กต. ไทยปกป้องสัมพันธ์ไทย-จีน หลังมีดราม่าวัคซีนซิโนแวค

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.09.09
กรุงเทพ
กต. ไทยปกป้องสัมพันธ์ไทย-จีน หลังมีดราม่าวัคซีนซิโนแวค เจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคให้กับประชาชนที่โรงพยาบาลนราธิวาส วันที่ 5 สิงหาคม 2564
เอเอฟพี

กระทรวงการต่างประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ปกป้องวัคซีนซิโนแวคที่จัดซื้อจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยระบุว่า จะยุติการสั่งวัคซีนซิโนแวค ยกเว้นกรณีที่ทางบริษัทมีการพัฒนาให้ฉีดให้กับเด็กได้ในอนาคต 

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยแสดงความไม่พอใจต่อการที่วัคซีนซิโนแวคถูกวิพากษ์วิจารณ์โดย “บางคนและบางองค์การของประเทศไทย” 

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ส่งคำชี้แจงให้กับผู้สื่อข่าวเมื่อตอนดึกของคืนพุธที่ผ่านมา โดยระบุว่าวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกได้ให้การรับรองแล้ว และมีประเทศอีก 39 ประเทศทั่วโลกนำไปฉีดให้กับประชาชน 

“การด้อยค่าวัคซีนซิโนแวคจึงไม่เพียงแต่บิดเบือนข้อเท็จจริงและคุณค่าวัคซีนซิโนแวค แต่ส่งผลกระทบต่อมิตรประเทศที่ดีและใกล้ชิดของไทย” นายธานี กล่าวในคำชี้แจง 

นอกจากประเทศไทยแล้ว มาเลเซียยังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เลิกใช้วัคซีนซิโนแวคตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 แม้ว่าเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขได้กล่าวว่า การติดเชื้อในผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว จะมาจากการที่ไม่ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยก็ตาม 

ทั้งนี้ นายแพทย์ โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์ที่แล้วซึ่งเป็นวันก่อนการลงคะแนนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า รัฐบาลไทยจะยังไม่สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณกว่า 4 พันล้านบาทเพื่อซื้อวัคซีนซิโนแวค 12 ล้านโดส เมื่อวันอังคารนี้ 

“เราไม่ได้มีแผนจะซื้อเพิ่ม เว้นแต่ว่าขึ้นทะเบียนฉีดในเด็กได้แล้วเอาฉีดในเด็ก เพราะว่าการฉีดในเด็กต้องใช้วัคซีนที่ปลอดภัย คือวัคซีนเชื้อตาย mRNA เราก็ฉีดได้แต่ระยะยาวเรายังไม่รู้ผล ซิโนแวคเรารอเจเนอเรชั่นใหม่เขาก็ได้ไง เขากำลังจะทำวัคซีนด้วยเชื้อไวรัสของปีนี้” นพ. โสภณ กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าว 

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อสัปดาห์ก่อน ส.ส. ฝ่ายค้าน ได้กล่าวโจมตีวัคซีนซิโนแวคว่า มีประสิทธิภาพต่ำ ราคาแพง และอาจจะมีคนในฝ่ายรัฐบาลได้รับผลประโยชน์จากการจัดซื้อวัคซีนของบริษัทนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง พล.อ. ประยุทธ์  และนายอนุทิน ยังคงได้รับความวางใจจากสภาผู้แทนราษฎรในการลงคะแนนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเจ้าหน้าที่ด่านหน้า หลังจากที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ด้วยมีผลการศึกษารองรับว่าเป็นแนวทางที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดี 

นพ. โสภณ ระบุว่า แต่เดิมกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ใช้สูตรฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่ 2 แต่ในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งประเทศไทยจะได้รับการส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์ ไทยจะมีการเปลี่ยนสูตรการฉีดโดยให้ใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่ 1 และวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 

กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 รัฐบาลได้รับวัคซีนแล้ว 38.72 ล้านโดส แบ่งเป็น ซิโนแวค 18.5 ล้านโดส แอสตราเซเนกา 16.92 ล้านโดส และไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส (สหรัฐอเมริกาบริจาค) ยังเหลือวัคซีนที่รอการส่งมอบ 85.3 ล้านโดส แบ่งเป็น ซิโนแวค 12 ล้านโดส แอสตราเซเนกา 43.3 ล้านโดส และไฟเซอร์ 30 ล้านโดส 

ในวันนี้ มีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,031 ราย คิดเป็นยอดสะสม 1,338,550 ราย เสียชีวิตรวม 13,731 ราย 

สถานทูตจีนโต้ตอบคนด้อยค่าซิโนแวค 

ในวันที่ 3 กันยายน 2564 สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ตอบโต้กระแสต่อต้านวัคซีนซิโนแวคผ่านเฟซบุ๊กเพจว่า 

“เมื่อเร็ว ๆ นี้ บางคนและบางองค์การของประเทศไทยได้ด้อยค่า และใส่ร้ายวัคซีนจีนโดยไม่มีเหตุผลใด ๆ ซึ่งเป็นการกล่าวหามุ่งร้ายที่ไม่เคารพข้อมูลวิทยาศาสตร์ และความเป็นจริง และเป็นการทำร้ายความหวังดีของฝ่ายจีนในการสนับสนุนประชาชนไทยต่อสู้กับโรคระบาด สถานทูตจีนจึงขอคัดค้านอย่างเด็ดขาด และเรียกร้องให้บุคคลและองค์การที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำผิดอย่างร้ายแรงเช่นนี้” 

สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขชิลีว่า วัคซีนซิโนแวคสามารถป้องกัน อาการป่วยหนัก และเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 86 เปอร์เซ็นต์ และข้อมูลจากอินโดนิเซียที่ระบุว่า ซิโนแวคมีประสิทธิภาพในการป้องกันการรักษาที่โรงพยาบาลและเสียชีวิตได้ถึง 92 เปอร์เซ็นต์ และ 95 เปอร์เซ็นต์ 

“ข้อมูลดังกล่าวพิสูจน์ได้ว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิผลในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์เป็นอย่างดี ไม่ใช่วัคซีนคุณภาพต่ำตามที่กล่าวหาอย่างแน่นอน” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ 

ด้าน น.ส. จันทร์ วงษ์ตา อาชีพพยาบาล อายุ 35 ปี ซึ่งได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และได้รับไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 กล่าวว่า สำหรับตนแล้วว่าการได้รับวัคซีนซิโนแวคไม่ได้ทำให้รู้สึกปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 

“พนักงานในที่ทำงานที่ฉีดแล้วตรวจภูมิก็พบว่าภูมิไม่ได้สูง แต่ซิโนแวคทำให้เราใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็ป้องกันอาการรุนแรงได้ แต่งานวิจัยในต่างประเทศ โลกทั้งโลกเขาเลือก mRNA ก็เชื่อว่ามันต้องดีกว่า ไม่รู้ไทยสั่งซิโนแวคมาเพิ่มทำไม” น.ส. จันทร์ ระบุ 

ขณะที่ น.ส. นันดา แซ่ตั้ง อายุ 28 ปี ชาวกรุงเทพฯ อาชีพรับจ้างทั่วไป กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า “ประชาชนไม้ได้ด้อยค่าซิโนแวค แต่เป็นการมองโลกในความเป็นจริงซึ่งมีการวิจัยรับรองแล้วว่า วัคซีนยี่ห้ออื่นดีกว่าซิโนแวค แต่รัฐบาลยังนำเข้าซิโนแวคโดยไม่ทราบเหตุผล” 

วัคซีน : สงครามน้ำลาย 

ประเทศไทยเคยได้รับคำชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เรื่องการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกนอกจีนที่พบการแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการระบาดระลอกที่สามในเดือนเมษายน 2564 และเป็นการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า มีรายงานว่าวัคซีนซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของสายพันธ์ุนี้ดีพอ 

กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า มีคนกว่า 1.33 ล้านราย เป็นผู้ติดเชื้อนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 และในจำนวนดังกล่าวมีถึงร้อยละ 97.8 ที่เป็นผู้ติดเชื้อหลังการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ในเดือนเมษายน 2564 ปัจจุบัน มีประชาชนกว่า 38.1 ล้านคนได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม 

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรก วันที่ 31 สิงหาคม 2564 นายอนุทิน ถูกโจมตีจากฝ่ายค้านว่า กระทรวงสาธารณสุขทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค 

“การค้าแบบนี้มันมีนายหน้า การมีนายหน้าหมายถึงมันมีค่าส่วนต่าง การมีเงินทอน ส่งผลให้วัคซีนซิโนแวค ที่มาขายให้คนไทย มาฉีดให้คนไทย นอกจากจะมีคุณภาพต่ำแล้ว ยังมีราคาสูงอีก” นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ระบุ 

“เปรียบเทียบราคาซื้อซิโนแวค เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ทางการไทยซื้อ 17 เหรียญสหรัฐฯ 556.24 บาท อินโดนิเซียซื้อ 460 บาท บราซิลซื้อ 337 บาท เฉพาะข้อแตกต่างของการจัดซื้อของไทยซื้อแพงกว่าอินโดนิเซีย 192 ล้านบาท ซื้อแพงกว่าบราซิล 438 ล้านบาท” นายประเสริฐ กล่าว 

นายอนุทิน ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า การสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคล็อตแรกนั้นเป็นการสั่งซื้ออย่างเร่งด่วน และขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ ส่วนเรื่องราคาวัคซีนซิโนแวค 17 ดอลลาร์ต่อโดสนั้น เป็นเพียงการสั่งซื้อฉุกเฉินในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทำให้มีราคาสูงกว่าล็อตอื่น ๆ 

“วัคซีนซิโนแวค เป็นวัคซีนที่ดี มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เพียงแต่ว่าเมื่อมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้า ประสิทธิผลของการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนซิโนแวคก็อาจจะลดลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ซิโนแวคคนเดียวนะครับ ทุกยี่ห้อที่ใช้อยู่ในโลกปัจจุบันนี้ ก็มีการลดประสิทธิผลของการป้องกันการติดเชื้อไม่น้อยกว่ากันเท่าไหร่” นายอนุทิน ระบุ 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง