สธ. เสนองดออกจากเคหสถาน-เดินทางข้ามจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงสูง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.07.08
สธ. เสนองดออกจากเคหสถาน-เดินทางข้ามจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงสูง เจ้าของแผงหนังสือริมถนนข้าวสาร ยืนรอลูกค้าท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบเหงาเพราะเหตุโควิด-19 ระบาด วันที่ 8 เมษายน 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในวันพฤหัสบดีนี้ โดยให้ประชาชนงดการออกจากเคหสถานถ้าไม่จำเป็น และห้ามเดินทางข้ามจังหวัด อย่างน้อย 14 วัน หลังจากที่ในวันเดียวกันนี้ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น 7,058 ราย และผู้เสียชีวิตใหม่ 75 ราย นับเป็นการทำสถิติสูงสุดทั้งสองหมวดหมู่

นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สธ. ได้เสนอมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มข้นต่อที่ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แล้ว โดยจะมีการประกาศมาตรการจริง หลังการพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรี 

“ยกระดับมาตรการทางสังคมให้กับ ศบค. ที่สำคัญเรื่องการจำกัดการเดินทาง อยากให้ทุกคนอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ ไม่ออกจากเคหสถานโดยไม่จำเป็น นอกจากไปหาซื้ออาหาร พบแพทย์ ฉีดวัคซีน ที่สำคัญจะเสนอให้ห้ามเดินทางข้ามระหว่างจังหวัดต่อไป ปิดสถานที่เสี่ยง ที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เหลือเปิดไว้ เช่น ตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ต” นพ. เกียรติภูมิ กล่าว 

นพ. เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า จะให้งดการเดินทางในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการระบาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้สามารถผ่านการระบาดนี้ไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งมาตรการนี้น่าจะมีความเข้มข้นไม่น้อยกว่าช่วงเมษายน 2563 อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดในมาตรการที่จะมีขึ้น จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนจะประกาศบังคับใช้จริง ซึ่งน่าจะพิจารณาได้ในวันศุกร์นี้ 

การเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการควบคุมโควิด-19 ครั้งนี้ สืบเนื่องจากประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,058 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 75 ราย ซึ่งถือว่าเป็นการติดเชื้อและเสียชีวิตในหนึ่งวันที่มากที่สุดของประเทศไทย ขณะที่มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ 69,619 ราย ในนั้นเป็นอาการหนัก 2,564 ราย สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 11,619,618 โดส เป็นผู้ฉีดครบสองเข็มแล้ว 3,125,388 ราย 

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนเมษายน 2563 รัฐบาลเคยห้ามเดินทางออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ปิดห้างสรรพสินค้า และสถานที่อื่นๆ ที่อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยมีการเอาผิดผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวด้วย 

ด้าน พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ระบุในการแถลงข่าวว่า หากประชาชนมีความประสงค์จะเดินทางข้ามจังหวัดจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด 

“ไม่มีคำว่าล็อกดาวน์ เพียงแต่เสนอมาตรการ คนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาต้องไปโดยรถส่วนตัวเท่านั้น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีการลดกระจกเพื่อระบายอากาศเป็นระยะ เตรียมหน้ากากอนามัย เจลอนามัยให้เพียงพอ... เมื่อไปถึงจังหวัดบุคลากรสาธารณสุขต้องรู้ ต้องแยกกัก ต่อให้ไม่มีผลยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อ” พญ. อภิสมัย กล่าว 

พญ. อภิสมัย ยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า ศบค. กำลังพิจารณาแนวทางของการกักตัวที่บ้าน แต่จะดำเนินการเฉพาะผู้ป่วยที่มีความพร้อม และมีอาการไม่รุนแรง ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขจะเปลี่ยนวิธีการตรวจหาโควิด-19 รูปแบบใหม่เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว หลังจากที่ผ่านมามีผู้รอตรวจหาเชื้อเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันจะเร่งมาตรการฉีดวัคซีนให้กับแคมป์คนงานก่อสร้าง เพื่อลดตัวเลขผู้ติดเชื้อด้วย 

กรมสุขภาพจิตเผยคนไทยเครียดและสิ้นหวังมากขึ้น 

พญ. พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต​ เปิดเผยในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ประจำปี 2564 ว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจคนไทยมาก 

“การระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน (2564) ส่งผลต่อภาวะด้านจิตใจของประชาชน ทั้งความเครียด ความกังวล ความหมดหวังและรู้สึกอ่อนล้า จนบางคนมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงและสีส้ม ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าพื้นที่อื่น จนถึงขณะนี้สถิติของผู้ที่อยู่ในภาวะความเครียดยังไม่มีทีท่าลดลง ต่างกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 เดือนก็ลดลงแล้ว” พญ.พรรณพิมล กล่าว 

ขณะที่ นายภูริพงศ์ สุทธิโสภาพันธ์ ผู้ประกอบการร้านอาหาร อายุ 36 ปี เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า สภาพเศรษฐกิจ และมาตรการป้องกันโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของตนเองอย่างมาก 

“มีประกาศห้ามขายแอลกอฮอล์มาแล้ว 4 ครั้ง และห้ามกินอาหารในร้าน รวมระยะเวลาแล้วหลายเดือน ยอดขายผมหายไประดับ 7 หลัก ไม่มีรายได้ ต้องเอาเงินเก็บออกมาใช้... ทำให้ช่วงหลังรู้สึกนอนไม่หลับ เพราะเครียดกับสถานการณ์ร้าน คิดว่าถ้ามีการปิดยาวนานกว่านี้ เราแย่แน่” นายภูริพงศ์ กล่าว 

ทั้งนี้ พญ. พรรณพิมล ระบุว่า การแก้ปัญหากรมสุขภาพจิตจะแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ และให้เจ้าหน้าที่ลงดำเนินการประเมินสภาพจิตใจ ให้คำปรึกษา และให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิต ช่วงการระบาดต่อไป 

กรมสุขภาพจิตยังเปิดเผยว่า อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยหลังโควิด-19 ระบาดปี 2563 คือ 7.37 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ถือว่าสูงขึ้น ถ้าหากเทียบกับปี 2562 ซึ่งยังไม่มีการระบาด ซึ่งมีประชาชน 6.64 คน ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จต่อประชากร 1 แสนคน 

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง