ชาวบ้านจังหวัดชายแดนใต้ ขอทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติไฟใต้
2021.01.04
ปัตตานี

ในวันครบรอบปีที่ 17 ของการปะทุขึ้นของไฟใต้ นับจากวันที่ 4 มกราคม 2547 ที่กองกำลังแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดภาคใต้ ได้ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ไปกว่า 400 กระบอก และได้สังหารเจ้าหน้าที่ทหารไป 4 นาย ชาวบ้านในสามจังวหัดชายแดนใต้ต่างเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคืนความสงบให้พื้นที่
นางซัลมา เจ๊ะหลง อายุ 38 ปี แม่ค้าขายผลไม้ ในจังหวัดยะลา กล่าวว่า ตนเองลืมไปแล้วว่าไฟใต้ระลอกใหม่เกิดขึ้นมานานเท่าไหร่ แต่หวังว่าผู้เกี่ยวข้องจะช่วยยุติเหตุการณ์ลงเสียที
“สำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นเกิดมากี่ปีแล้ว ฉันก็ไม่รู้ ไม่เคยนับ แต่ที่จำได้รู้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เกิดมานานมาก นานจนรู้สึกว่า มันไม่มีความปกติ เกินกรอบของความขัดแย้ง... ก็ขอให้ยุติการแสวงประโยชน์จากคนสามจังหวัด ทั้งกลุ่มขบวนการ หรือกลุ่มที่เข้ามาหาประโยชน์กับความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้” นางซัลมา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นางซัลมา กล่าวว่า ในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียมีบทบาท ทำให้ชาวบ้านเห็นภาพการเกิดเหตุการณ์รุนแรงได้ชัดเจนมากขึ้น แต่ตนเองเชื่อว่า มาจากหลายฝ่าย
“ถ้าเหตุไหนที่เกิดจากฝ่ายกลุ่มก่อความไม่สงบทำ ข่าวดังทั้งอาทิตย์ มีกล้องวงจรปิดแชร์ครบ มีการปิดล้อมจับ แต่ถ้าเหตุไหนที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง กลุ่มที่มีอิทธิพล เสียงจะเริ่มแผ่ว ๆ ตามอำนาจของฝ่ายกระทำ ไม่ว่าจะเกิดกับชาวบ้านด้วยก้อตาม และถ้าเหตุไหนที่เกิดจากกลุ่มมีสีในพื้นที่โดยเฉพาะสีเขียว จะเงียบทันที” นางซัลมา กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ นายอับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เคยกล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในก่อนหน้านี้ว่า การปฏิบัติการที่ก่อให้เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เริ่มต้นจากขบวนการ BRN, BIPP, และ PULO เป็นต้น ที่สร้างความรุนแรงเกิดขึ้น และอีกกลุ่มคือ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่สร้างความไม่เป็นธรรมในพื้นที่
ด้านนายอิสมาน กอแลกาจะ อายุ 28 ปี ทำอาชีพขายน้ำอ้อย ในจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ตนเองลืมไปแล้วว่าเหตุการณ์รุนแรงเกิดมากี่ปี หากสื่อมวลชนไม่รายงาน ก็แทบจะนึกไม่ออก
“ก็เงียบ ๆ ลง ถ้าถามว่าเกิดมานานหรือยัง หรือเกิดกี่ปี ก็แทบจะลืม ถ้าสื่อไม่สะกิดถามหรือโซเซียลไม่แชร์ เหตุการณ์ในพื้นที่ตอนนี้ นาน ๆ จึงจะเกิดที โดยรวมเหตุลดน้อยลง แต่ระดับความรุนแรงก็รู้สึกว่าเยอะกว่าอดีต แต่ก็ขออย่าทำให้เกิดกับชาวบ้าน จะทำอะไรยังไง ขออย่าให้ชาวบ้านเดือดร้อนก็พอ” นายอิสมาน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ส่วนนายมะแซ ซาและ อายุ 42 ปี อาชีพแบกไม้ยาง ในจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ตนเองไม่มีเวลาสนใจเรื่องความไม่สงบ เพราะต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว จนไม่ได้สนใจติดตามข่าวสาร
“ผมไม่เคยสนใจว่าเหตุการณ์เกิดนานแค่ไหน ทำงานไปทุกวัน จนไม่ทันสนใจคนอื่น แค่เรามีเงินเลี้ยงครอบครัว ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา เหตุการณ์มันอาจไม่เคยเกิดกับตัวเองหรือคนในครอบครัวด้วย ก็เลยทำให้เราเฉย ๆ แต่ก็เคยคุยกับเพื่อน ๆ ในกลุ่ม เหตุเกิดน้อยลงแล้ว ทุกคนก็คุยกันว่าเป็นเรื่องที่ดี ชาวบ้านจะได้ไม่เดือดร้อน” นายมะแซ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
บีอาร์เอ็นรอเจรจา แต่ติดโควิด
ทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เจรจากับองค์กรมาราปาตานี ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของขบวนการกลุ่มต่างๆ มาเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 แต่ได้สะดุดลงเป็นช่วงๆ จนกระทั่งตันศรีอับดุล ราฮิม นูร์ ได้เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุขแทนคนเดิม เมื่อสิงหาคม 2561 และต่อมาได้เปลี่ยนคู่เจรจาเป็นขบวนการบีอาร์เอ็นโดยตรง เมื่อต้นปี 2562 โดยปัจจุบัน ฝ่ายไทยมีพลเอกวัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย
ในวันนี้ อับดุล ราฮิม นูร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การพูดคุยจะดำเนินการต่อไป หากว่าประเทศไทยยกเลิกการห้ามเดินทาง
“การพูดคุยจะดำเนินต่อไปเมื่อทางรัฐบาลไทยยุติการห้ามการเดินทาง ทำให้ทีมพูดคุยเพื่อสันติสุขสามารถเดินทางมายังกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้ ทางบีอาร์เอ็นรออยู่” นายราฮิม นูร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ แต่ไม่ได้ตอบคำถามว่าในระหว่างนี้ทั้งสามฝ่ายได้มีการประชุมออนไลน์หรือไม่
ด้าน พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพกองทัพภาคที่สี่ กล่าวเมื่อช่วงท้ายปี 2563 ว่า ในระหว่างความยุ่งยากช่วงโควิดนี้ ตนยังพูดคุยกับฝ่ายผู้เห็นต่างอยู่ทางโซเชียลมีเดีย
“ทางคณะพูดคุยได้มีการใช้โซเซียลพูดคุยกับฝ่ายพูดคุยของฝ่าย BRN และยังมีการพูดคุยต่อเนื่อง มีความคืบหน้า สำหรับการพูดคุย เชื่อว่าเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่สันติวิธีสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน จนเป็นเหตุให้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน” พลโทเกรียงไกร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละอียด
จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงสองส่วนสาม
ทั้งนี้ จากตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เบนาร์นิวส์รวบรวมรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ในปี 2563 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 59 ราย (รวมฝ่ายเจ้าหน้าที่ พลเรือน และฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ) รายงาน ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 195 ราย ในปี 2562
พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 กล่าวว่า เหตุการณ์ถึงชีวิตลดลงถึงประมาณร้อยละหกสิบ เพราะว่าทางทหารได้ปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ถ้าเทียบกับปีก่อน จำนวนเหตุการณ์ลดลงประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการสูญเสียก็ลดลงประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเยอะมากถ้าเทียบกัน ปัจจัยแรกในเรื่องของนโยบายการปฏิบัติของแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของการกำหนดมาตรการ ในการควบคุมพื้นที่ที่เราจัดชุดจรยุทธ์ในการเข้าไปทุกพื้นที่ทุกหมู่บ้าน ทำให้สามารถจำกัดเสรีภาพของกลุ่มก่อความไม่สงบ ปัจจัยที่ 2 มาตรการในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ใช้ความรุนแรงได้ค่อนข้างเยอะ ทั้ง ๆ มีการปะทะเสียชีวิต และมีการควบคุมตัว” พลตรีปราโมทย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นอกจากนั้น พลตรีปราโมทย์ระบุว่า อีกปัจจัยหนึ่ง คือ พี่น้องประชาชนออกมาเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง และไม่สนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ
จากการเก็บรวบรวมสถิติเหตุรุนแรงของฝ่ายความมั่นคง โดยศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) พบว่า ตลอด 17 ปีไฟใต้ มีเหตุรุนแรงทุกรูปแบบ นับรวมอาชญากรรมทั่วไป (นับตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงวันที่ 15 ธ.ค.63) มากถึง 19,940 ครั้ง
หากนับเฉพาะเหตุการณ์ที่พิสูจน์ได้แล้วว่าเป็นเรื่องความไม่สงบหรือที่เกี่ยวโยงกัน ทั้งก่อกวน และยิงปะทะ จะพบว่ามีถึง 14,112 เหตุการณ์ แบ่งเป็นเหตุก่อความรุนแรง 10,171 เหตุการณ์ เป็นเหตุก่อกวน 3,607 เหตุการณ์ และเหตุยิงปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกับกลุ่มติดอาวุธก่อเหตุรุนแรง จำนวน 334 เหตุการณ์ ที่เหลือเป็นอาชญากรรมทั่วไป (รวมเหตุขัดแย้งส่วนตัว ขัดผลประโยชน์ หรือชู้สาว) รวม 5,828 เหตุการณ์
หากนับรวมความสูญเสีย โดยรวมจากเหตุอาชญากรรมทั่วไป และที่ยังสรุปสาเหตุไม่ได้ จะพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากทุกกลุ่มอาชีพรวมกัน 8,170 ราย และบาดเจ็บมากถึง 13,755 ราย ทั้งนี้มีเหตุที่ระบุได้ว่า เกิดจากเหตุการณ์รุนแรง 4,109 ราย เป็นประชาชนทั่วไปมากที่สุด 2,672 ราย รองลงมา คือ ทหาร 598 นาย ตำรวจ 400 นาย ผู้นำท้องถิ่น 247 ราย ครู 109 ราย ผู้นำศาสนา 23 ราย เจ้าหน้าที่รถไฟ 5 ราย และคนร้าย 55 คน นอกจากนั้น ยังมีบุคคลที่มีชื่อเป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบเสียชีวิตจากการปะทะอีกจำนวนหนึ่ง
ในปี 2558 ที่ทางการไทยเริ่มการพูดคุยฯ เป็นต้นมา เหตุรุนแรงลดลงเหลือ 708 เหตุการณ์ จากนั้นก็ลดลงเรื่อยๆ เหลือ 500 เหตุการณ์ ในปี 2560 เหลือ441 เหตุการณ์ในปี 2561 และ 308 เหตุการณ์ในปี 2562 ขณะที่ปี 2563 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป เหตุรุนแรงลดเหลือเพียง 188 เหตุการณ์ เท่านั้น
ด้าน ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ แสดงตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งหมด (นับถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563) รวม 7,192 ราย และบาดเจ็บ 13,388 ราย มีเหตุการณ์รุนแรง 20,797 ครั้ง