ศาลอนุญาตปล่อยตัว เพนกวิน-แอมมี่ เลื่อนพิจารณาประกันไมค์
2021.05.11
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ในคดีชุมนุม 19 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ ในคดีทำลายพระบรมมาฉายาลักษณ์ โดยทั้งสองเป็นจำเลยข้อหา ม.112 หลังเสนอเงื่อนไขหยุดเคลื่อนไหว พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่ นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ จำเลยอีกราย ซึ่งยื่นขอประกันพร้อมกัน ศาลให้เลื่อนไต่สวนไปก่อน เพื่อรอผลการตรวจโควิด-19
นายพริษฐ์ จำเลยที่ 1 ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 และประกาศอดอาหาร เพื่อประท้วงการไม่ได้สิทธิการประกันตัว ในวันที่ 15 มีนาคม 2564 ขณะที่ นายไชยอมร จำเลยที่ 17 ถูกควบคุมตัวในวันที่ 3 มีนาคม 2564 และนายภานุพงศ์ จำเลยที่ 6 ถูกควบคุมตัว 8 มีนาคม 2564 ทั้งหมดเป็นจำเลยในคดีเดียวกัน และถูกปฏิเสธการให้ประกันตัวมาตลอด กระทั่งศาลนัดไต่สวนการประกันตัวในวันอังคารนี้ ซึ่งทั้งหมดถูกพาตัวมาฟังการไต่สวนในช่วงเช้า
“ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ และนายไชยอมร หรือ แอมมี่ แก้ววิบูลย์พันธุ์แล้ว เห็นว่า กรณีถือได้ว่าพฤตกิการณ์แห่งคดีได้เปลี่ยนแปลงไป จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน และนายไชยอมร หรือแอมมี่” ตอนหนึ่งของเอกสารข่าว ศาลอาญา ระบุ
“โดยเงื่อนไขห้ามนายพริษฐ์ หรือ เพนกวิน และนายไชยอมร หรือ แอมมี่ กระทำการใดในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล” ศาล ระบุ
ทั้งนี้ นายพริษฐ์ ศาลได้ตั้ง ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข เป็นผู้กำกับดูแล ขณะที่นายไชยอมร ตั้งนายคมชาญกับนางอรวรรณ แก้ววิบูลย์พันธุ์ เป็นผู้กำกับดูแล
“สำหรับนายภานุพงศ์ จาดนอก จำเลยที่ 6... มีประวัติกับนายอานนท์ นำภา ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่า ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงเห็นควรให้เลื่อนไปรอฟังผลการตรวจ จึงได้กำหนดนัดไต่สวนคำร้องต่อไป” ตอนหนึ่งของเอกสารศาล ระบุ
ศาลระบุว่า นายภานุพงศ์ เคยถูกตรวจโควิด-19 ไปแล้วในวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 แต่ไม่พบเชื้อ อย่างไรก็ตามจะได้ให้มีการตรวจเชื่้อใหม่ แล้วจึงนัดวันไต่สวนอีกครั้ง
ด้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ศาลอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งหมด
“ศาลมีคำสั่งให้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 2 ท่าน ในคดีที่ถูกฟ้องทั้งหมด เพนกวิน มีคดีม็อบเฟส เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน และคดีวันที่ 19 และ 20 กันยายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตีวางหลักประกันเป็นเงินสดคดีละ 2 แสนบาท ส่วนคุณแอมมี่อยู่ในคดีที่สนามหลวง 19-20 กันยา วางหลักประกัน 5 หมื่นบาท เพราะคดีนั้นเป็นคดีที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 116 ส่วนคดีที่ได้รับการกล่าวหาเรื่องมีเหตุวุ่นวาย มีการทำลายพระบรมมาฉายาลักษณ์ ซึ่งไม่รู้ว่าใครทำก็ตีราคาหลักประกัน 2 แสนบาท” นายกฤษฎางค์ กล่าว
ทั้งนายพริษฐ์ และนายไชยอมร ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำในเวลาประมาณ 21.30 น. โดยครอบครัวจะได้นำตัวนายพริษฐ์ไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลวิภาวดี และนายพริษฐ์ รวมถึงนายไชยอมร มิได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนแต่อย่างใด เพียงชูสามนิ้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์การเรียกร้องของคณะราษฎร ให้กับมวลชนที่มารอต้อนรับที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
“ก็ดีใจที่อย่างน้อยเราก็ยังได้กลับมาเจอกัน กลับมาอยู่ด้วยกัน ก็คิดว่า ยังไงก็ไม่หยุดสู้แน่ ยังไงก็ต้องติดตามกันต่อไป ต้องสู้กันต่อไปจนถึงวันที่เราได้ประชาธิปไตย” น.ส. พลอยวรินทร์ ชิวารักษ์ น้องสาวของนายพริษฐ์ เปิดเผยแก่สื่อมวลชน หลังพี่ชายได้รับการปล่อยตัว
ทั้งนี้ ระหว่างถูกควบคุมตัว นายพริษฐ์ ได้ทำการอดอาหารทำให้น้ำหนักลด และมีอาการทางร่างกายน่าเป็นห่วง จนเรือนจำฯ ได้ส่งตัวเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ก่อนจะถูกนำตัวกลับมารักษาต่อยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในภายหลัง แต่ยังคงอดอาหารต่อ ทำให้ครอบครัวและทนายความเร่งยื่นคำร้องขอประกันตัว เนื่องจากเกรงว่า หากนายพริษฐ์อดอาหารต่อไปจะมีอันตราย
ขณะที่ นายกฤษฎางค์ เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า ปัจจุบัน นายอานนท์ นำภา จำเลยในคดีเดียวกัน ปัจจุบัน เข้ารับการรักษาตัวจากโควิด-19 ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ
“ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่ตึกยูงทองสอง แล้วหมอ พยาบาลก็ดูแลอย่างดี คือ ไปอยู่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เราก็สบายใจ เพราะเป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยแพทย์ เครื่องมือเครื่องไม้ก็ดี โรงพยาบาลบอกว่า ตอนนี้อาการก็ดี แต่ยังไม่ได้คุยกัน อานนท์ช่วงป่วย ผมว่าเขาอยู่ที่นั่นดีกว่า ถ้าเกิดเขาอาการดีขึ้นก็จะขอประกันตัว” นายกฤษฎางค์ กล่าว
กลุ่ม “ราษฎร” เริ่มชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่กรุงเทพฯ ก่อนเกิดการชุมนุมในลักษณะนี้หลายครั้งในหลายจังหวัด โดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลัก ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาการชุมนุมดังกล่าว นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีของนักกิจกรรม โดยเฉพาะแกนนำปราศรัย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมือง ในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 91 ราย ใน 84 คดี โดยผู้ที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ นายพริษฐ์ 20 คดี, นายอานนท์ 12 คดี, น.ส.ปนัสยา 9 คดี และนายภาณุพงศ์ 8 คดี โดยปัจจุบัน มีผู้ที่ต้องถูกควบคุมตัวด้วย ข้อหา ม.112 จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง และวิพากษ์-วิจารณ์ สถาบันพระมหากษัตริย์ในปี 2563-2564 รวมจำนวนทั้งสิ้น 32 คน มีผู้ที่เคยถูกคุมขัง และได้รับการประกันตัวแล้ว 14 คน รวมจำเลยทั้ง 2 ราย ที่ได้รับการประกันตัวในวันนี้
แอมเนสตี้ร้องราชทัณฑ์ปล่อยนักโทษ ลดปัญหาโควิด-19
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลเเนล ประเทศไทย ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานประธานศาลฎีกา เรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อพิจารณาจัดสรรมาตรการที่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังเเละนักโทษในภาวะที่มีโรคระบาด เพื่อลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำ และดำเนินการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน
“สภาพของราชทัณฑ์ที่อยู่ในสภาวะนักโทษล้นคุกมาอย่างยาวนาน และการคุมขังบุคคลที่ออกมาแสดงออกทางการเมือง ทำให้มีนักโทษทางการเมือง รวมอย่างน้อย 7 คน ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากรายงานของกรมราชทัณฑ์ว่า รวมแล้วตั้งแต่มีภาวะโรคระบาด ผู้ต้องขังเเละนักโทษอย่างน้อย 200 คน ที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เรือนจำจังหวัดนราธิวาส เเละเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่” จดหมายของแอมเนสตี้ ระบุ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลเเนล ประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานประธานศาลฎีกา ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อพิจารณาจัดสรรมาตรการที่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังเเละนักโทษในภาวะที่มีโรคระบาด
“โดยให้จัดสรรหน้ากากอนามัย สบู่และน้ำสะอาดอย่างเพียงพอให้แก่ผู้ต้องขังและนักโทษโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เเละให้ผู้ต้องขังและนักโทษได้รับการดูเเลจากแพทย์ มีสิทธิเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างเร่งด่วน แยกผู้ป่วยออกจากผู้ต้องขังและนักโทษปกติ พิจารณาให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม ตลอดทั้งดำเนินการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเเละประธานศาลฎีกาเองโดยทันที” จดหมายตอนหนึ่ง ระบุ