ศาลปฏิเสธประกันตัวแกนนำประท้วง ก่อนคาร์ม็อบปะทะตำรวจเจ็บ 6 นาย
2021.08.10
กรุงเทพฯ

ศาลควบคุมตัวแกนนำกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลก่อนหน้าการประท้วง “คาร์ม็อบ” ที่บานปลายเป็นการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกลุ่มฮาร์ดคอร์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ในย่านสามเหลี่ยมดินแดง ในช่วงเย็นจนถึงค่ำของวันอังคารนี้ จนทำให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 6 นาย ส่วนผู้ประท้วงถูกจับกุมตัว 6 รายเช่นกัน
ในแกนนำทั้ง 11 ราย ประกอบด้วยแกนนำคนสำคัญ คือ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และนายอานนท์ นำภา ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้
โดยในวันอังคารนี้ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร ต้องถูกควบคุมตัวที่ สน. ปทุมวัน เป็นคืนที่สอง เพราะตำรวจปฏิเสธการให้ประกันตัวในคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ในระหว่างการชุมนุมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งครบรอบธีมการชุมนุม “แฮรี่ พอร์ตเตอร์” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้
นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จงใจที่จะกีดกันไม่ให้นายอานนท์ออกมาร่วมชุมนุมในวันนี้
“จริงอยู่ว่า (ตำรวจ) มีอำนาจควบคุมตัวไว้ 48 ชั่วโมง แต่กระบวนการควบคุมตัวอานนท์ การแจ้งข้อกล่าวหา การพิมพ์ลายนิ้วมือ การดำเนินการต่าง ๆ เสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะควบคุมตัวเขาไว้ที่โรงพัก ถ้าจะสืบสวนสอบสวนก็ไปสืบต่อในชั้นฝากขังได้” นายกฤษฎางค์ กล่าว
ทั้งนี้ นายกฤษฎางค์ ขอประกันตัวนายอานนท์ด้วยหลักทรัพย์ 2 แสนบาท แต่ พ.ต.ต. เวียงแก้ว สุภาการณ์ ผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน ไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลว่านายอานนท์ เป็นแกนนำการเคลื่อนไหวหลายครั้ง ทุกครั้งมักจะทำผิดกฎหมาย และมีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวต่อไป หากให้ปล่อยตัวจะไปทำผิด หรือก่อเหตุร้ายเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน และจะนำตัวนายอานนท์ไปขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ฝากขัง ในเช้าวันพุธนี้
ส่วนเมื่อวานนี้ ศาลอาญา รัชดา ได้ปฏิเสธการขอประกันตัวของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ส่วนศาลจังหวัดธัญบุรี ปฏิเสธการขอประกันตัวนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง และถอนประกันในคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน อีกด้วย
ด้าน พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวในการแถลงข่าวในวันนี้ว่า ได้ควบคุมตัวแกนนำการชุมนุม และขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลได้ปฏิเสธการขอประกันตัวบางส่วน ทำให้ปัจจุบัน มีผู้ถูกควบคุมที่ 10 ราย (ไม่รวมนายอานนท์) โดยแยกเป็นผู้ต้องหาที่กระทำความผิดจากการชุมนุมบริเวณหน้า กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม และคดีที่หน้า สน.ทุ่งสองห้อง
สำหรับผู้ต้องหา 9 ราย ในคดีชุมนุมหน้า ตชด. ภาค 1 ซึ่งถูกควบคุมตัวในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ศาลได้อนุมัติการฝากขัง และปฏิเสธคำขอประกันตัว ทั้งหมดจึงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำธัญบุรี ซึ่งในนั้นมีนายภานุพงษ์ และนายพริษฐ์ รวมอยู่ด้วย โดยในวันเดียวกันนั้น อัยการยังได้มีคำสั่งให้ถอนประกันตัวนายพริษฐ์ ในคดีชุมนุมใหญที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 อีกด้วย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ถึงปัจจุบัน มีประชาชนมากกว่า 700 คน ถูกดำเนินคดีในเกือบ 400 คดี ในจำนวนทั้งหมดเป็น คดีหมิ่นเบื้องสูง หรือ ม.112 อย่างน้อย 116 ราย โดยผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ 1. นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่กรุงเทพฯ ก่อนขยายไปสู่หลายจังหวัดทั่วประเทศ
ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ขณะขับผ่านรถบรรทุกผู้ต้องขังของตำรวจที่ถูกไฟไหม้ ในระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ในกรุงเทพฯ วันที่ 7 ส.ค. 2564 (เอพี)
ผู้ร่วมชุมนุมปะทะตำรวจเจ็บ 6 นาย
ในตอนบ่ายวันเดียวกันนี้ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดกิจกรรมชุมนุมโดยใช้รถยนต์ (คาร์ม็อบ) เริ่มในเวลาบ่ายสอง ที่แยกราชประสงค์ ที่เริ่มต้นจากการบีบแตรรถขับไล่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่
นอกจากนั้น มีการระบุข้อเรียกร้องโดยสรุป คือ 1. รัฐต้องรักษา ป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เสียค่าใช้จ่าย 2. แก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ 3. ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 4. ปฏิรูปสถาบันกองทัพ สถาบันศาล สถาบันกษัตริย์ เพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย และ 5. คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ประชาชน
การเคลื่อนขบวนเรียกร้องใช้รถเครื่องเสียง โดยมีการปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล ขณะที่มีรถร่วมขบวนการครั้งนี้หลายสิบคัน มีการบีบแตร และติดป้ายข้อเรียกร้องต่าง ๆ เคลื่อนจากแยกราชประสงค์ ผ่านถนนเพชรบุรี ราชปรารภ ไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 17.00 น.
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวในการแถลงข่าวว่า ในระหว่างทางมีผู้ชุมนุมบางส่วนที่ใช้รถจักรยานยนต์หรือเดินเท้า ใช้ก้อนหิน ประทัดยักษ์ และสิ่งของต่าง ๆ ขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ปืนยิงกระสุนยาง และแก๊สน้ำตาตอบโต้ จนเกิดความชุลมุนในช่วงค่ำ
พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวอีกว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ 6 นาย หนึ่งในจำนวนนั้น ถูกยิงด้วยปืนไทยประดิษฐ์ที่ขาอ่อนด้านซ้าย และมีป้อมตำรวจบริเวณดังกล่าวถูกวางเพลิงสองแห่ง ส่วนผู้ชุมนุมถูกจับกุม 6 ราย ยึดรถจักรยานยนต์ได้เกือบ 100 คัน
ต่อท่าทีของรัฐบาลในการรับมือผู้ชุมนุม นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การที่รัฐพยายามใช้มาตรการรุนแรงกับผู้ชุมนุม และจับกุมแกนนำ เป็นการพยายามหยุดกระแสการชุมนุมไม่ให้จุดติดเหมือนปี 2563 ซึ่งการชุมนุมปีนี้ มีการรวมคนจากหลายฝ่าย โดยมีจุดร่วม คือโควิด
“รัฐเหมือนไม่เปิดโอกาสให้ประนีประนอม โดยเฉพาะเมื่อการชุมนุมแตะต้องเรื่องสถาบันฯ ทางออกของปัญหาคือ รัฐควรรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชน ใช้กลไกรัฐสภาดำเนินการ เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ แก้มาตรา 112 และดำเนินการ เช่น จัดการวัคซีนที่เป็นธรรมมากกว่านี้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรพิจารณา แต่ที่เกิดขึ้นคือ ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐกลับถูกปราบ” นายสุณัย กล่าว