ราชทัณฑ์เผย ผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษ-ทัณฑสถานหญิงกลาง ติดโควิดกว่า 2.8 พันราย

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.05.12
กรุงเทพฯ
ราชทัณฑ์เผย ผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษ-ทัณฑสถานหญิงกลาง ติดโควิดกว่า 2.8 พันราย น.ส. ภาณุสยา หรือ รุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล (กลาง) ยืนอยู่ข้างประตูเรือนจำกรุงเทพฯ ระหว่างรอผลการพิจารณาประกันตัวแกนนำผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตย 3 คน ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564
เอเอฟพี

ในวันพุธนี้ กรมราชทัณฑ์เปิดเผยว่า ผู้ต้องขังภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมกันกว่า 2.8 พันคน หลังจากที่ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎรที่เพิ่งได้ประกันตัวออกจากทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เปิดเผยว่า ผลการตรวจเชื้อปรากฏว่าตนเองติดโควิด-19

กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยข้อมูลผ่านจดหมายข่าว เพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าว หลังถูกสื่อมวลชนสอบถามว่า รุ้งติดเชื้อจากเรือนจำหรือไม่ รวมทั้งเรื่องการติดเชื้อในกลุ่มนักโทษ โดยระบุว่า ราชทัณฑ์ มีมาตรการเชิงรุกโดยการตรวจผู้ต้องขัง และเจ้าหน้าที่ ไปแล้วกว่า 1.7 หมื่นครั้ง และจะสามารถควบคุมการระบาดได้ แต่ไม่ได้ตอบเรื่องรุ้งโดยตรง แต่จะมีการชี้แจงเพิ่มเติมในวันพฤหัสบดีนี้

“กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจเชิงรุก เจ้าหน้าที่ และผู้ต้องขัง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของเรือนจำ-ทัณฑสถาน ที่พบการติดเชื้อ ได้แก่ ทัณฑสถานหญิงกลาง มียอดผู้ติดเชื้อรวม 1,040 ราย และเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร มียอดผู้ติดเชื้อรวม 1,798 ราย ซึ่งทุกรายอยู่ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หากในบางรายมีอาการหนักจะได้มีการย้ายออก เพื่อรับการรักษายังโรงพยาบาลภายนอก” กรมราชทัณฑ์ เปิดเผย

ตัวเลขกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ณ เดือนพฤษภาคม 2564 มีผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 3,274 คน และในทัณฑสถานหญิงกลาง 4,485 คน

“กรมราชทัณฑ์ได้ป้องกันอย่างเต็มที่ด้วยมาตรการเชิงรุก คือ แยกกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่อย่างน้อย 21 วัน พร้อมตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง ก่อนผู้ต้องขังพ้นระยะแยกกักโรค ซึ่งการตรวจพบการติดเชื้อของผู้ต้องที่ผ่านมา ถือว่าเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ… เชื่อว่ามาตรฐานการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์กับกระทรวงสาธารณสุขจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ไม่ขยายตัวไปสู่วงกว้างได้” ตอนหนึ่งของจดหมายข่าวระบุ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 เรือนจำจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า มีผู้ต้องขัง 116 ราย ติดเชื้อโควิด-19 และหลังจากนั้นทำให้มีผู้ต้องขังเสียชีวิตจากโควิด-19 รวม 3 ราย

ในตอนเช้าวันเดียวกันนี้ น.ส.ปนัสยา เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ตนเองเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยหลังจากออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 6 แล้ว ตนได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลพระราม 9 และอยู่ที่บ้านมาโดยตลอด กระทั่งเข้ารับการตรวจโควิด-19 ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 และไปที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอการปล่อยตัวของแกนนำคณะราษฎร ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ก่อนได้รับการยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อในวันที่ 12 พ.ค. นี้

“หลังจากที่ออกจากทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา หนูเพิ่งได้รับทราบผลตรวจโควิด และพบว่าหนูติดเชื้อค่ะ กำลังเข้ารับการรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์ทันที และตอนนี้หนูได้แจ้งคนที่ใกล้ชิดหนูทุกคนแล้วค่ะ หนูขอโทษทุกคนที่ได้มาสัมผัสหรือใกล้ชิดหนูจริง ๆ นะคะ หนูไม่คิดว่าตัวเองจะติดเลย เพราะไม่มีอาการ จนช่วงค่ำของเมื่อคืน และเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อทุกคนหนู” น.ส.ปนัสยา ระบุ

ก่อนหน้านี้ นายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน, นายอานนท์ นำภา และ นายปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือ พอร์ท ไฟเย็น ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ต้องขังจากคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้รับการยืนยันจากกรมราชทัณฑ์ว่า เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19

ภาคประชาชนขอให้กระทรวงยุติธรรม แก้ไขปัญหาโควิดในเรือนจำ

ในวันเดียวกัน ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ออกหนังสือเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แก้ปัญหาโควิด-19 ในเรือนจำต่าง ๆ

“ภาคีฯ เห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพนั้น อยู่ในภาวะน่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากสภาพแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว” ตอนหนึ่งของหนังสือ ดังกล่าว ระบุ

โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อโดยสรุปคือ 1. จัดทำข้อมูล และแถลงจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเป็นระบบโดยเร่งด่วน และเปิดเผยแนวทางการแก้ไขสถานการณ์และการรักษา 2. หาความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเข้าสู่เรือนจำ และ 3. เร่งแก้ไขการแพร่ระบาดในเรือนจำ ด้วยการปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปชั่วคราว

โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลเเนล ประเทศไทย ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานประธานศาลฎีกา เรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อพิจารณาจัดสรรมาตรการที่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังเเละนักโทษในภาวะที่มีโรคระบาด เพื่อลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำ และดำเนินการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน

รัฐบาลปรับแผนจัดหาวัคซีนเพิ่มเป็น 150 ล้านโดส

เมื่อวันอังคารนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เสนอให้การจัดหาวัคซีนต้านโควิดเป็นวาระแห่งชาติ

“ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ผมได้เสนอให้การฉีดวัคซีน เป็นวาระแห่งชาติ ที่จะต้องดำเนินการอย่างครบวงจร ทั้งการจัดหา การกระจาย ไปจนถึงการฉีดด้วยเพื่อที่จะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศไทยของเรา สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนั้นจะเป็นไปไม่ได้เลย หากพี่น้องประชาชนไทยของเราไม่มาเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันอังคารที่ผ่านมา

และในวันพุธนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 2 /2564 มีมติเห็นชอบเพิ่มการจัดหาจำนวนวัคซีนโควิด-19 อีก 50 ล้านโดส โดยจะเร่งเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมการกลายพันธุ์ โดยจะเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้รวดเร็วที่สุด ใน 3 แนวทาง

“1. การเพิ่มจำนวนวัคซีนจากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ 100 ล้านโดสเป็น 150 ล้านโดส 2. การเร่งทำงานเชิงรุกเพื่อเจรจากับผู้ผลิตหลายรายมากขึ้น เพิ่มโอกาสในการได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น และ 3. การปรับแนวทางการฉีดวัคซีน โดยเร่งปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนจำนวนมากที่สุด ช่วยลดโอกาสรับเชื้อ ลดความรุนแรงและการเสียชีวิต ดังนั้น จึงต้องลดอุปสรรคการเข้าถึงวัคซีน จึงให้มีการเข้าถึงทั้งรูปแบบการนัดผ่านหมอพร้อม ผ่านองค์กรต่าง ๆ ที่นำบุคลากรมาฉีดเป็นกลุ่ม และการเดินเข้ามารับวัคซีน ดำเนินการทั่วประเทศ โดยจังหวัดไหนพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยผ่านเว็บไซต์รัฐบาลไทย

ยอดเสียชีวิตรายวัน ทำสถิติใหม่วันนี้ที่ 34 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในวันนี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิต ที่ขึ้นสูงมากวันนี้ถึง 34 คน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสม อยู่ที่ 486 คน มีผู้ป่วยเพิ่ม 1,983 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 88,907 ราย มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ 29,378 ราย

“ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ผู้ป่วยหนักไม่ลดลงเลย มีทิศทางที่ยังพุ่งขึ้นอยู่ตลอด ยังน่าเป็นห่วง รายงานล่าสุดอยู่ที่ 1,226 ราย เรามีผู้ป่วยหนักมากขึ้น ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจก็เพิ่มจำนวนขึ้น และทำให้ยอดผู้เสียชีวิตมีทิศทางที่ค่อนข้างจะขึ้นเช่นกัน” พญ.อภิสมัย กล่าว

พญ.อภิสมัย ระบุว่า ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 1,935,565 โดส เป็นเข็มแรก 1,372,013 คน เข็มที่ 2 อีก 563,552 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง