ศาลอาญากรุงเทพใต้ปฏิเสธคำร้องประกันตัว 'รุ้ง' ปนัสยา
2021.11.15
กรุงเทพฯ

ศาลอาญากรุงเทพใต้ ปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำผู้ประท้วงคนสำคัญ ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจากที่ศาลได้สอบปากคำในวันจันทร์นี้ โดยนางสาวปนัสยาและพวก ถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกระทำความผิดโดยล้อเลียนสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา
"รุ้งไม่ได้ประกันตัวนะคะ" นางสาวปนัสยา โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันนี้ นับเป็นคดีตามข้อหา ม. 112 คดีที่ 9 สำหรับรุ้ง ในขณะที่เฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา ระบุว่า ในขณะนี้ มีแกนนำผู้ประท้วงถูกจำคุกแล้ว 25 คน
ด้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุถึงคำร้องของพนักงานอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ว่า ได้สรุปความผิดว่า นายพริษฐ์ “เพนกวิน” ชิวารักษ์ จำเลยที่หนึ่ง น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จำเลยที่สอง แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์เพื่อการชุมนุม ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กของกลุ่ม และเฟซบุ๊กส่วนตัว เชิญชวนให้ประชาชนสวมชุดคร็อปท็อปเอวลอยตามกิจกรรม แล้วไปร่วมเดินที่ห้างสยามพารากอน ย่านปทุมวัน เพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิก ม. 112 โดยจำเลยกับพวกได้ใส่ชุดเอวลอย และเขียนข้อความให้ยกเลิก ม. 112 บนร่างกาย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 จนเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตัว
ในวันนี้ จำเลยได้เดินทางไปให้ปากคำ และศาลประทับรับฟ้องเป็นคดีดำหมายเลข อ.1180/2564 โดย น.ส. ปนัสยา ปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอประกันตัว แต่ถูกศาลปฏิเสธ นายกฤษฎางค์กล่าว
“ศาลให้เหตุผลว่าพิเคราะห์เเล้วจำเลยที่ 2 ภายหลังถูกฟ้องคดีนี้เเล้ว ได้เคยกระทำความผิดตามลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องมา เเละจำเลยที่ 2 ยังถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันที่ศาลอาญา จึงเกรงว่าถ้าปล่อยไปจะไปกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีก จึงให้ยกคำร้อง” นาย กฤษฎางค์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว
นอกจาก นายพริษฐ์ “เพนกวิน” และ น.ส. ปนัสยา จำเลยที่เหลือได้แก่ นายภานุพงศ์ จาดนอก ทั้งนี้ ก่อนการนัดของศาลในวันจันทร์นี้ นายพริษฐ์ และนายภาณุพงษ์ ถูกควบคุมตัวในเรือนจากคดีชุมนุมอื่น ๆ อยู่ก่อนแล้ว
ขณะที่ น.ส. ปนัสยา เคยถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาก่อน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ และต่อมาได้รับการประกันตัวด้วยวงเงิน 2 แสนบาท แต่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่า น.ส. ปนัสยา เคยถูกฟ้องในคดีคล้ายกัน แต่ยังละเมิดข้อห้ามของศาลดังกล่าว
ปัจจุบัน มีผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีด้วย ม. 112 อย่างน้อย 157 ราย ใน 161 คดี มีผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 25 ราย
ผู้ประท้วงที่ได้รับบาดเจ็บเมื่อวันอาทิตย์อาการปลอดภัยแล้ว
กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้แถลงในวันจันทร์นี้ว่า ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บสาหัสถูกยิงที่ลำตัว ในการประท้วงเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 นั้น มีอาการปลอดภัย ส่วนเจ้าหน้าที่กำลังเร่งหาหลักฐานว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ โดยยืนยันว่า ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ไม่ได้ใช้กระสุนจริงในการปฏิบัติการ
พล.ต.ต. จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษก และรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) แถลงว่า เหตุชุลมุนจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ชุมนุมกำลังเคลื่อนขบวนจากแยกปทุมวันไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยผ่านถนนพระรามที่ 1 แล้วเกิดการเผชิญหน้ากับตำรวจควบคุมฝูงชน ซึ่งต่อมาก็มีเสียงระเบิดเกิดขึ้น และมีเสียงปืนยิงประมาณ 6-7 นัด แล้วก็มีผู้บาดเจ็บ 2 คน
“ตรงนี้ ต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อตรวจพิสูจน์ว่า ใครยิงปืน ใครปาระเบิด... เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าดำเนินการตามหลักสากลโดยใช้กระสุนยางเท่านั้น และกรณีนี้ที่มีผู้บาดเจ็บจะต้องทำการพิสูจน์ทราบว่าเกิดจากอาวุธชนิดใด” พล.ต.ต. จิรสันต์ กล่าว
ด้าน นพ. ทศพร เสรีรักษ์ หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ใกล้ชิดเหตุการณ์ ได้เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ระหว่างการเดินขบวนมีเสียงดังขึ้น และพบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ
“ผู้ชุมนุมโดนยิงเข้าที่ลิ้นปี่ บาดเจ็บที่ตับ และที่ปอด หมอผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว เรียกว่าปลอดภัย เฝ้าระวังการแทรกซ้อน... จริง ๆ ไม่ควรเกิดเหตุนี้ เพราะผู้ชุมนุมไม่มีความรุนแรงใด ๆ ตำรวจควรอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมด้วยซ้ำ” นพ. ทศพร กล่าวกับเบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์
ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มอื่น ๆ กว่าพันคนได้นัดชุมนุมที่แยกปทุมวัน ในเวลา 15.00 น. เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเรียกการชุมนุมครั้งนี้ว่า “ชุมนุมต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ต่อมาในเวลา 15.30 น. ผู้ชุมนุมได้ตกลงกันเคลื่อนขบวนไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมัน เพื่อยื่นหนังสือเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และการปกครองในประเทศไทยต่อรัฐบาลเยอรมัน แต่ระหว่างทางมีเหตุปะทะ และผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ
อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมบางส่วนสามารถเดินไปถึงจุดมุ่งหมายได้ยื่นหนังสือให้กับเจ้าหน้าที่ประจำสถานเอกอัครราชทูตฯ และในเวลา 18.52 น. นายธัชพงศ์ แกดำ หรือ บอย หนึ่งในแกนนำ ได้ประกาศยุติการชุมนุม และขอให้ผู้ชุมนุม แยกย้ายกลับบ้าน หลังจากทราบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน