ที่ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติในวันศุกร์นี้ ให้คลายมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยให้เปิดห้างสรรพสินค้าทุกแผนก และรับประทานอาหารในร้านอาหารได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงควบคุมเวลาออกจากเคหสถาน ในพื้นที่สีแดง 29 จังหวัด โดยจะเริ่มบังคับใช้มาตรการใหม่นี้ในต้นเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นไป
พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า มาตรการผ่อนคลายจะใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ชายแดนภาคใต้ และอื่น ๆ รวม 29 จังหวัด อนุญาตให้เดินทางไปต่างจังหวัดในกรณีมีเหตุจำเป็น แต่ยังห้ามออกจากเคหสถาน ระหว่างเวลา 21.00-04.00 น.
“วันนี้ มีการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ มีการปรับมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติที่สุด... ร้านอาหาร ถ้ามีพื้นที่โล่ง มีการระบายอากาศ อนุญาตให้นั่งได้ 75 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีเครื่องปรับอากาศนั่งได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ห้างเปิดกิจการได้อย่างมีเงื่อนไข เปิดบริการได้ถึง 2 ทุ่ม สถานศึกษายังไม่เปิดเรียน” พญ. อภิสมัย กล่าว
พญ. อภิสมัย ระบุว่า กิจการที่ยังไม่อนุญาตให้เปิดบริการคือ สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์สปา สวนสนุก สวนน้ำ ฟิตเนส ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ ห้องจัดประชุม-จัดเลี้ยง โดยมาตรการต่าง ๆ จะมีการกำกับติดตาม โดยสภาหอการค้าไทย และ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร
ในวันศุกร์นี้ พบผู้ติดเชื้อใหม่ 18,702 ราย คิดเป็นยอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 ที่ 1,139,571 ราย แต่ยังรักษาตัวอยู่ 185,200 ราย และเสียชีวิตเพิ่มเติม 273 ราย ทำให้มียอดเสียชีวิตรวม 10,493 ราย
องค์การเภสัชกรรมสั่งชุดทดสอบเร่งด่วน
ด้าน นพ. วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ที่จะถึงนี้ อภ. จะลงนามจัดซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit -ATK) ของบริษัท ออสท์แลนด์ 8.5 ล้านชุด เพื่อส่งให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโรงพยาบาลราชวิถี ได้ใช้งานเพื่อช่วยให้มีความสะดวกในการระมัดระวังการแพร่เชื้อ
อภ. จะซื้อจากผู้นำเข้า คือ บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) จำกัด และ บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ซึ่ง ATK ของบริษัทนี้ ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ยังไม่ผ่านมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO)
นอกจากนั้น ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ซึ่งมอบอำนาจให้ มธ. สามารถนำเข้ายา และวัคซีน เพื่อใช้รักษาและป้องกันโควิด-19 แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่า มธ. จะจัดซื้อหรือนำเข้าอย่างไร
ณ วันศุกร์นี้ ประเทศไทยมีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 29,504,769 โดส เป็นผู้ที่ได้รับครบสองเข็ม 6,860,084 ราย และ ผู้ที่ได้รับเข็มที่สาม 574,112 ราย
หลังจากที่ประเทศไทยประสบกับการระบาดระลอกสามเมื่อเดือนเมษายน ปีนี้ มียอดผู้ติดเชื้อกว่า 1.1 ล้านคน ในช่วงเวลาเพียงสี่เดือน และยังพบไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่กระจายได้ง่าย ทำให้รัฐบาลอังกฤษ ได้ประกาศปรับสถานะประเทศไทยไปอยู่ในบัญชีกลุ่มประเทศเสี่ยงสูง (Red list) ตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2564 ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศอังกฤษ ต้องกักตัวในโรงแรมที่รัฐบาลอังกฤษกำหนด 10 คืน ก่อนเดินทางเข้าประเทศอังกฤษ และต้องจองโรงแรมล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์
ไผ่ ดาวดิน ติดโควิด-19
นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยผ่านจดหมายข่าวว่า ปัจจุบัน มีผู้ต้องหาทางการเมืองซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ติดโควิด-19 รวม 7 ราย โดยนายจตุภัทร์ซึ่งถูกควบคุมตัวในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 หลังเข้ามอบตัวในคดีสาดสีที่หน้า สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ถือเป็นรายล่าสุด
“(วันนี้) มีผลเป็นบวก 1 ราย คือ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน โดยในส่วนของนายจตุภัทร์ ขณะถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ได้ทำการดึงสายกล้องวงจรปิด จนทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหาย จำนวน 2 ครั้ง และขณะนี้ได้ดำเนินการส่งตัวเพื่อเข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว” ตอนหนึ่งของจดหมายข่าว ระบุ
นายธวัชชัย ระบุว่า นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายพรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า, นายสิริชัย นาถึง หรือนิว, นายแซม สาแมท, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และนายชาติชาย แกดำ ซึ่งมีรายงานว่าติดเชื้อก่อนหน้านี้ ทั้งหมดยังมีอาการไม่น่าเป็นห่วง รู้สึกตัวดี และช่วยเหลือตัวเองได้
ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างน้อย 10 ราย ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำธัญบุรี โดยก่อนหน้านี้ แกนนำการชุมนุม อาทิ นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ (ติดซ้ำ), นายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน เคยได้รับการยืนยันว่าติดโควิด-19 ระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำ
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน