ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งประยุทธ์หยุดทำหน้าที่นายกฯ
2022.08.24
กรุงเทพฯ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติในวันพุธนี้ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว เนื่องจากศาลได้รับคำร้องของ ส.ส. ฝ่ายค้านที่ให้วินิจฉัยว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ว่าครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งเกินแปดปี
ศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าจะมีหนังสือให้ พล.อ. ประยุทธ์ รับทราบ และจากนั้นให้ พล.อ. ประยุทธ์ ชี้แจงต่อศาลเพื่อหักล้างคำร้องภายใน 15 วัน ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า ในระหว่างนี้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ส่วน พล.อ. ประยุทธ์ ยังทำหน้าที่รัฐมนตรีกลาโหมได้เช่นเดิม
ศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจกจดหมายข่าวผลการพิจารณาให้สื่อมวลชน หลังจากได้พิจารณาคำร้องของฝ่ายค้านที่ยื่นผ่านทาง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อต้นสัปดาห์นี้ แต่ศาลยังไม่ได้ระบุว่าจะมีการนัดอ่านคำวินิจฉัยกรณีนี้เมื่อใด
“กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7(9) จึงมีมติเอกฉันท์รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้ผู้ถูกร้อง (พล.อ. ประยุทธ์) ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง” ตอนหนึ่งของจดหมายข่าวระบุ
“สำหรับคำขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ศาลพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย” ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
หลังจากมีคำวินิจฉัย พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์โดยตรง แต่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า พล.อ. ประยุทธ์ ยอมรับการพิจารณารับเรื่องของศาล
“พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคารพผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ โดยจะหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อไปตามปกติ” นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวกับสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงประเด็นเดียวกันว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุววรรณ รองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งจะรักษาราชการแทน
“ศาลบอกว่าให้หยุดปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พล.อ. ประวิตรต้องปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันนี้ ให้ใช้คำว่า รักษาราชการแทน… เมื่อกี้ผมพูดกับท่านนายกฯ เมื่อกี้ท่านก็บอกว่าท่านไม่มาตึกไทย (คู่ฟ้า) ท่านก็ไปศาลากลาโหม ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม เสียงปกติ” นายวิษณุกล่าว
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไหว้ทักทาย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่รัฐสภา ในกรุงเทพฯ วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)
ในวันเดียวกันนี้ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้าน ได้แถลงต่อสื่อมวลชนที่อาคารรัฐสภาว่า ชื่นชมการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ หลังจากนี้ ฝ่ายค้านจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการแต่งกายชุดดำ เพราะเชื่อว่า พลเอก ประยุทธ์ควรพ้นจากตำแหน่ง และไม่ควรเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว
“ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศก็คือว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรประกาศลาออก… เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการสรรหาและเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้โดยเร็ว ผมก็เชื่อว่าสภาเราไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งต้องทำหน้าที่เลือกนายก พร้อมจะทำหน้าที่ได้โดยเร็ว” นพ. ชลน่าน กล่าว
หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ประชาชนจำนวนหนึ่ง รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น กลุ่มทะลุแก๊ซ ได้ประกาศประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อต่อต้านการเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการของ พล.อ. ประวิตร เพราะเห็นว่าได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร
ต่อกรณีเดียวกันนี้ ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ช่วงเวลานี้ฝ่ายรัฐบาลคงกำลังหากลยุทธ์เพื่อให้ได้เปรียบทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
“จริง ๆ ควรจะวินิจฉัยประยุทธ์ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้ตั้งแต่เป็น คสช. แล้ว เพราะประยุทธ์เป็นผู้ฉีกรัฐธรรมนูญขัดกับหลักนิติรัฐชัดเจน... เราเห็นสัญญาณการหาทางลงให้กับ พล.อ. ประยุทธ์ มานานแล้ว คือ พรรครัฐบาลและเครือข่ายอำนาจก็พยายามหาแนวทางให้ประยุทธ์ลงจากตำแหน่งแบบที่เสียหายน้อยที่สุด ตอนแรกคิดว่าอาจยุบสภาด้วยซ้ำ ก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ยังไม่เกิดขึ้น” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุว่า การนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ มีความเป็นไปได้ในสามแนวทาง คือ หนึ่ง ให้นับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ รับการโปรดเกล้าแต่งตั้ง เมื่อปี 2557 ซึ่งจะทำให้ครบวาระในวันที่ 24 สิงหาคม 2565, สอง ให้นับวาระตั้งแต่ได้รับการเลือกเป็นนายกฯ เมื่อปี 2562 ซึ่งจะทำให้ครบวาระในวันที่ 5 มิถุนายน 2570 หรือสาม ให้นับวาระตั้งแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะทำให้ครบวาระในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2568
พล.อ. ประยุทธ์ เผชิญกับความนิยมที่ตกต่ำลง โดยเมื่อวันจันทร์นี้ เครือข่ายนักวิชาการ “เสียงประชาชน” 8 มหาวิทยาลัย ร่วมกับ 8 สำนักข่าว เปิดผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็น 8 ปีนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลออกมาว่า มีกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ไม่ควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี จำนวน 348,511 เสียง คิดเป็น 93.17 เปอร์เซ็นต์ และเห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ควรดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี 25,552 เสียง คิดเป็น 6.83 เปอร์เซ็นต์ การสำรวจความคิดเห็นนี้ดำเนินการระหว่างวันที่ วันที่ 20-21 สิงหาคม 2565 โดยมีกลุ่มตัวอย่างกว่า 3.74 แสนตัวอย่าง
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน