'เปอร์มัส' ประกาศยุติบทบาทสหพันธ์ฯ สมาชิกพิจารณาเข้าสู่การเมือง

กอ.รมน. ภาค 4 เชื่อเป็นเรื่องที่ดี หากเปอร์มัสยุติบทบาทเพื่อเข้าสู่การเมือง
มารียัม อัฮหมัด
2021.11.09
ปัตตานี
'เปอร์มัส' ประกาศยุติบทบาทสหพันธ์ฯ สมาชิกพิจารณาเข้าสู่การเมือง อาสาสมัครคุ้มครองประชาชน ขณะคุ้มกันกลุ่มนักเรียนมุสลิมที่ออกมาเดินขบวน "เราไม่ต้องการความรุนแรง" ระหว่างชุมนุมต่อต้านความรุนแรง โดยมีทั้งชาวพุทธ และมุสลิมเข้าร่วม จังหวัดนราธิวาส ภาพเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562
เอเอฟพี

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนปาตานี หรือ เปอร์มัส (Persekutuan Mahasiswa Sempadan Selatan Thai - PerMAS) ได้แถลงการณ์ว่า เปอร์มัสจะยุติบทบาทขององค์กร เพราะมีสมาชิกหลายรายพิจารณาเข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติ เพราะบรรยากาศทางการเมืองในประเทศไทยเปิดกว้างมากขึ้น และประชาชนมีเสรีในการแสดงพลังทางการเมืองได้มากขึ้น

นายซูกริฟฟี ลาเตะ ประธาน PerMAS ซึ่งเป็นสมาพันธ์ที่ประกอบด้วยองค์กรนักศึกษามากกว่า 25 องค์กร กล่าวในวันอังคารนี้ว่า ด้วยบรรยากาศที่เปิดกว้างขึ้น ทำให้สมาชิก PerMAS ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ได้ลงมติร่วมกันในการยุติบทบาท

“มีการพูดคุยภายในกันหลายครั้ง มีการถกเถียง วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองที่ กทม. และปัตตานี จนมาสู่การทำประชามติยุติบทบาท เห็นว่า บรรยากาศการเมืองตอนนี้เปิดมากขึ้น มีเสรีมากขึ้น สามารถแสดงพลังทางการเมืองได้มากขึ้น… หลังจากนี้ ก็จะไม่มีการเคลื่อนไหวในนาม PerMAS แล้ว PerMAS จะเป็นนักศึกษาปกติ” นายซูกริฟฟี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“มีเพื่อนหลายคนที่ไปพรรคการเมืองเยอะ ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย ไปอยู่กับเพื่อไทย ก็หลากหลาย คนปัตตานีมีสิทธิเลือก” นายซูกริฟฟี กล่าว และระบุว่า การเข้าไปในการเข้าถึงระบบรัฐสภาสามารถทำประโยชน์อะไรกับพื้นที่ได้มากขึ้น และประชาชนควรมีสิทธิกำหนดอนาคตตนเอง

“เราเชื่อมั่นมาตลอดว่าการไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนนั้นต้องให้ประชาชนชาวปาตานีมีเสรีภาพ และมีสิทธิในการกำหนดอนาคตทางการเมืองของตนเอง (Right to Self Determination - RSD) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานทางประชาธิปไตย… สิทธิการกำหนดอนาคตตนเอง เป็นสิทธิที่ติดตัวชาวปาตานีตลอดไป” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ยุติบทบาทของ PerMAS เมื่อวันจันทร์ระบุ

PerMAS ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นการรวมตัวขององค์กรนักศึกษาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ผ่านมามีการออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องในสถานการณ์สำคัญต่าง ๆ เช่น ปี 2558 เรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการส่งผู้ลี้ภัยเหล่านั้นกลับไปพบกับอันตราย

อย่างไรก็ตาม สำหรับฝ่ายรัฐ PerMAS มักถูกเชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ โดยในเดือนตุลาคม 2559 เจ้าหน้าที่ได้บุกค้นหอพักในย่านรามคำแหง และควบคุมตัวนักศึกษามุสลิมบางส่วน โดยตั้งข้อสงสัยว่า มีความพยายามที่จะรวบรวมอาวุธเพื่อก่อเหตุวินาศกรรมในโอกาสครบรอบ 12 ปี ของการสลายการชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

ต่อการยุติบทบาทของเปอร์มัส พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำได้และเป็นสิ่งที่ดี

“ประเด็นที่เขาจะเล่นการเมืองในภาพใหญ่ไม่ได้อะไรน่ากังวล เพราะประเทศเราปกครองด้วยระบอบรัฐธรรมมนูญอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่แล้ว คนไทยมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองเหมือนกันทุกคน อย่าทำผิดกฎหมายก็พอ แล้วประชาชนจะกำหนดเอง ถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะได้มาช่วยกันพัฒนาประเทศ พัฒนาพื้นที่บ้านเรา พัฒนาชีวิตประชาชน” พ.อ. เกียรติศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ เดอะ ปาตานี เห็นว่า การยุติบทบาทของ PerMAS อาจทำให้เกิดขบวนการนักศึกษาใหม่ที่เรียกร้องประเด็นสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยมากขึ้น

“การยุติของ PerMAS น่าจะเป็นการเริ่มต้นขบวนการนักศึกษาในแบบที่เปลี่ยนภาพจากเดิมพอสมควร จะมองเห็นการเคลื่อนไหวที่ชูประชาธิปไตย และสันติภาพมากขึ้น มีองค์กรที่เล็กลง ขับเคลื่อนได้รวดเร็ว และแหลมคมมากขึ้น”​ นายอาเต็ฟ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ขณะที่ น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า การยุติบทบาทของ PerMAS ครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญของการเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นความก้าวหน้า โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมา คนในพื้นที่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น มีคนพูดเรื่องปัตตานีมากขึ้น แม้พวกเขาจะยังไม่ได้รับสิทธิในการตัดสินใจอนาคตของตัวเองก็ตาม แต่เชื่อว่าการยุติบทบาทครั้งนี้จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้น ในพื้นที่มีองค์กรแยกย่อยมากขึ้นเพื่อเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง