ศาลทหารรับฟ้องคดีนายทหาร-พวก ซ้อมพลทหารจนเสียชีวิต เมื่อสิบปีที่แล้ว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และมารียัม อัฮหมัด
2021.10.05
กรุงเทพฯ และปัตตานี
ศาลทหารรับฟ้องคดีนายทหาร-พวก ซ้อมพลทหารจนเสียชีวิต เมื่อสิบปีที่แล้ว ชายหนุ่ม (ขวา) หลังจากจับได้ใบแดง ในระหว่างการเกณฑ์ทหารประจำปี ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563
เอเอฟพี

ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 มีคำสั่งประทับรับฟ้อง ร้อยโท ภูริ เพิกโสภณ กับพวกอีก 8 คน ในคดีฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยสาเหตุมาจากการลงโทษพลทหารวิเชียร เผือกสม จนเสียชีวิต ขณะเป็นทหารเกณฑ์ ในค่ายทหารนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อสิบปีก่อน ทนายความและหลานสาวของพลทหารวิเชียรกล่าว

ในต้นเดือนมิถุนายน 2554 พลฯ วิเชียร เผือกสม อายุ 26 ปี มีอาการไตวายเพราะกล้ามเนื้อบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตลงในโรงพยาบาล เชื่อว่าเพราะโดนครูฝึกลงโทษด้วยการตบหน้า บังคับให้กินพริกสด ลากตัวไปกับพื้นปูน ใช้เกลือทาที่บาดแผล เหยียบหน้าอก และถูกทุบตีด้วยท่อนไม้ไผ่ โดยครูฝึกอ้างว่า พลฯ วิเชียร พยายามที่จะหลบหนี

จากนั้น น.ส. นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ ผู้เป็นหลานสาวได้รับมอบอำนาจจากมารดาของ พลฯ วิเชียร ร้องเรียนตามหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเวลานาน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ศาลทหารได้ประทับรับฟ้องคดีที่ ร.ท. ภูริ เพิกโสภณ กับพวก รวม 9 คน เป็นจำเลยตามที่ถูกดำเนินคดีในฐานความผิดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา, และฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา ซึ่งมีบทลงโทษตาม ป.วิอาญา จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ในข้อหาแรก ส่วนข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา มีโทษจำคุก 3-20 ปี

“วันพฤหัสบดีที่แล้ว ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 มีคำสั่งรับฟ้องร้อยโท ภูริ เพิกโสภณ กับพวก รวม 9 คน ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา ศาลฯ มีคำสั่งนัดให้จำเลยยื่นคำให้การโต้แย้งคำฟ้องของพนักงานอัยการ ภายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 นี้” นายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งดูแลคดีดังกล่าวร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์

นายสากีมัน กล่าวว่า คดีนี้ต้องดูว่าจำเลยจะสารภาพหรือปฏิเสธ จากนั้นศาลจะนัดใหม่อีกครั้ง ซึ่งในศาลทหาร ญาติของผู้เสียชีวิตไม่สามารถขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการได้ และเป็นได้แค่ผู้สังเกตการณ์ โดยจำเลยทั้ง 9 คน ได้เดินทางมาฟังคำสั่งศาล เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ด้วย

“เท่าที่ทราบ มีถูกให้ออกจากราชการ 3 คน เป็นร้อยเอกภูริ (ยศล่าสุด) ร้อยตรี และสิบเอกอีกคน ส่วนที่เหลือปลดประจำการไปแล้วเพราะเป็นพลทหาร” น.ส.นริศราวัลถ์ บอกกับเบนาร์นิวส์

น.ส.นริศราวัลถ์ เคยทำหนังสือร้องถึงกรมทหารราบที่ 151 ต้นสังกัดของพลทหารวิเชียร, กองพลทหารราบที่ 15 ซึ่งดูแลสามจังหวัดชายแดนใต้, แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) แต่คำร้องไม่ได้รับการพิจารณา จากนั้นได้ร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งได้ชี้มูลความผิดของ ร.ท. ภูริ และพวก จนนำไปสู่การประทับรับฟ้องโดยศาลมณฑลทหารบกที่ 46 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ในการละเมิด

น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐถูกลงโทษเพราะการซ้อมทรมาน เพียงแต่เคยมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารนายหนึ่งในจังหวัดยะลา ถูกลงโทษให้จำคุก 6 เดือน เมื่อปี 2555 ฐานทำร้ายร่างกายนายมะเซาฟี แขวงบู อายุ 20 ปี และ ด.ช. อาดิล สาแม อายุ 14 ปี ขณะขอตรวจค้นในปี 2552

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า เหตุที่มีการดำเนินคดีหลายคดีล่าช้า เพราะการที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย “ยังผลให้การดำเนินคดีอาญากับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหารที่กระทำละเมิดในข้อหาทั้งสองนี้ เป็นเรื่องยากลำบาก”

ทั้งนี้ เมื่อกลางเดือนกันยายน สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย วาระแรก และขณะนี้ ร่างกฎหมายอยู่ในขั้นตอนการแปรญัตติ วาระที่สอง

นอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีคดีนักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ถูกลงโทษจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 โดยข้อมูลจากครอบครัวระบุว่า ก่อนหน้านั้นสองวัน นักเรียนเตรียมทหารบังคับบัญชา (รุ่นพี่) 4 คน ได้เรียกนายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย อายุ 18 ปี นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ไปธำรงวินัยหรือลงโทษในเวลากลางดึก จนทำให้นายภคพงศ์ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

โรงพยาบาลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ระบุว่า นายภคพงศ์เสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน อย่างไรก็ตาม ครอบครัวได้นำร่างของนายภคพงศ์ไปผ่าพิสูจน์ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 และพบว่า สมอง หัวใจ กระเพาะอาหาร และกระเพาะปัสสาวะสูญหาย ปอดและไตสูญหายไปบางส่วน และกระดูกซี่โครงฝั่งขวาซี่ที่สี่หัก จึงเรียกร้องโรงเรียนเตรียมทหารให้ชี้แจงเรื่องดังกล่าว และขอให้ส่งอวัยวะที่หายไปคืนให้กับครอบครัว เพื่อนำไปตรวจพิสูจน์การเสียชีวิต แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ

กระทั่งวันที่ 15 ธันวาคม 2560 กองบัญชาการกองทัพไทยได้แถลงข่าวเปิดเผยการสอบสวนการเสียชีวิตของนายภคพงศ์ ระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิตของนายภคพงศ์ไม่ได้เกิดจากการถูกซ้อม หรือธำรงวินัย ตามที่สื่อมวลชนหรือครอบครัวตั้งข้อสังเกต แต่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน และยังระบุว่า ไม่พบรอยฟกช้ำในร่างกายของนายภคพงศ์ โดยคดีความที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายภคพงศ์ ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง