ครม. อนุมัติ 6.3 พันล้านบาท ซื้อวัคซีนโควิด-19 เพิ่ม 35 ล้านโดส
2021.03.02
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ คณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณสำหรับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม 35 ล้านโดส เป็นเงิน 6.3 พันล้านบาท จะทำให้ไทยมีวัคซีนทั้งสิ้น 63 ล้านโดส สำหรับกลุ่มเป้าหมายกว่าสามสิบล้านคน โดยปัจจุบัน มีการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากร และประชาชนแล้ว 3 พันราย มีผลข้างเคียง 5 ราย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุม ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า จะฉีดวัคซีนให้ 60 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มเป้าหมาย และรัฐบาลจะแจกจ่ายวัคซีนให้พื้นที่ต่างๆ อย่างเป็นธรรม แม้มีข่าวว่าวัคซีนถูกกันเอาไว้เฉพาะบุคคลพิเศษ (VIP) ก็ตาม
“วันนี้ ได้อนุมัติงบประมาณการจัดหาวัคซีนล็อตที่สองแล้ว และคาดว่าเราจะสามารถที่จะฉีดให้จนครบ 60 เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศ คำว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศ คือ 60 เปอร์เซ็นต์ของคนที่จะต้องฉีด มันไม่ถึง 66 ล้านคนอยู่แล้ว เป็นเรื่องของเด็ก อายุต่ำกว่า 18 ปีอะไรทำนองนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
“ก็ขอให้มีความเชื่อมั่นในการจัดหา และฉีดวัคซีน การดำเนินการใดๆ ก็ตามเป็นเรื่องของแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด ทำให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรมให้มากที่สุด ผมยืนยันว่า ผมไม่มีนโยบายต้องกักเก็บกักตุนไว้ให้ใคร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวเกี่ยวกับการที่ ครม. จัดสรรงบประมาณสำหรับจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ว่า “รัฐบาลได้อนุมัติงบจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม จำนวน 35 ล้านโดส โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 6,387,285,900 บาทถ้วน จากบริษัทแอสตราเซเนกา ซึ่งในจำนวนนี้ แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีน 5,673.67 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 763.61 ล้านบาท เป็นการจัดเตรียมค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการวัคซีน และในส่วนที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมพื้นที่ในการฉีดวัคซีน”
ทั้งนี้ ตามแผนของรัฐบาล ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 ไทยจะนำเข้าวัคซีน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด ประเทศจีน มูลค่า 1,228 ล้านบาท และอีก 26 ล้านโดส นำเข้าจากบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ประเทศอังกฤษ/สวีเดน มูลค่า 6,049 ล้านบาท โดยจะถูกนำมาผลิตและฉีดได้ไม่เกินเดือนมิถุนายน 2564
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็กำลังทดลองวัคซีนที่ผลิตเองภายในประเทศกับคน ซึ่งคาดว่าจะขึ้นทะเบียนและใช้จริงได้ภายในปี 2565 และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จะเป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก แอสตราเซเนกา โดยจะมีกำลังผลิตต่อปี 200 ล้านโดส นอกจากนั้น นายอนุชา ยังเปิดเผยว่า รัฐบาลพยายามจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม จากผู้ผลิตรายอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 3 พันราย มีผลข้างเคียง 5 ราย
ในวันนี้ นพ. เฉวตสรร นามสวาท รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนในวันอาทิตย์และวันจันทร์ที่ผ่านมา ถือว่าพบผู้ได้รับผลข้างเคียงน้อย
“การฉีดวัคซีนประจำวันที่ 1 มีนาคม มีผู้รับวัคซีนรายใหม่ 2,767 ราย ถ้ารวมสะสมจาก 28 กุมภาพันธ์ ก็จะเป็น 3,021 ราย การเฝ้าระวังเหตุไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวีคซีน มีรายงานเพียง 5 ราย เท่านั้น ซึ่งก็เป็นอาการเล็กน้อย อาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดมีเพียง 4 คน มี อาการคลื่นไส้อาเจียน 1 คน เป็นการรายงานอาการด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชัน” นพ. เฉวตสรร กล่าวเพิ่มเติม
โดย สธ. เปิดเผยตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนในเชียงใหม่ ประกอบด้วย บุคลากรการแพทย์ และสาธารณสุข รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 2,781 ราย เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 133 ราย บุคคลที่มีโรคประจำตัว 21 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 86 ราย
ขณะที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันเพิ่มเติม ในวันอังคารนี้ทั้งสิ้น 42 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 26,073 ราย รักษาหายและกลับบ้านแล้ว 25,420 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 569 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 84 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตยืนยันในวันอังคารนี้ เป็น ผู้ป่วยชายไทยอายุ 92 ปี มีภูมิลำเนาในจังหวัดปทุมธานี มีโรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ มีประวัติไปซื้อของกับแม่ค้าผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อที่ตลาดพรพัฒน์ ปทุมธานี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากนั้นมีอาการ ไข้ ไอ เหนื่อย ตรวจพบเชื้อและเข้ารักษาตัวในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 มีอาการแย่ลงเรื่อยกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
รัฐบาลเผยมีผู้เข้ารับการเยียวยาจากโควิด-19 แล้ว 41.7 ล้านราย
นายอนุชา เปิดเผยหลังการประชุม ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ปัจจุบัน มีผู้ขอรับการเยียวยากับโครงการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐรวมแล้ว 41.7 ราย
“ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีผู้ที่ได้รับสิทธิผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และส่วนที่ลงทะเบียนคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน ที่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ไปแล้วทั้งสิ้น 30.7 ล้านคน บวกกับผู้ลงทะเบียนผ่านบัตรประชาชนตามหน่วยงาน และสถานที่ต่างๆ มียอดตัวเลข 1.8 ล้านคน รวมทั้งสิ้น รวมกับเงินเยียวยาที่ ณ ตอนนี้มีการลงทะเบียนผ่าน โครงการ ม. 33 เรารักกันอีก 9.2 ล้านคน รวมแล้วทั้งสิ้นมีจำนวนประชากรที่ได้รับเยียวยาอยู่ในโครงการทั้งสิ้นแล้ว 41.7 ล้านคนในปัจจุบัน” นายอนุชา ระบุ
นายอนุชา เปิดเผยเพิ่มเติม ปัจจุบัน โครงการเราชนะ มียอดเงินที่ใช้จ่ายแล้ว 6.69 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายผ่านร้านธงฟ้า 44 เปอร์เซ็นต์ ร้านค้าทั่วไป 35 เปอร์เซ็นต์ ใช้จ่ายในส่วนอาหารและเครื่องดื่ม 16 เปอร์เซ็นต์ และ ร้านโอท็อป 4 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ โครงการเราชนะ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยรัฐบาล โดยมอบให้แก่ผู้ลงทะเบียนเดือนละ 3,500 บาท ในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2564 รวมเป็นเงิน 7,000 บาท
ขณะเดียวกัน รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการออกหนังสือรับรองให้แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว ซึ่งจะดำเนินการโดยกรมควบคุมโรคเพื่อช่วยให้เกิดความมั่นใจสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทาง
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน