ศอ.บต. ตรวจดีเอ็นเอให้สัญชาติคนชายแดนใต้รอบสองของปีนี้
2022.09.15
ปัตตานี

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เริ่มโครงการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) ประจำปี 2565 ครั้งที่ 2 ให้แก่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อมอบสัญชาติแก่คนไทยที่ยังไม่มีสถานะทางทะเบียนให้ได้รับสิทธิต่าง ๆ โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา มีคนได้รับสัญชาติแล้วเกือบสองพันคน
พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่ง ศอ.บต. ได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย รวมถึง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ดำเนินการมาตลอด 5 ปี
“วันนี้ มีบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์หรือคนไร้สัญชาติ ร่วมกิจกรรมเพื่อขอรับการตรวจดีเอ็นเอกว่า 100 คน และมีบุคคลอ้างอิงหรือเป็นคู่เทียบเพื่อยืนยันสถานะอีกจำนวนกว่า 400 คน ร่วมดำเนินการ เพื่อมอบสถานะสิทธิการเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์แก่ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้” พล.ร.ต. สมเกียรติ กล่าว
พล.ร.ต. สมเกียรติ ระบุว่า ในเดือนพฤษภาคม มีการจัดกิจกรรมครั้งที่ 1 ของปี 2565 ซึ่งมีบุคคลที่ไม่มีสถานะมาตรวจพันธุกรรม 256 คน โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ ศอ.บต. ดำเนินโครงการ มีคนไทยไม่มีสถานะขอเข้ารับการตรวจสารพันธุกรรมกว่า 2,200 คน มีญาติพี่น้องที่เป็นคู่เทียบเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 4,000 คน ปัจจุบัน มีประชาชนที่อยู่ระหว่างดำเนินการขอสัญชาติ 970 คน และดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรแล้ว 833 คน
“บุคคลดังกล่าวใช้ชีวิตโดยไม่มีตัวตนในประเทศ ไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้รับการศึกษา ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย และสิทธิอื่น ๆ ที่สมควรได้รับ บางรายอายุมากแล้วก็ไม่สามารถเข้าทำงาน เนื่องจากไม่มีวุฒิการศึกษา อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้รับบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ศอ.บต. ยังมีการติดตามในเรื่องการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ เพื่อความเป็นธรรม อาทิ เงินช่วยเหลือ การดูแลบุตรแรกเกิดถึง 6 ปี การเข้าถึงการศึกษา และอื่น ๆ” พล.ร.ต. สมเกียรติ กล่าว
ด้าน นายนิแม เจะอาลี ประชาชนจาก อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา คนในครอบครัวของเขาต้องใช้ชีวิตแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ เนื่องจากไม่มีสถานะ
“ผมนำคนในครอบครัวมาตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมจำนวน 4 คน เป็นลูกหลานในครอบครัว ซึ่งพ่อแม่ของทั้ง 4 คนเสียชีวิตแล้ว โดยสาเหตุที่ไม่ได้ไปแจ้งเกิด เนื่องจากทั้ง 4 คนคลอดกับหมอตำแยที่ประเทศมาเลเซีย จึงไม่กล้าเข้าแจ้งชื่อเพิ่มเข้ามาในทะเบียนบ้าน ที่ผ่านมาก็ต้องอาศัยอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทั้งที่ไทยและมาเลเซีย” นายนิแม กล่าว
โครงการตรวจสารพันธุกรรมเริ่มครั้งแรกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ณ สถานกงสุลใหญ่ เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย และเริ่มครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี พ.ศ. 2561
ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 (ต.ค. 2560 ถึง ก.ย. 2561) มีผู้ได้รับบัตรประชาชนเรียบร้อยแล้วรวม 699 คน เป็นเด็กที่เกิดในประเทศมาเลเซีย 90 คน และประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 609 คน นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม และผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุในขณะนั้น
ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักทะเบียนกลาง ระบุว่า ในตอนสิ้นปี พ.ศ. 2560 มีบุคคลไม่มีสัญชาติในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 13,905 คน แบ่งเป็น ยะลา 1,423 คน, ปัตตานี 1,596 คน, นราธิวาส 1,236 คน, สตูล 490 คน และสงขลา 9,160 คน