รัฐบาลตั้งข้อหาผู้ประท้วงโครงการจะนะ 37 คน ก่อนปล่อยตัวและห้ามชุมนุมอีก
2021.12.07
ปัตตานี และกรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินกับชาวบ้านจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่เดินทางมาชุมนุมประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งได้กล่าวหาว่า รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขผังเมืองในอำเภอจะนะ เพื่อปูทางให้เอกชนดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรม มูลค่าเกือบสองหมื่นล้านบาท โดยละเว้นการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส
อย่างไรก็ตาม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวกับผู่สื่อข่าวว่า โครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง และจะให้ทางสำนักนายกรัฐมนตรี และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไปติดตามความคืบหน้า
ในวันนี้ พล.ต.ต. จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวผู้ประท้วงรวม 37 ราย ไปเมื่อตอนกลางดึกของวันจันทร์นี้ และนำตัวทั้งหมดไปสอบสวนที่สโมสรตำรวจ ก่อนแจ้งข้อหาต่าง ๆ แต่ได้ให้ผู้ต้องหาทั้งหมดประกันตัว โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และปล่อยตัวไปในตอนบ่ายของวันอังคารนี้ โดยมีเงื่อนไขห้ามชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลซ้ำอีก
“แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีมีกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก เสี่ยงต่อการแพร่โรค, ผิด พรบ.จราจร เรื่องการกีดขวางการจราจรทั้งทางเข้า และทางออกของทำเนียบรัฐบาล และมีการตั้งวางสิ่งของบนพื้นผิวจราจร” พล.ต.ต. จิรสันต์ กล่าว และระบุว่า หนึ่งในเหตุผลในการสลายชุมนุมเพราะมีข้อมูลด้านการข่าวเกรงว่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจากกลุ่มอื่นมาสร้างความรุนแรง
ด้าน น.ส. ไครียะห์ ระมันยะห์ หนึ่งในผู้ประท้วง กล่าวว่า ทางผู้ประท้วงเพียงแค่ต้องการทวงถามถึงข้อบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลและชาวบ้านที่มีสาระว่ารัฐบาลจะยุติโครงการที่เชื่อมโยงกับ บมจ. ทีพีไอพีพี และ บมจ. ไออาร์พีซี เป็นการชั่วคราวตั้งแต่เมื่อมีการประท้วงในลักษณะเดียวกัน เมื่อปลายปี พ.ศ. 2563
“เราเพียงแค่มาบอกนายกรัฐมนตรีว่า เราไม่ต้องการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเท่านั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีถือเป็นเหมือนพ่อเราคนหนึ่ง ซึ่งเคยสัญญากับพี่น้องชาวจะนะแล้วว่า จะขอศึกษาเพื่อให้ทุกคนอยู่ได้ เราแค่ขึ้นมาทวงถาม พวกเราในฐานะคนที่ถูกจับกุมเมื่อคืน ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่มองได้ว่ารัฐบาลเอาใจนายทุน” น.ส. ไครียะห์ ระมันยะห์ หนึ่งในผู้ประท้วง กล่าวเมื่อวันอังคารนี้
เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนเข้าจับกุมตัวผู้ประท้วง รวมจำนวน 37 ราย ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ เมื่อกลางดึกของวันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)
ในเรื่องนี้ พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า ทางรัฐบาลยังไม่ได้ยอมรับบันทึกความเข้าใจใด ๆ ต่อกลุ่มผู้ประท้วง
“อยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์อีกครั้งหนึ่ง ผมก็ให้หน่วยงานเขาไปฟังว่าอะไรยังไง ผมเคยบอกไปแล้วว่าการไปเจรจาอะไรกับเขาอย่าไปรับปากอะไรเขามาทันทีถ้าหากไม่ยังไม่ได้เข้าการพิจารณาของ ครม. หรือของรัฐบาล... ใครตกลงอ่ะ แล้วผมตกลงหรือยัง ครม. ตกลงหรือยัง ยัง เดี๋ยวผมให้ ศอ.บต. แล้วก็รัฐมนตรีสำนักนายกฯ ไปดู” พลเอก ประยุทธ์ กล่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยระบุถึงการประท้วงเมื่อเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ชาวบ้านและผู้สนับสนุนกลุ่มต่าง ๆ ได้ประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อปลายปี พ.ศ. 2563 ซึ่งในครั้งนั้น นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางกลุ่มมีข้อเรียกร้องให้ หนึ่ง รัฐบาลต้องยุติการดำเนินโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด ทั้งการแก้ไขผังเมืองและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) ในทันที และ สอง ให้รัฐบาลจัดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment) อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจต่อแนวทาง และโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคใต้ต่อไป
ที่มาของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติการริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อเป็น “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพิ่มเติมอีกแห่งหนึ่ง เพื่อเสริมโครงการ “สามเหลี่ยมมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีมาเมื่อปี พ.ศ. 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาความไม่สงบในพื้นที่
ในการนี้ รัฐบาลได้อนุมัติให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ร่วมกับ บมจ. ทีพีไอพีพี และ บมจ. ไออาร์พีซี บนพื้นที่ 16,753 ไร่ ซึ่งชาวบ้านได้กล่าวหาว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ต่อนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหารระดับสูง ที่เชื่อว่ามีสายสัมพันธ์พิเศษกับมูลนิธิป่ารอยต่อของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
ในวันอังคารนี้ เบนาร์นิวส์ได้ติดต่อ บมจ. ไออาร์พีซี เพื่อขอความคิดเห็นแต่ไม่มีผู้รับสาย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. สัญจร ได้อนุมัติในหลักการของแผนเร่งด่วนในการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ ซึ่งประกอบด้วย หนึ่ง ผังเมืองในตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน และตำบลนาทับ สอง โครงข่ายท่าเรือน้ำลึก สงขลา สาม โครงข่ายการขนส่งทางบก สี่ โครงการพลังงานทางเลือก เช่น กังหันลม แสงอาทิตย์ และชีวมวล เป็นต้น โดยมีพื้นที่ 16,753 ไร่ มูลค่าการลงทุน 18,680 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว ได้ต้องเผชิญกับการต่อต้านของชาวบ้านในนามเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และอื่น ๆ มาตั้งแต่ต้น ซึ่งทางกลุ่มเขาเกรงว่านิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ทำให้หาดทรายหายไป
จนกระทั่งเมื่อมีการประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อปลายปี พ.ศ. 2563 ผู้แทนรัฐบาลได้ตกลงที่จะยุติการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับโครงการไว้ก่อน เช่น การไม่เปลี่ยนผังเมืองจากสีเขียว (พื้นที่การเกษตร) เป็นสีม่วง (พื้นที่อุตสาหกรรม) และตั้งคณะอนุกรรมการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ในอำเภอจะนะ โดยให้มีองค์ประกอบของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนในพื้นที่เพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของ ศอ.บต. ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายผู้ประท้วงกล่าวหาฝ่ายรัฐบาลว่า ได้พยายามดำเนินการเปลี่ยนผังเมืองโดยไม่ฟังเสียงประชาชนและนำไปสู่การชุมนุมประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาลในครั้งนี้