พิชิต ลาออกจากตำแหน่ง รมต. สำนักนายกฯ

หลัง 40 สว. เข้าชื่อร้องศาลรธน. ถอดถอนนายกฯ เพราะแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน
รุจน์ ชื่นบาน
2024.05.21
กรุงเทพฯ
พิชิต ลาออกจากตำแหน่ง รมต. สำนักนายกฯ นายพิชิต ชื่นบาน ร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี หารือการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 9 พฤษภาคม 2567
เฟซบุ๊กเพจ ดร. พิชิต ชื่นบาน

นายพิชิต ชื่นบาน ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วในวันอังคารนี้ แม้เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนเมษายน 2567 หลังจาก สว. 40 คน เข้าชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพราะทำผิดจริยธรรมจากการแต่งตั้ง นายพิชิต ซึ่ง สว. เชื่อว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรี 

ด้านนักวิชาการมองการตรวจสอบพิชิตสะท้อนปัญหาโครงสร้างทางการเมืองไทย 

“เมื่อมีการยื่นคำร้องเกี่ยวกับข้าพเจ้า ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าได้ตรวจสอบ และเชื่อมั่นโดยสุจริตแล้วว่า ข้าพเจ้ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายทุกประการก็ตาม แต่เรื่องนี้ได้มีการพาดพิงไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี หัวหน้าผู้บริหารราชการแผ่นดินต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นต้องเดินหน้าด้วยความต่อเนื่อง ข้าพเจ้าจึงไม่ยึดติดกับตำแหน่ง” นายพิชิต ระบุในจดหมายลาออก

นายพิชิต ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงสาเหตุที่แท้จริงของการลาออก และปฏิเสธที่จะตอบว่าได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีก่อนตัดสินใจลาออกหรือไม่ เพียงกล่าวกับสื่อมวลชนสั้น ๆ ว่า “ไม่มีอะไรกดดัน อยู่ให้คนรัก จากให้คนคิดถึง”

การลาออกดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปิดเผยว่า สว. 40 คน ได้เข้าชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า นายเศรษฐา สิ้นคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ จากการเสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี ขณะเดียวกันก็ร้องให้วินิจฉัยคุณสมบัตินายพิชิต เช่นกัน

ทั้งนี้ สว. ได้ร้องเรื่องดังกล่าวผ่าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ตามอำนาจของมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ ที่ สว. สามารถเข้าชื่อเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งรัฐมนตรีได้ 

“นายพิชิตมีพฤติกรรมทุจริต ติดสินบนต่อกระบวนการยุติธรรม และถูกนำเรื่องเข้าสู่สภาทนายความให้ลบชื่อจากการเป็นทนายความ ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่ชัดแจ้งว่าไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ตอนหนึ่งของคำร้อง 

นายดิเรกฤทธิ์ เปิดเผยว่า สว. เชื่อว่า นายพิชิตมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นที่ว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้นัดพิจารณาคำร้องในวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 แต่ยังไม่มีกำหนดวันอ่านคำวินิจฉัย

ต่อประเด็นที่เกิดขึ้น ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้จะไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง

“การเรียกร้องถอดถอนนายกฯ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่ามีมูลเหตุอันควรเพียงพอหรือไม่ เพราะการถอดถอนผู้นำประเทศเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าไม่มีเหตุผลหนักแน่นพอ ก็อาจสร้างความวุ่นวายโดยใช่เหตุ” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าว

“กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการเมืองไทยที่ผู้มีอำนาจยังคงสามารถแต่งตั้งพรรคพวกที่มีประวัติด่างพร้อยเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ ดังนั้นจึงต้องมีการปฏิรูปที่เน้นการสร้างกลไกที่ตรวจสอบได้ เวลาจะแต่งตั้งรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการใด ๆ ก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาในลักษณะนี้” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

กรณีการร้องศาลรัฐธรรมนูญของ สว. สืบเนื่องจาก นายพิชิต เคยถูกดำเนินคดีข้อหา ละเมิดอำนาจศาล เพราะพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเงิน 2 ล้านบาท เมื่อปี 2551 ระหว่างทำหน้าที่ทนายความให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและภรรยา ในคดีเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก 

คดีดังกล่าวถูกสื่อมวลชนเรียกว่า “คดีถุงขนม” เนื่องจาก เงินสินบนที่ว่าถูกบรรจุในถุงกระดาษและอ้างว่าเป็นของฝากสำหรับเจ้าหน้าที่ โดยคดีนี้ศาลตัดสินให้จำคุกนายพิชิตเป็นเวลา 6 เดือน ไม่รอลงอา
ญา ฐานละเมิดอำนาจศาล โดยการให้สินบนเจ้าพนักงาน 

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และพวกได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ นายพิชิต ชื่นบาน ในกรณีที่เคยถูกดำเนินคดีกรณีทุจริตเช่นกัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง