บุคลากรสาธารณสุขร้องรัฐนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA 100 ล้านโดส ปีนี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.07.07
กรุงเทพฯ
บุคลากรสาธารณสุขร้องรัฐนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA 100 ล้านโดส ปีนี้ ผู้หญิงเข็นรถนอกแคมป์ที่พักของคนงานก่อสร้างไทยและเมียนมา ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ป้องกันโควิด-19 หนึ่งเดือนของรัฐ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564
เอเอฟพี

ตัวแทนบุคลากรสาธารณสุข เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่รัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล ในวันพุธนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ให้ได้อย่างน้อย 100 ล้านโดส ในปี 2564 นี้ เพราะมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อสูงและครอบคลุมหลายสายพันธุ์ ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์แพร่ระบาดดีขึ้นจนเปิดประเทศได้

ภาคีบุคลากรสาธารณสุข และกลุ่มหมอไม่ทน ได้นำหนังสือซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนร่วมลงชื่อ 215,409 คน เสนอต่อรัฐสภา และรัฐบาล ซึ่งมีข้อเรียกร้องโดยสรุปคือ 1. รัฐบาลต้องเร่งรัฐนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ชนิด messenger Ribonucleic Acid (mRNA) เช่น ของบริษัท ไฟเซอร์-ไบออนเทค หรือบริษัท โมเดอร์นา ประเทศสหรัฐอเมริกา มาฉีดให้กับประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อสูงและครอบคลุมหลายสายพันธุ์ และ 2. รัฐบาลต้องเผยแพร่ข้อมูลการจัดหาและกระจายวัคซีนให้เป็นปัจจุบัน และโปร่งใสตรวจสอบได้

นพ. สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ ตัวแทนภาคีบุคลากรสาธารณสุข เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ข้อเรียกร้องที่เสนอต่อรัฐบาลเกิดขึ้นจากการรวมภาคีในเดือนมีนาคม 2564 ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดที่มีความรุนแรงในปัจจุบัน

“วัคซีน mRNA ที่ไทยสั่งซื้อ 20 ล้านโดส รวมกับที่จะได้รับบริจาคยังไม่เพียงพอกับประชากร รัฐควรจัดหาให้มากกว่านี้ คิดว่า 100 ล้านโดสในปี 2564 น่าจะเหมาะสม แล้วจัดหาเพิ่มเติมสำหรับกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 สำหรับประชาชน และแพทย์ที่ฉีดซิโนแวคไปแล้วนพ. สันติ กล่าว โดยระบุถึงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค 20 ล้านโดส และวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติ่มอีก 10.9 ล้านโดส ไปเมื่อวันอังคารนี้

ในห้วงเวลาของการระบาดระลอกสาม ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ และมีการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เช่น อัลฟา (อังกฤษ) เบต้า (แอฟริกาใต้) และเดลต้า (อินเดีย) ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากได้รณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีนที่เชื่อว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนซิโนแวค แอสตราเซเนกา และซิโนฟาร์ม ซึ่งปัจจุบัน ถูกนำเข้าแล้ว เพื่อหวังจะให้สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติที่เอื้ออำนวยต่อการเปิดประเทศ

อย่างไรก็ตาม นพ. สันติ ได้กล่าวว่า การฉีดวัคซีนที่มีอยู่ยังดีกว่าไม่ได้ฉีดวัคซีนใด ๆ เลย

“ผมสนับสนุนให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนที่มีก่อน ไม่ควรรอ mRNA เพราะอย่างน้อยก็สามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ แต่มันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่า วัคซีนอย่าง แอสตราเซเนกา หรือซิโนแวค มีปัญหาเรื่องการควบคุมโรค ถ้าต้องการจะเปิดประเทศ ก็จำเป็นที่ต้องมี mRNA” นพ. สันติ กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากข้อเรียกร้องของ ภาคีบุคลากรสาธารณสุข และกลุ่มหมอไม่ทน ในเวลาเดียวกัน ชมรมเภสัชชนบท ได้เรียกร้องเร่งด่วนต่อรัฐบาล ซึ่งมี 3 ข้อโดยสรุปคือ 1. รัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เป็นเข็มที่สามให้กับบุคลากรด่านหน้า 2. รัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้สูงอายุโดยไม่ต้องรอคิว และ 3. รัฐบาลต้องเร่งบรรจุเภสัชกรใช้ทุนไปยังจังหวัดที่รอการจัดสรร

ในวันพุธนี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 6,519 ราย เสียชีวิต 54 ราย มีผู้ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 67,614 ราย สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมทั้งหมด 11,328,043 ล้านโดส โดยเป็นผู้ที่ฉีดครบสองเข็มแล้ว 3.08 ล้านราย โดยปัจจุบันพบว่า หลายพื้นที่มีปริมาณผู้ป่วยโควิด-19 มากเกินกว่าที่โรงพยาบาลจะรองรับไหว ขณะที่หลังจากเปิดโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 พบนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ติดโควิด-19 หนึ่งราย และให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว

รัฐบาล - .. รับพิจารณาดำเนินการ

ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลรับทราบข้อเรียกร้องที่มีการยื่นหนังสือแล้วและพร้อมดำเนินการ

“รัฐบาลได้พิจารณานำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ เป็นวัคซีนหลักแล้ว 20 ล้านโดส ซึ่งประชาชนจะได้ฉีดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยกรมควบคุมโรคจะดำเนินการ คาดว่า จะส่งมอบได้ภายในไตรมาสที่ 4” นายอนุชา กล่าวผ่านทางโทรศัพท์

นายอนุชา กล่าวอีกว่า รัฐบาลไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดสัญญาได้ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่ทำไว้กับผู้ผลิต ซึ่งหากเปิดเผยอาจผิดเงื่อนไข และนำไปสู่การไม่ได้รับวัคซีน ขณะที่วัคซีนทางเลือกของบริษัท โมเดอร์นา องค์การเภสัชกรรมจะเป็นตัวกลางในการประสานงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการทำสัญญา

ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะตัวแทนรับหนังสือยืนยันว่า จะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวเข้าไปพูดคุยในรัฐสภา และจะติดตามอย่างต่อเนื่อง จนกว่าประเทศไทยจะมีการนำเข้าวัคซีนตามข้อเรียกร้อง

การจัดหาวัคซีน

ทั้งนี้ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ไทยจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค 10.9 ล้านโดส ด้วยวงเงิน 6,111 ล้านบาท และวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ซึ่งไม่ได้ระบุมูลค่าสัญญา เพื่อใช้เป็นวัคซีนหลัก ขณะเดียวกัน องค์การเภสัชกรรมจะดำเนินการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา เป็นวัคซีนทางเลือกให้แก่โรงพยาบาลเอกชน และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะบริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้กับประเทศไทย 1.5 ล้านโดส

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้เปิดเผยว่า มีแผนที่จะนำเข้าวัคซีนแอสตราเซเนกา จากประเทศอังกฤษ-สวีเดน จำนวน 61 ล้านโดส ซึ่งจะผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทย โดยปัจจุบัน ส่งมอบให้รัฐบาลแล้ว 5.489 ล้านโดส และมีแผนนำเข้าวัคซีนซิโนแวค จากประเทศจีน 47.5 ล้านโดส ซึ่งส่งมอบแล้ว 7.47 ล้านโดส ขณะที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม จากประเทศจีนแล้ว 2 ล้านโดส และรัฐบาลมีแผนที่จะนำเข้าวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันอีก 5 ล้านโดส แต่ยังไม่ได้ระบุมูลค่า และช่วงเวลาในการนำเข้า

รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายจะฉีดวัคซีนให้กับประชาชน 50 ล้านคนในปี 2564 แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ 7.12 แสนคน ซึ่งสามารถฉีดครบสองเข็มแล้ว 6.83 ล้านคน ประชาชนทั่วไป 28.53 ล้านคน ฉีดสองเข็มแล้ว 1.4 ล้านคน ผู้สูงอายุ 12.5 ล้านคน ฉีดสองเข็มแล้ว 1.06 แสนคน ที่เหลือคือกลุ่มเป้าหมายอื่น เช่น ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม, อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า

ทั้งนี้ พญ. ร่มเย็น ศักดิ์ทองจีน จากศูนย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสินแพทย์ ระบุผ่านเว็บไซต์โรงพยาบาลสินแพทย์ว่า ปัจจุบัน วัคซีนโควิด-19 ในโลก มี 4 ชนิด คือ 1. mRNA หรือชนิดสารพันธุกรรม เช่น ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันโรค 95 เปอร์เซ็นต์ 2. Recombinant viral vector หรือชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ เช่น แอสตราเซเนกา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันโรค 60-80 เปอร์เซ็นต์ 3. Protein subunit หรือชนิดโปรตีนเชื้อ เช่น โนวาแว็ก ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันโรค 60-90 เปอร์เซ็นต์ และ 4. Inactivated หรือชนิดเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม มีประสิทธิภาพป้องกันโรค 50-70 เปอร์เซ็นต์ โดยวัคซีนทุกชนิดมีประสิทธิภาพป้องกันการเสียชีวิตใกล้เคียง 100 เปอร์เซ็นต์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง