ยอดตัวเลขนักโทษติดโควิดรายวันพุ่งสูงถึง 6,853 คน
2021.05.17
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

ในวันจันทร์นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงว่า ทางกระทรวงฯ ได้เร่งดำเนินการตรวจเชื้อในผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่เรือนจำ และเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นของกรมราชทัณฑ์ทุกคน หลังจากที่วันนี้ ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยยอดนักโทษติดเชื้อเพิ่มเกือบ 7,000 คน ทำให้ยอดติดเชื้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 9,635 ราย ในห้วงเวลา 24 ชั่วโมง
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ได้แถลงข่าวชี้แจงถึงแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหา นับเป็นการแถลงต่อเนื่องหลังจาก น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎรที่เพิ่งได้ประกันตัวออกจากทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เปิดเผยว่า ตนเองติดเชื้อโควิด-19
ในวันนี้ นายสมศักดิ์ ระบุว่า จะดำเนินการ 10 ประการ เพื่อแก้ไขปัญหารวมทั้งการตรวจเชิงรุก และจะเปิดเผยข้อมูลตัวเลขโดยไม่ปิดบัง
“หนึ่ง ให้แถลงจำนวนผู้ต้องขังที่ได้ตรวจเชิงรุกไปแล้ว มีจำนวนเท่าไร สอง ตรวจเชิงรุกให้ครบทุกเรือนจำ ทั้งผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่เรือนจำและเจ้าหน้าที่ส่วนกลางทุกคน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูง ของกรมราชทัณฑ์ทุกคน 55,000 คน” นายสมศักดิ์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
ในมาตรการอื่นที่สำคัญนั้น ประกอบด้วยการจัดหาวัคซีน เพื่อฉีดให้กับผู้ต้องขังและผู้คุมที่ยังไม่ติดเชื้อ ในทุกเรือนจำอย่างเร่งด่วน การหาที่มาของเชื้อและสาเหตุการติดเชื้อในครั้งนี้ การรักษาและการเฝ้าดูอาการคนไข้จะทำตลอดเวลา และการประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาวิธีการรักษาที่เร็วและได้ผลดีที่สุด โดยใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ และการใช้สมุนไพรไทย เช่น ฟ้าทะลายโจร เข้าช่วยรักษา ในขณะที่รอดูอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในระดับสีเขียวที่ติดเชื้อแต่ยังไม่มีอาการ และคนระดับสีเหลืองที่กำลังเริ่มมีอาการ
ด้าน นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวในการแถลงข่าวแยก โดยได้ระบุว่า กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังควบคุมดูแลอยู่ จำนวนทั้งสิ้น 311,540 คน และมีเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง
“ขณะนี้เราพบว่า เรือนจำทั่วประเทศ มีประมาณสัก 15 แห่ง ที่มีผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด ซึ่งกำลังดำเนินการแก้ไข ส่วนอีกร้อยกว่าแห่งที่เหลือ กำลังได้ดำเนินการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ ที่ติดเชื้อก็จะเร่งรักษาให้ได้... สั่งให้ ผบ.เรือนจำไปหาผู้ต้องขังที่อาจจะมีน้ำมูก ไอ หรือหายใจติดขัด ไปเอาออกมาเช็คก่อนเลย เพื่อให้รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ แล้วก็ให้เรือนจำที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อประสานกับสาธารณสุขจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัด มาตรวจโควิดในเรือนจำให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์” นายอายุตม์ กล่าว
ประชาชน-ผู้เชี่ยวชาญ : รัฐสร้างความเข้าใจไม่ดีพอ
ประชาชนและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลไทยไม่ได้ดำเนินการที่ดีเพียงพอ ในการสร้างความเชื่อมั่นต่อการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ประเทศไทยได้รับมาจำนวนหนึ่งแล้ว ในขณะนี้ จึงทำให้ยังมีผู้ลงทะเบียนขอรับการฉีดวัคซีนมีอัตราต่ำอยู่
แม้ว่ายอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จะพุ่งขึ้นเกือบห้าเท่าตัว ในห้วงเวลาเพียงหนึ่งเดือนครึ่ง หลังเกิดการระบาดระลอกที่สามจากสถานบันเทิง ในกรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ทางการไทยได้ทยอยรับการส่งมอบวัคซีนมากขึ้น และมีแผนจะให้บริการฉีดวัคซีนฟรีแก่ประชาชนไทยและชาวต่างชาติ ราว 75 ล้านคน แต่ดูเหมือนมันยังไม่ได้กระตุ้นให้ประชาชนมีความตื่นตัวในขอรับวัคซีนมากขึ้นเท่าที่ควร
“ผมจะไม่ฉีดซิโนแวค กับแอสตราเซเนกา เพราะเข้าใจว่าวัคซีนทุกตัวมีผลข้างเคียงทั้งหมด แต่เห็นว่าไหน ๆ จะต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงแล้ว ถ้าต้องมาเสี่ยงกับประสิทธิภาพการป้องกันโรคที่ต่ำอีก ขอรอวัคซีนที่มีประสิทธิภาพป้องกันสูง ๆ เช่น ไฟเซอร์ ดีกว่า” นายอัครวุฒิ พุ่มเชื้อ พนักงานบริษัท อายุ 35 ปี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ถึงเหตุผลที่ยังรีรอในการขอรับวัคซีน
นายอัครวุฒิ อ้างถึงข้อมูลที่ว่า วัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ที่มีการรายงานว่ามีประสิทธิภาพ 95 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับแอสตราเซเนกา (แบบ Adenovirus) และชิโนแวค (แบบ Inactivated ใช้เชื้อตาย) ที่มีการรายงานประสิทธิภาพที่ 79 และ 50 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
ด้าน น.ส. ธัชชนก สัตยวินิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์เเละนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์สุขภาพ เผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นในตัวของรัฐบาล
“ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลไม่ตรงไปตรงมา มีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบ่อยครั้ง จนทำให้ความมั่นใจในเรื่องสาธารณสุขของประชาชนลดลงไปเรื่อย ๆ และไม่น่าแปลกใจที่จะส่งผลกับความคิดเรื่องวัคซีนว่าทั้ง 2 ยี่ห้อที่รัฐบาลอนุมัติ และใช้อยู่นั้นจะไม่มีคุณภาพตามไปด้วย”
“การสื่อสารของรัฐ มีปัญหามาก ๆ ประกอบกับการที่แพทย์ซึ่งทำงานร่วมกับรัฐบาล มักจะกล่าวโทษประชาชนอยู่บ่อยครั้ง เรื่องของการป้องกันทางสาธารณสุข ยิ่งทำให้ความร่วมมือระหว่างประชาชนกับรัฐลดลงไปอีก” น.ส. ธัชชนก กล่าว
ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า เหตุผลที่ประชาชนลงทะเบียนจองคิวรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 น้อยในช่วงแรกอาจเพราะยังไม่คุ้นชินกับการใช้แอปพลิเคชัน และความกังวลที่เกิดจากข่าวปลอม
“ตัวเลขผู้จองฉีดวัคซีน อาจจะยังน้อยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด อาจเพราะยังไม่คุ้นเคยกับแอปพลิเคชัน และก่อนหน้านี้อาจได้รับข่าวที่ไม่ถูกต้อง เฟคนิวส์ ทำให้เกิดความสับสน ซึ่งรัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาแล้ว โดยแพทย์ก็พยายามออกมาให้ข้อมูล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ก็เข้าไปให้ความรู้ เรื่องการลงทะเบียน และคนที่รับการฉีดไปแล้ว ก็ออกมาเปิดเผยว่า ไม่มีผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ ก็เชื่อว่าตัวเลขผู้จองคิวฉีดวัคซีนจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ” นายอนุชา กล่าว
“แนวทางของรัฐบาลคือ พยายามประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความสบายใจ โดยใช้แคมเปญว่า วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ผ่านการรับรอง และสามารถฉีดได้อย่างเร็วที่สุด รัฐบาลจะดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลให้มากที่สุด และดำเนินการกับข่าวปลอม หรือคนที่เผยแพร่ข่าวปลอม เช่น การดำเนินคดี”
“อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยอดจองคิว 6 ล้านคน ก็ถือว่าสอดคล้องกับวัคซีนที่จะเข้ามาในเดือนมิถุนายนแล้ว ส่วนเดือนถัด ๆ ไปก็เชื่อว่าจะมีคนลงทะเบียนเพิ่มขึ้น” นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติม
วิกฤตความเชื่อมั่นต่อตัววัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย เกิดขึ้นเนื่องจากมีผู้เสียชีวิตจากอาการเลือดแข็งตัว หลังได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ประเทศ ในยุโรป เอเชีย และแอฟริกา และมีระงับการฉีดวัคซีนเป็นการชั่วคราว ส่วนวัคซีนซิโนแวค มีรายงานว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 6 ราย ในจังหวัดระยอง มีอาการชา และแขน-ขาอ่อนแรง คล้ายอัมพฤกษ์ชั่วคราว แม้ว่าอาการจะหายได้ หลังจากได้รับการรักษาโดยแพทย์
นับตั้งแต่การพบการติดเชื้อไวรัสในนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนจากอู่ฮั่น ในเดือนมกราคม 2563 ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2564 มีผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 เพียง 94 ราย และมีผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 28,868 ราย แต่หลังจากเกิดการระบาดระลอกที่สาม นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา จากกลุ่มนักเที่ยวกลางคืนและพนักงานบริการหญิงในสถานที่บันเทิงย่านทองหล่อ และแห่งอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ รัฐบาลถูกตำหนิอย่างรุนแรงถึงการดำเนินมาตรการป้องกันที่หย่อนยาน และความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ
ในห้วงเวลาเพียงแค่หนึ่งเดือนครึ่งหลังจากนั้น ไทยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 614 ราย จากเดิมที่มีเพียง 94 ราย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 ซึ่งล่าสุดในวันนี้ มีผู้ติดเชื้อสะสม 111,082 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ในเรือนจำกว่าพันราย ในแต่ละวัน และมีผู้ป่วยหนักถึง 1,226 ราย และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจถึง 400 ราย ในปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนว่า หากการระบาดของเชื้อที่รวมสายพันธุ์ใหม่ เช่น สายพันธุ์อังกฤษ และสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ยังคงรุนแรง อาจจะทำให้ระบบสาธารณสุขของรัฐรับมือไม่ไหว และได้เรียกร้องให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีน โดยระบุว่า วัคซีนจะช่วยให้อาการป่วยไม่รุนแรง และลดความเสี่ยงที่ปอดจะถูกทำลายด้วยไวรัส
อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนได้เพียง 2,264,308 โดส หรือประมาณ 1.4 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร ทำให้ไทยรั้งอยู่ในเป็นอันดับหก เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน เป็นรองสิงคโปร์ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว และมาเลเซีย ขณะที่มีประชาชนจองคิวฉีดวัคซีนทั้งประเทศ 6,389,930 ราย
การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ อนุมัติวัคซีนวอล์คอิน
เมื่อวันอังคาร สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี บรรจุเรื่องการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ
ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าจะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 รวม 150 ล้านโดส เพื่อให้เพียงพอสำหรับฉีดให้กับประชาชนไทย และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวม 75 ล้านคน โดยได้วางเป้าหมายกลุ่มเป้าหมายแรก ในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จำนวน 16 ล้านคน และล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้อนุมัติการให้บริการฉีดวัคซีนแบบไม่ต้องจองคิว หรือวอล์คอิน ซึ่งจะเริ่มในเดือนมิถุนายนนี้อีกด้วย โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าให้แต่ละจังหวัดต้องฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องหาทางแก้ไขปัญหาความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีน เพราะแม้จะรณรงค์เพียงใด ปัจจุบัน การจองคิวฉีดวัคซีนยังถือว่าห่างจากจำนวน 16 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายแรก (ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง) ที่รัฐบาลตั้งไว้อยู่มาก
ปัจจุบัน รัฐบาลเปิดเผยว่า ได้เซ็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 แล้วกับ 2 บริษัท คือ บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ประเทศจีน 6 ล้านโดส แบ่งเป็นนำเข้ารอบแรก 2 ล้านโดส มูลค่า 1,228 ล้านบาท สั่งซื้อเพิ่มเติมอีก 3.5 ล้านโดส และประเทศจีนบริจาคให้ 5 แสนโดส ซึ่งนำเข้ามาแล้ว 3.5 ล้านโดส และเตรียมจะนำเข้ามาภายในเดือนพฤษภาคม 2564 อีก 2.5 ล้านโดส
บริษัท แอสตราเซเนกา ประเทศสวีเดน-อังกฤษ 61 ล้านโดส จะทยอยจัดส่งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 2564 การสั่งซื้อแบ่งเป็นล็อต 26 ล้านโดส มูลค่า 6,049 ล้านบาท และล็อต 35 ล้านโดส มูลค่า 6,387 พันล้านบาท โดยวัคซีนของแอสตราเซเนกาบางส่วนจะผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
ขณะเดียวกันมีการเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยกำลังเจรจาเพื่อนำเข้าวัคซีนจากบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา 10-20 ล้านโดส ซึ่งกำลังรอการทำเอ็มโอยู และสปุตนิก วี จากประเทศรัสเซีย 10 ล้านโดสด้วย