ศาลยกฟ้อง เอกชัย หงส์กังวานและพวก คดีขวางขบวนเสด็จฯ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2023.06.28
กรุงเทพฯ
ศาลยกฟ้อง เอกชัย หงส์กังวานและพวก คดีขวางขบวนเสด็จฯ นายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหว (ซ้าย) และบุญเกื้อหนุน เป้าทอง พูดคุยกับนักข่าวก่อนออกจากศาลอาญา ในกรุงเทพฯ ซึ่งศาลได้ยกฟ้องทั้งสองและพวกอีก 3 ราย ข้อหาขัดขวางขบวนรถของพระราชินี ในการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ปี 2563
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง นายเอกชัย หงส์กังวาน และจำเลยรวม 5 คน ในคดีที่เกี่ยวกับการขัดขวางขบวนเสด็จฯ ของพระราชินี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เพราะศาลเห็นว่า ตำรวจไม่ได้จัดการเส้นทางเสด็จฯ ให้เรียบร้อย และจำเลยไม่ได้ขวางปาสิ่งของใส่ขบวนตามที่ถูกกล่าวหา

ศาลอ่านคำพิพากษาในเวลา 09.30 น. ของคดี หมายเลขดำ อ.778/2564 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง นายเอกชัย หงส์กังวาน, นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง, นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ, นายชนาธิป ชัยยะยางกูร และนายภาณุภัทร ไผ่เกาะ ในความผิดฐานประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีฯ ม.110 และกีดขวางการจราจร ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมของคณะราษฎร ที่เดินเท้าจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล

“วันเกิดเหตุ กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขณะที่ขบวนเสด็จฯ ใช้เส้นทางโดยไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าซึ่งเป็นความลับทางราชการ… ผู้ชุมนุมเข้าใจว่าตำรวจควบคุมฝูงชนจะเข้ามาสลายการชุมนุม ผู้ชุมนุมบางส่วนนั่งขวางทางกลางถนนเพื่อป้องกันการรุกคืบของเจ้าหน้าที่” ผู้พิพากษา บรรยายคำฟ้อง

“เมื่อรถยนต์พระที่นั่งและขบวนเสด็จฯ ผ่านไป พวกจำเลยบางส่วนได้ชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว และโห่ร้อง โดยไม่มีใครปาสิ่งของใส่รถยนต์พระที่นั่ง พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า พวกจำเลยมีเจตนาประทุษร้ายขัดขวางขบวนเสด็จฯ พวกจำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้องจำเลยกับพวกทุกข้อหา” คำพิพากษา ระบุ

จำเลยทุกคนเดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมด้วยทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยนายเอกชัย เปิดเผยกับสื่อมวลชนหลังฟังคำพิพากษาว่า “ผมเชื่อว่าศาลมีความยุติธรรมอยู่ตลอดเวลา แม้จะมีคนส่วนใหญ่บอกว่า ศาลไม่มีความโปร่งใส และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่ผมคิดถูก”

“คลิปที่เผยแพร่ในเน็ตเนี่ย บางอันมันจะเป็นมุมมองที่อยู่บนสะพานชมัยมรุเชฐ มันอยู่สูง มุมมองมันเลยเห็นว่า มีขบวนเสด็จหลัง คฝ. (ตำรวจควบคุมฝูงชน) แต่ถ้าไปดูคลิปคนที่อยู่ด้านล่างระดับเดียวกับถนนจะเห็นว่า คฝ. ยืนเรียงกันเป็นกำแพงหลายชั้น ไม่มีทางมองข้าม คฝ. ไปเห็นข้างหลังได้เลย ซึ่งตรงนี้ศาลก็เลยบอกว่า พิสูจน์ไม่ได้ว่า เรารู้ว่าตอนนั้นขบวนเสด็จฯ มา” นายเอกชัย กล่าวกับสื่อมวลชน

นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย กล่าวหลังรับฟังผลคำพิพากษาว่า “การยกฟ้องเป็นคำตัดสินที่สมเหตุสมผล เพราะโดยหลักฐานและรูปการณ์ของคดี มันเป็นคดีที่มีลักษณะกลั่นแกล้ง ซึ่งจริง ๆ คดีนี้ มันก็เดินหน้าไม่ได้อยู่แล้ว มันเป็นการฟ้องที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง กระบวนการต่าง ๆ ไม่ควรจะมาถึงการฟ้องต่อศาลโดยเฉพาะการตั้งข้อหาร้ายแรงอย่าง ม.110”

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 มีว่า “ผู้ใดกระทําการประทุษร้ายต่อพระองค์หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” โดยมีโทษจําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่ 16-20 ปี

230628-th-democracy-protesters-royal-motorcade2.jpg

นายเอกชัย หงส์กังวาน ขณะเถียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน บริเวณใกล้แยกดินแดง วันที่ 13 มีนาคม 2564 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

คดีที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจาก นายศรายุทธ สังวาลย์ทอง ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับ พ.ต.ท. พิทักษ์ ลาดล่าย รองผู้กำกับการ สน.ดุสิต ให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 5 คน จากการยืนอยู่บนถนนพิษณุโลก ขณะที่ขบวนรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ เสด็จผ่านเพื่อไปทรงบำเพ็ญกุศลถวายผ้าพระกฐิน ประจำปี 2563 ณ วัดราชโอรสาราม ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563

คำร้องระบุว่า จำเลยทั้ง 5 คน ได้ชูสามนิ้ว ตะโกนคำว่า “ภาษีกู” และขว้างปาขวดน้ำใส่ขบวนเสด็จฯ ทำให้หลังจากนั้น นายเอกชัย นายสุรนาถ และนายบุญเกื้อหนุน ถูกออกหมายจับ โดยบุคคลทั้ง 3 ได้เดินทางไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และถูกควบคุมตัว ในช่วงวันที่ 16 และ 21 ตุลาคม 2563 ตามลำดับ

ต่อมา วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับการประกันตัว ระหว่างการสืบสวน กระทั่ง 28 มกราคม 2564 พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ได้มีความเห็นสั่งฟ้อง นายเอกชัย, นายสุรนาถ, นายบุญเกื้อหนุน เพิ่มเติม นายชณาธิป และนายภานุภัทร คดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล กระทั่งมีคำพิพากษาในวันพุธนี้

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ที่มีประชาชนเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 1,914 คน ในจำนวน 1,218 คดี ในนั้นเป็นคดี ม.112 อย่างน้อย 250 คน ใน 269 คดี

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง