แอมเนสตี้ : รัฐต้องหยุดคุกคามนักสิทธิ์หญิงและ LGBTI
2024.05.16
กรุงเทพฯ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International-AI) ประเทศไทย เปิดเผยงานศึกษาชิ้นใหม่ที่ระบุว่า มีนักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิ์ หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) อย่างน้อย 15 คนที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์ และยังถูกคุกคามบนโลกอินเตอร์เน็ต
ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ รัฐบาลยุติกระบวนการดังกล่าว และมีมาตรการลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่เกิดขึ้น นักวิชาการมอง การเรียกร้องของผู้หญิงและ LGBTI สั่นคลอนอำนาจรัฐชายเป็นใหญ่ ทำให้ถูกเพ่งเล็ง
“ประเทศไทยวางตนเป็นผู้นำด้านความเท่าเทียมกันทางเพศมานานเเละให้คำมั่นสัญญาต่าง ๆ ในระดับนานาชาติว่าจะปกป้องสิทธิผู้หญิงและสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ความเป็นจริงก็คือ ผู้หญิงและ LGBTI ในประเทศยังคงต้องเผชิญกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศอันแสนสาหัสผ่านการใช้เทคโนโลยีอยู่” นายชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว
“หลังจากการรัฐประหารโดยกองทัพในปี 2557 เครื่องมือดิจิทัลกลับถูกใช้เพื่อคุกคามพวกเขา ทั้งการปล่อยข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องเพศสภาวะ และเผยแพร่ถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและมีเนื้อหาที่ผูกโยงกับเพศ อันเป็นการดูถูกและย่ำยีศักดิ์ศรีผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ” นายชนาธิป ระบุ
งานศึกษาของแอมเนสตี้ใช้ชื่อว่า ‘อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง’ (Being Ourselves is Too Dangerous) ได้สัมภาษณ์นักกิจกรรม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิง และ LGBTI ร่วม 40 คน โดยพบว่า คนเหล่านี้ถูกสอดส่องติดตามผ่านระบบดิจิทัลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทำโดยทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
“ได้สัมภาษณ์นักกิจกรรมผู้หญิงจำนวน 9 จาก 15 คนที่ได้รับการยืนยันว่าถูกโจมตีโดยสปายแวร์เพกาซัส ในปี 2563 และ 2564 สร้างความหวาดกลัวด้วยเหตุแห่งเพศในหมู่ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมาย เช่น กลัวว่าข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาอาจถูกนำไปใช้ในการแบล็กเมล การคุกคามทางออนไลน์ และการเลือกปฏิบัติมากขึ้น เป็นต้น” ตอนหนึ่งของรายงาน ระบุ
ก่อนหน้านี้ในปี 2565 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้เปิดเผยงานการศึกษาที่พบว่า นักกิจกรรม นักสิทธิมนุษยชน รวมถึงนักวิชาการอย่างน้อย 30 ราย ได้รับการแจ้งเตือนจากบริษัท แอปเปิล ว่า พบความพยายามในการใช้สปายแวร์เพกาซัส ซึ่งคิดค้นโดยกลุ่มเอ็นเอสโอ (NSO Group) ของอิสราเอล เพื่อเจาะเข้าระบบโทรศัพท์มือถือ
หลังจากนั้น นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (DES) ในขณะนั้น ได้ยอมรับว่า รัฐบาลมีการดำเนินการเจาะข้อมูลส่วนบุคคลจริง แต่ส่วนใหญ่มักใช้เพื่อสอบสวนคดียาเสพติด
การถูกคุกคามเกิดขึ้นแม้กระทั่งกับ นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ AI ประเทศไทย
ภัยคุกคามโดยรัฐ
“(นักสิทธิ์หญิงและ LGBTI) ถูกสร้างภาพให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นตัวแทนจากต่างประเทศที่พยายามบ่อนทำลายรัฐบาลไทย โดยปฏิบัติการพุ่งเป้าใส่ร้ายป้ายสีบนโลกออนไลน์ที่มีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งน่าสงสัยว่าอาจจะริเริ่มหรือสนับสนุนโดยรัฐหรือบุคคลอื่น ๆ ที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับรัฐ” นางปิยนุช เปิดเผย
น.ส. อัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเองถูกคุกคามทั้งผ่านเฟซบุ๊กและโทรศัพท์ หลังจากเริ่มรณรงค์เรื่องการซ้อมทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2555
“การคุกคามเกิดขึ้นทั้งทางเฟซบุ๊กเพจ โทรศัพท์ มีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมที่บ้าน ที่ทำงาน ต้องเจอกับการโพสต์โจมตี มีการโทรศัพท์มาโดยตรง และการดำเนินคดีทางกฎหมาย การโจมตีออนไลน์มันกระทบต่อสภาพจิตใจเรา เพราะข้อความหรือคำพูดเหล่านั้นมันทำร้ายจิตใจเรา การมาข่มขู่ทางตรงมันกระทบต่องาน และเพื่อนร่วมงาน การใช้กฎหมายมันทำให้เราเสียเวลา รู้สึกกดดัน และทำให้สังคมขาดความเชื่อมั่นต่อเรา” น.ส. อัญชนา กล่าว

ขณะเดียวกัน น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเองก็เป็นผู้ที่ถูกโจมตีบนโลกออนไลน์โดยฝ่ายรัฐเช่นกัน
“รูปแบบที่เขาใช้คือ ด้อยค่าเรา ไม่ให้ความน่าเชื่อถือ โจมตีเรื่องรับทุนต่างชาติ ไม่รักชาติ เรายอมรับอยู่แล้วว่า เราต้องตรวจสอบรัฐ แต่กลับถูกตอบโต้อย่างหยาบโลน ใช้เรื่องเพศมาโจมตี มีการตัดต่อภาพใส่ข้อความที่ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องเพศ ซึ่งเราพบว่า นักสิทธิ์ หรือนักกิจกรรมเพศชายจะไม่ถูกโจมตีเรื่องเพศ” น.ส. พรเพ็ญ กล่าว
น.ส. อัญชนา และ น.ส. พรเพ็ญ เป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และถูกโจมตีบนสื่อออนไลน์ชื่อ Pulony.blogspot.com ซึ่งในปี 2563 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในเวลานั้นได้เปิดเผยข้อมูลว่า รัฐบาลเป็นผู้ใช้งาน Pulony.blogspot.com โจมตีนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้ และ พล.ต. ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. ได้ยืนยันว่า เอกสารที่นายวิโรจน์นำมาเปิดเผยเป็นเอกสารจริง
ต่อการศึกษาของ AI น.ส. นวพร สุนันท์ลิกานนท์ นักวิชาการสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า สภาพความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศของไทยที่เป็นปัญหาถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการคุกคามเช่นนี้
“พื้นที่ทางการเมืองส่วนใหญ่ ล้วนเป็นพื้นที่ของผู้ชาย การที่รัฐมักจะเพ่งเล็งนักกิจกรรมที่เป็นเพศหญิงหรือ LGBTI จึงเป็นเรื่องของการต่อรองเชิงอำนาจ เพราะหากไม่ทำอำนาจต่อรองของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้มีอำนาจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศชายจะหายไป” น.ส. นวพร กล่าว
“ปัญหาคือสังคมไทยยังขาดการตระหนักรู้เรื่องการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ เราพูดและสอนเรื่องนี้ในระบบการศึกษาน้อยมาก เราจึงยังเห็นการยืนหยัดเรียกร้องเพื่อสิทธิสตรีและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่เสมอ” น.ส. นวพร กล่าวเพิ่มเติม
ในท้ายการศึกษา AI ได้เสนอแนะต่อรัฐบาลและ NSO ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยสรุปว่า รัฐบาลต้องสอบสวนการสอดแนมและคุกคามทางดิจิทัล รวมทั้งจัดการให้มีการเยียวยาด้านสภาพจิตใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งออกนโยบายเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ
รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลสัญญาที่ทำกับบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการสอดแนม และบังคับห้ามใช้เครื่องมือดิจิทัลรุกล้ำข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งยุติการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยสงบ และเรียกร้องไปยังบริษัท NSO Groupให้ยุติการให้บริการสอดแนม รวมทั้งชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของบริษัท
เมื่อปี 2563 ทวิตเตอร์ (ปัจจุบัน คือ X) ได้เปิดเผยข้อมูลว่าได้ปิดบัญชีทวิตเตอร์ 926 บัญชี หลังจากได้รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์แล้วพบว่า เชื่อมโยงกับรัฐบาลไทย ต่อมาปี 2564 เฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า ได้ทำการลบผู้ใช้ 77 บัญชี 72 เพจ 18 กลุ่มบนเฟซบุ๊ก และ 18 บัญชีอินสตาแกรม ซึ่งพบว่ามีความเชื่อมโยงกับกองทัพไทย เพราะมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน