ไทยเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกันทั่วประเทศ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.06.07
กรุงเทพฯ
ไทยเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกันทั่วประเทศ ประชาชนกดพลาสเตอร์ปิดแผลไว้ หลังจากได้รับวัคซีนแอสตราเซนากา ที่บริเวณโรงพยาบาลนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส วันที่ 7 มิถุนายน 2564
เอเอฟพี

ในวันจันทร์นี้ เป็นวันแรกที่ประเทศไทยเริ่ม ดำเนินวาระแห่งชาติเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกัน 986 จุดทั่วประเทศ หลังจากที่รัฐบาลถูกโจมตีเรื่องความล่าช้าในการจัดการปัญหาโรคระบาดโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโดนผลกระทบจากการะบาดระลอกสาม โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ไปตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนผู้ประกันตนมาตรา 33 พร้อมทั้งเปิดเผยว่า ได้ลงนามจองซื้อวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน อีกด้วยแล้วในวันนี้

พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยระหว่างเยี่ยมชม ศูนย์ฉีดวัคซีนผู้ประกันตนมาตรา 33 ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย–ญี่ปุ่น) ฯ ว่า การฉีดวัคซีนทั่วประเทศเริ่มขึ้นแล้ว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และรัฐบาลจะได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนจนครบ 100 ล้านโดส

“วันนี้ ฉีดทุกจังหวัด มีการปรับยอดวัคซีนให้ลงทุกจังหวัดมากน้อยตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเราต้องการป้องกันการแพร่ระบาดไปยังที่อื่น ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึงปัจจุบัน เราฉีดซิโนแวคไปแล้ว 4 ล้านโดส ตอนนี้ก็แอสตราเซเนกาเข้ามา ก็ฉีดเพิ่มเติมขึ้น แอสตราเซเนกาเข้ามา 2.44 ล้านโดส และซิโนแวคอีก 1.5 ล้านโดส ฉีดในเดือนมิถุนายน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า สำหรับแผนการจัดหาวัคซีนนั้น รัฐบาลจะเป็นผู้บริหารจัดการ เพื่อให้เพียงพอสำหรับประชาชนทุกคน โดยล่าสุดได้มีการลงนามสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 เพิ่มกับบริษัทจากสหรัฐอเมริกาแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดมูลค่าสัญญา

“วันนี้เราก็มีการลงนามในสัญญาจองวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันด้วย ก็คาดว่าจะได้มา (รวมไฟเซอร์) ในจำนวน 25 ล้านโดส เราจะจัดหาซิโนแวคอีก 8 ล้านโดส ให้ครบร้อยล้านโดส” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยที่ทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเช้า จนถึงเวลา 12.00 น. ใน 986 จุด ภาพรวมการดำเนินการยังเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย

“ในภาพรวมวันนี้ เรามีการเปิดจุดฉีดทั้งหมดทั่วประเทศ เมื่อเวลาประมาณเที่ยงตรง 986 จุด มีผู้ได้รับการฉีดที่เข้าสู่ระบบทั้งหมด 143,116 คน เป็นไปตามเป้าหมายทุกประการ... มีบางจุดที่อาจจะมีปัญหาบ้างเล็กน้อย อย่างเช่นผู้ที่จองคิวเข้ามาในระบบหมอพร้อม แล้วชื่อตกหล่น” นพ.โอภาส กล่าว

“ผู้ที่ได้รับการนัดหมายให้มาฉีด พยายามฉีดให้ตรงกับวันเวลาที่นัดหมายให้มากที่สุด ยกเว้นมีเหตุขัดข้องบางประการ ก็ขออนุญาตนัดวันถัดไป เพราะบางจุดอาจมีการนัดเกินกว่าโควต้าที่ได้รับ ยืนยันว่า ทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีน ท่านที่จะไม่ตรงกับที่นัดหมาย ก็กราบขออภัย และจะพยายามนัดหมายให้ได้เร็วที่สุดต่อไป” นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 มิถุนายน 2564 รวมทั้งสิ้น 4,218,094 ราย เข็มแรก 2,855,041 ราย และเข็มที่สอง 1,363,053 ราย

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า มีงบประมาณ 100 ล้านบาทสำหรับเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ หลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยจะจ่ายให้กับผู้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสูงสุดไม่เกิน 400,000 บาท เสียอวัยวะหรือพิการ 240,000 บาท และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง 100,000 บาท

ในวันพฤหัสบดีนี้ นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,419 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 179,886 ราย รายเสียชีวิตเพิ่ม 33 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 1,269 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 49,101 ราย ในนั้นอาการหนัก 1,233 และใช้เครื่องช่วยหายใจ 355 ราย

สหรัฐจัดสรรวัคซีน 7 ล้านโดส ให้กับประเทศในเอเชีย

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนประเทศไทยในการต่อสู้กับโควิด-19 ในหลายแนวทาง ประกอบด้วยการมอบวัคซีน 7 ล้านโดสให้กับประเทศในเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ความช่วยเหลือมูลค่า 30 ล้านเหรียญ เช่น เครื่องช่วยหายใจ หน้ากากอนามัย แว่นตานิรภัย และอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการช่วยเหลือด้านความร่วมมืออื่นๆ เช่น การพัฒนายาและวัคซีน การเฝ้าระวังแนวชายแดน การให้คำปรึกษาด้านการรักษา เป็นต้น

ปัจจุบัน แผนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย คือ 1. บริษัท ซิโนแวค ไบออนเทค ประเทศจีน 6.5 ล้านโดส แบ่งเป็นนำเข้ารอบแรก 2 ล้านโดส มูลค่า 1,228 ล้านบาท สั่งซื้อเพิ่มเติมอีก 3.5 ล้านโดส และประเทศจีนบริจาคให้ 1 ล้านโดส ทยอยนำเข้ามาในประเทศไทย ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2564 อย่างไรก็ตาม มีแผนจะนำเข้าเพิ่ม 8 ล้านโดส แต่ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดแผนดังกล่าว

บริษัท แอสตราเซเนกา ประเทศสวีเดน-อังกฤษ 61 ล้านโดส โดยจะทยอยจัดส่งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม - ธันวาคม 2564 การสั่งซื้อแบ่งเป็น 26 ล้านโดส มูลค่า 6,049 ล้านบาท และ 35 ล้านโดส มูลค่า 6,387 พันล้านบาท วัคซีนของแอสตราเซเนกาบางส่วน จะผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วได้ส่งมอบ 1.8 ล้านโดส ก่อนหน้านั้นได้รับผ่านเกาหลีใต้ 117,600 โดส

ขณะเดียวกันมีการเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยกำลังเจรจาเพื่อนำเข้าวัคซีนจากบริษัท ไฟเซอร์ และโมเดิร์นนา จากประเทศสหรัฐอเมริกา สปุตนิก วี ประเทศรัสเซีย รวมถึง ซิโนฟาร์ม ประเทศจีน ซึ่งจะนำเข้าโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 1 ล้านโดส และล่าสุด จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา 

ชายแดนใต้เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ผู้นำศาสนา

นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า จังหวัดยะลาได้เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วโดยเชิญ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเหล่ากาชาดจังหวัด นายก อบจ. ผู้นำศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม และซิกข์ ตัวแทนคนไทยเชื้อสายจีน ผู้นำศาสนากลุ่มดะวะห์ รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการเป็นส่วนหนึ่งของผู้รับวัคซีน โดยการดำเนินการฉีดวัคซีนวันแรกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

“เชิญทุกส่วนให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งตรงกับคำสอนในอิสลามว่า เมื่อมีโรคระบาดหรือโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ให้รีบทำการรักษา เพราะคู่กับโรคนั้น พระเจ้าก็จะประทานยาคู่กัน วัคซีนทุกตัวที่รัฐบาลจัดหามาให้ฉีดแก่ประชาชนทั่วประเทศ เชื่อว่า เป็นวัคซีนที่ประสงค์จากพระเจ้าแล้ว และผลข้างเคียงนั้น ก็เหมือนผลไม้บางชนิดที่ทานแล้วมีอาการแพ้ แต่มีส่วนน้อยนิดเท่านั้น” นายชัยสิทธิ์ กล่าว

ด้าน นพ. อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ธัญญารักษ์ปัตตานี และผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัดซีนโควิด-19 อาคารเรียนรวม 58 กล่าวว่า จังหวัดได้รับวัคซีนชุดแรกสำหรับประชาชน 5,000 คน โดยศูนย์ฉีดมีประสิทธิภาพในการฉีดให้กับประชาชนได้วันละ 2,000 คน

“ชาวปัตตานีจะต้องร่วมฉีดวัคซีนให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร ซึ่งในวันนี้จะเป็นการเปิดทดสอบระบบการฉีดวัคซีน โดยการปรับระบบบริการลดระยะเวลาและขั้นตอน แต่ยังคงรักษามาตรฐานและความปลอดภัยของผู้มารับบริการ ผู้ที่เข้าร่วมการทดสอบระบบในครั้งนี้ ประกอบด้วย ประชาชนในชุมชนพื้นที่เศรษฐกิจ และบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า 600 คน” นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

ประชาชนกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของรัฐ

น.ส.จันทริกา (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี ชาวกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ตัดสินใจฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากเชื่อว่า วัคซีนจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19

“ตามที่ได้ศึกษางานวิจัยมา เราคิดว่า ถ้าฉีดวัคซีนถึงมันจะไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ป้องกันการเสียชีวิต หรืออาการหนัก อย่างน้อย ก็ไม่ทำให้เราตาย หรือ ประหยัดค่ารักษาพยาบาลได้ เราถือว่า ผลกระทบจากวัคซีน ก็เหมือนจับฉลาก ปรึกษาเพื่อนที่เป็นหมอก็แนะนำให้ฉีด เพราะถ้าไม่ฉีดก็เดินทางไปไหนมาไหนลำบาก เราอยากกลับมาทำกิจกรรมอื่นเหมือนต่างประเทศแล้ว ก็เลยต้องฉีด” น.ส.จันทริกา กล่าว

ด้าน นางดอกฝ้าย กรองกุล เจ้าของธุรกิจส่วนตัว อายุ 41 ปี ชาวกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ระบบการจองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลยังค่อนข้างสับสน

“จองคิวฉีดวัคซีนให้พ่อผ่านหมอพร้อม ตอนแรกมีนัดฉีดแล้ว แต่ถึงเวลาไม่มีคิวให้ฉีด ระบบที่รัฐบาลให้ประชาชนลง ไม่มีความพร้อม เปลี่ยนไปมา ช้า ไม่มีการแจ้งให้ทราบ พอเราจองคิวก็ต้องคอยโทรถามโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลก็บอกไม่ทราบ ต้องถามรัฐบาลเจ้าของระบบ ทำให้เราสับสนว่าจะทำยังไงดี เรามีสามีเป็นคนต่างชาติ รัฐบาลก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่า จะฉีดวัคซีนให้เขาหรือไม่” นางดอกฝ้าย กล่าว

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ และ มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง