สหรัฐยังไม่ขาย เอฟ-35 ให้ไทย
2023.05.25
กรุงเทพฯ

สหรัฐอเมริกาปฏิเสธการขอซื้อเครื่องบินรบ เอฟ-35 เอ จากกองทัพอากาศไทย อ้างเหตุผลไทยไม่พร้อมตามเงื่อนไขในการดูแลเครื่องบินชั้นแนวหน้านี้
ด้าน ทอ. ยืนยัน ยังเดินหน้าจัดหาเครื่องบินรบทดแทน เอฟ-16 ที่จะปลดประจำการในสิบปีข้างหน้า
พล.อ.ต. ประภาส สอนใจดี โฆษก ทอ. ชี้แจง กรณีที่มีกระแสข่าวว่า สหรัฐฯ จะชะลอโครงการจัดซื้อดังกล่าว ให้กับ ทอ. หลังการหารือระหว่าง พล.อ.อ. อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กับ นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
“เครื่องบินขับไล่โจมตีแบบ F-35A ถูกออกแบบด้วยแนวความคิดใหม่ด้านเทคนิคและด้านปฏิบัติการ มีคุณลักษณะพิเศษในการซ่อนพรางจากการตรวจจับด้วยสัญญาณเรดาร์ (Stealth) จึงต้องวางแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการฝึก และระบบรักษาความปลอดภัยตามเงื่อนไขของสหรัฐฯ” พล.อ.ต. ประภาส ชี้แจงผ่านเอกสารในวันพฤหัสบดี
“แม้ว่าสหรัฐฯ จะยังไม่สามารถเสนอขายเครื่องบิน F-35A ให้กับกองทัพอากาศได้ในขณะนี้ กองทัพอากาศขอยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดหาเครื่องบินเพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่โจมตีแบบ F-16 ที่กำลังจะปลดประจำการ เพื่อมิให้ส่งผลต่อความพร้อมรบและขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศซึ่งเป็นภารกิจหลักของกองทัพอากาศ” พล.อ.ต. ประภาส ระบุ
ทอ. ชี้แจงเหตุผลที่ทำให้สหรัฐฯ ชะลอการขายเครื่องบินเอฟ-35 เอ ให้กับ ทอ. คือ ข้อเสนอขอซื้ออยู่ใต้ข้อจำกัดหลายประการ ทำให้สหรัฐฯ ยังไม่สามารถอนุมัติขายได้ในตอนนี้ และการผลิตเครื่องบินต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี
อีกทั้งก่อนการซื้อต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการฝึก และระบบรักษาความปลอดภัยตามเงื่อนไขของสหรัฐฯ เอฟ-35 เอ ไม่สามารถใช้ระบบส่งกำลังบำรุง ระบบคลังพัสดุ และระบบบริหารจัดการที่มีอยู่แล้วของเอฟ-16 ได้ ทางสหรัฐฯ จึงต้องการหารือก่อน และแนะนำให้ ทอ. จัดซื้อเอฟ-16 หรือ เอฟ-15 ซึ่งจัดหาได้เร็วกว่า
โฆษกกองทัพอากาศไทยกล่าวว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐ โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค ได้แจ้งให้กองทัพอากาศไทยทราบถึง การตัดสินใจของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการชะลอการขายเอฟ-35 เอ
ส่วนในกรุงวอชิงตัน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า จะไม่ขอยืนยันหรือแสดงความคิดเห็นใดเกี่ยวกับการสนทนาทางการทูตที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ โดยขอให้เบนาร์นิวส์ติดตามขอความเห็นจากกระทรวงกลาโหมไทยเอง ขณะเดียวกัน กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ไม่ได้ตอบกลับเบนาร์นิวส์ หลังจากสอบถามถึงกรณีที่เกิดขึ้นในวันนี้
เมื่อสื่อมวลชน สอบถามเรื่องดังกล่าว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า “ก็เป็นเรื่องการติดต่อการซื้อขายกันตามปกติ ประเทศไหนมีขาย ประเทศไหนมีจำหน่าย เราก็ติดต่อ ถ้าเขาไม่ขาย เราก็ไม่ซื้อ แล้วจะให้ทำยังไงล่ะ”
เบนาร์นิวส์ ได้สอบถามกรณีที่เกิดขึ้นไปยังสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ
แผนการจัดซื้อเอฟ-35 เอ เริ่มขึ้น เมื่อปลายปี 2564 พล.อ.อ. นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. ในขณะนั้น ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ทอ. สนใจเครื่องบินขับไล่ล่องหนรุ่นเอฟ-35 เพื่อมาทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-16
ต่อมา ทอ. ได้พิจารณาเครื่องบินที่มีคุณลักษณะล่องหนแบบ F-35 Lightning II จากสหรัฐฯ แบบ Shengdu JC-20 จากจีน และแบบ SU-57 จากรัสเซีย
กลางเดือนมกราคม 2565 คณะรัฐมนตรี ได้สนับสนุนแผนการของ ทอ. ที่จะของบประมาณ 13.8 พันล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 เพื่อจัดหาเครื่องบินรุ่นใหม่ 4 ลำแรก เพื่อทดแทน เอฟ-16 ที่ประจำการมาอย่างยาวนาน
ในปลายปี 2565 ทอ. ได้ส่งหนังสือ Letter of Request for P&A (Price and Availability) ให้กับ JUSMAGTHAI เพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดหาโดยวิธี Foreign Military Sales (FMS) จากรัฐบาลสหรัฐฯ ในการจัดซื้อเอฟ-35 เอ สองลำ มูลค่ารวม 200 ล้านดอลลาร์ จากบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน ของสหรัฐฯ ซึ่งผู้อนุมัติต้องเป็นรัฐบาลสหรัฐฯ
ซึ่งการปฏิเสธการขายครั้งนี้ จะทำให้ทางสหรัฐฯ ต้องคืนงบประมาณ 369 ล้านบาท ตามคำสัญญา ที่ให้ไว้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566
กรณีที่เกิดขึ้นทำให้เสียงวิพากษ์-วิจารณ์ว่า เหตุผลแท้จริงที่ทำให้สหรัฐฯ ไม่อนุมัติขายเอฟ-35 ให้กับไทย เนื่องจากไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีน
รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ถ้าสหรัฐฯ กลัวไทยหันเข้าหาจีน สหรัฐฯ ไม่น่าจะชะลอความสัมพันธ์กับไทย
“เชื่อว่า สหรัฐฯ รู้ดีว่า ถ้าเขาหยุดความสัมพันธ์กับประเทศไทย ไทยจะกระชับความสัมพันธ์เข้าหาจีนโดยอัตโนมัติเลย เพราะฉะนั้นเขาน่าจะต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ เชื่อว่าการชนะเลือกตั้งของฝ่ายประชาธิปไตย ความสัมพันธ์กับสหรัฐก็น่าจะไปได้ดี แต่ความสัมพันธ์ทางความมั่นคงไม่น่าจะเปลี่ยนไป” รศ.ดร. ดุลยภาค กล่าว
ตามการเปิดเผยของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เครื่องบินรบ เอฟ-35 ปัจจุบัน มีประจำการอยู่ในประเทศต่าง ๆ กว่า 450 ลำ ทั้งใน สหราชอาณาจักร, อิตาลี, นอร์เวย์, ออสเตรเลีย, เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอิสราเอล
กองทัพอากาศไทยระบุว่า ปัจจุบัน ไทยมีเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดในประจำการประมาณ 80 ลำ ได้แก่ เอฟ-5 และเอฟ-16 ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ และกริปเปน จากสวีเดน