ทอ. ตั้งเป้าเครื่องบินรบฝูงใหม่ต้องแบบ 'ล่องหน'
2022.03.07
กรุงเทพฯ

กองทัพอากาศไทย (ทอ.) เปิดเผยในวันจันทร์นี้ว่า คณะกรรมการศึกษาจัดทำความต้องการเครื่องบินขับไล่โจมตี ได้ระบุถึงคุณสมบัติของเครื่องบินรบฝูงใหม่แล้วว่า ต้องเป็นเครื่องบินที่มีคุณสมบัติ “ล่องหน” ที่สามารถเล็ดลอดการตรวจจับโดยเรดาร์ได้ โดยแหล่งข่าวระบุว่ากองทัพอากาศจะพิจารณาเครื่องบินจากสหรัฐ และประเทศอื่น ๆ
พล.อ.ต. ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า กองทัพอากาศได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 และระบุความต้องการเครื่องบินขับไล่โจมตีที่จะจัดซื้อดังนี้ว่า ต้องมีขีดความสามารถโจมตี ต่อต้านทางอากาศ ปฏิบัติกิจเฉพาะพิเศษ ลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ เพิ่มระยะการปฏิบัติการทางอากาศ และการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศที่มีประสิทธิภาพ
“ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีสมรรถนะสูงยุคที่ 5 มีคุณลักษณะ 5 ประการ ได้แก่ Stealth (ล่องหนจากเรดาร์), Super Cruise (บินด้วยความเร็วเหนือเสียงโดยไม่ใช้สันดาปท้าย), Sensor Fusion, Super Maneuverable (ระบบหลบหลีกระดับสูง) และ Synergistic Integrated Avionics” พล.อ.ต. ประภาส ระบุ
นอกจากนั้น พล.อ.ต. ประภาส ได้กำหนดข้อพิจารณาเครื่องบินขับไล่ที่จะจัดซื้อโดยสรุป คือ 1. เป็นเครื่องบินที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทางทหาร มาตรฐานจากองค์กรการบินสากล หรือองค์กรมาตรฐานของประเทศผู้ผลิต 2. ระบบต่าง ๆ และอุปกรณ์ที่ติดตั้งใช้งาน ต้องผลิตโดยใช้มาตรฐานทางทหาร และผ่านการพิสูจน์การใช้งานแล้ว มีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วไป 3. สามารถผลิตและนำส่งให้แก่กองทัพอากาศในกรอบงบประมาณ และตามห้วงระยะเวลาการจัดหา 4. มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินขับไล่โจมตีและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่บุคลากรของกองทัพอากาศ และ 5. บุคลากรของกองทัพอากาศควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ แหล่งข่าวในกองทัพอากาศระบุต่อสื่อมวลชนว่า ทางคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเครื่องบินที่มีคุณลักษณะล่องหนแบบ F-35 Lightning II จากสหรัฐ, แบบ Shengdu JC-20 จากจีน และแบบ SU-57 จากรัสเซีย
ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2564 พล.อ.อ. นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า กองทัพสนใจเครื่องบินขับไล่ล่องหนรุ่น F-35 เพื่อมาทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ F-16 แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าจะซื้อเอฟ-35 หรือไม่
“F-35 ซึ่งเป็นค่ายของอเมริกัน เป็นเครื่องบินที่มีสมรรถนะดีเลิศ ถ้าเรามีโอกาสได้ใช้งานเครื่องบิน F-35 มันจะเป็นการยกระดับพรวดเข้าไปอยู่ประเทศที่มีของดี ๆ ใช้ในระดับแนวหน้า” พล.อ.อ. นภาเดช กล่าว
ต่อมา กลางเดือนมกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้สนับสนุนแผนการของกองทัพอากาศที่จะของบประมาณ 13.8 พันล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 เพื่อจัดหาเครื่องบินรุ่นใหม่ 4 ลำแรก เพื่อทดแทน F-16 A/B ไฟติ้งฟอลคอน ที่ประจำการมาอย่างยาวนาน
เรือดำน้ำกองทัพเรือเจอปัญหาเรื่องเครื่องยนต์
ด้านกองทัพเรือไทย กำลังประสบปัญหาเรื่องการต่อเรือดำน้ำ S-26T ลำแรก เพราะว่า บริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ต่อเรือดำน้ำดังกล่าวไม่สามารถขายเรือดำน้ำที่ติดตั้งเครื่องยนต์แบบ MTU ที่ซื้อมาจากเยอรมนีให้กับประเทศไทยได้ เพราะมีสัญญากับผู้ผลิตเครื่องยนต์ห้ามไว้
“จีนเขาติดขัดเรื่องข้อสัญญาบางประการ เรื่องที่จีนทำไว้กับเยอรมัน ในการติดตั้งหรือจำหน่ายให้กับเรือในประเทศที่สาม เขาเซ็นสัญญาว่าสามารถเอาเครื่อง MTU ตัวนี้ไปใช้กับเรือดำน้ำของจีนที่ใช้ในประเทศเขาได้ แต่เขาไม่สามารถนำไปขายต่อให้ประเทศที่สามได้" พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“จริง ๆ แล้วในส่วนของตัวเรือดำน้ำของไทยเราดำเนินการเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเครืองยนต์ติดเข้ากับเรือ ตอนนี้เป็นหน้าที่ของทางจีนกำลังดีลกับทางเยอรมันว่าสามารถดำเนินการได้อย่างไร แต่ทางกองทัพเรือเรายืนยันว่าเราต้องการเครื่องยนต์ MTU แบบเดิมที่เป็นไปตามสัญญาที่เราได้เซ็นกันไว้ใน TOR”
สำหรับการจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกนั้น พล.ร.ท. ปกครอง กล่าวว่า ตามแผนกำหนดเดิมจะมีการส่งมอบในประมาณเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2567
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 รัฐบาลได้อนุมัติให้กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า แบบ S-26T ลำแรก ด้วยเงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท เป็นข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล ได้ลงนาม ณ อาคารรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ่ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และได้มีการวางกระดูกงูเรือดำน้ำลำแรกไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2561
เดิมกองทัพเรือต้องการซื้อเรือดำน้ำสามลำ มูลค่า 36,000 ล้านบาท แต่การจัดซื้ออีกสองลำถูกเลื่อนไปเป็นปีที่สี่ สภาผู้แทนราษฎรและประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วย เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วงการระบาดของโควิด
ในเรื่องที่มีรายงานว่าทางจีนจะมอบเรือดำน้ำชั้นอื่น 2 ลำ ชั้นหมิงหรือชั้นซ่ง เพื่อให้กองทัพเรือไทยฝึกนั้น พลเรือโท ปกครอง กล่าวว่า ทางจีนยังไม่ได้ยืนยันต่อกองทัพเรือ
“เรือดำน้ำมือสอง ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ ทำให้เราไม่ทราบรายละเอียดว่าให้ฟรีหรือเปล่า ให้เรือมาแล้วมาซ่อมเองหรือเปล่า หรือใช้งานได้ไหม เพราะเท่าทีทราบเรือดำน้ำ เหลืออายุการใช้งานอีกไม่นาน อีกไม่เกินห้าปี” พลเรือโท ปกครอง กล่าว