จอห์น วิญญู ปฏิเสธข้อกล่าวหา หมิ่นนายกฯ จากทวีต 2 ครั้ง
2021.05.28
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ นายวิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หรือจอห์น พิธีกรรายการโทรทัศน์ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง และปฏิเสธข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรี จากการทวีตข้อความ 2 ครั้งในเดือน ธันวาคม 2563 และ เมษายน 2564 ซึ่งถูกนายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยนายวิญญูยืนยันว่า ถ้อยคำที่ตนเองเขียนเป็นการวิพากษ์โดยสุจริต และยังจะใช้สื่อวิจารณ์การทำงานของนายกรัฐมนตรีต่อไป
นายวิญญู เปิดเผยแก่สื่อมวลชนที่หน้า สน.นางเลิ้งว่า การถูกฟ้องร้องดำเนินคดีครั้งนี้ ทำให้ตนเองได้เข้าใกล้นายกรัฐมนตรีที่สุดหลังจากที่พยายามติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์มาโดยตลอด แต่ไม่เคยได้รับความร่วมมือ
“เราคิดว่า เราวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุดจริต เราก็แสดงความคิดเห็นของเราตามสิทธิที่มี ไม่มีอะไรต้องกังวล ผมเห็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติที่นายกฯ ดำเนินการแบบนี้กับประชาชน… ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ก็แสดงความคิดเห็นในเรื่องของการเมืองหรือการบริหารบ้านเมือง ของนายกรัฐมนตรีของไทย เราก็วิจารณ์อย่างนี้มาตลอด 7 ปี” นายวิญญู กล่าว
“ทุกอย่างยังปกติ เราก็ยังทำรายการเหมือนเดิม การใช้โซเชียลมีเดียปกติ… มันเป็นเรื่องที่ผิดปกตินะ ที่เราเห็นมีการตั้งทีมในการสอดส่องแล้วก็ติดตามว่า ใครพูดอะไรไม่ดีเกี่ยวกับนายกฯ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่ผิดปกติมากๆ แล้วการที่ประชาชน หรือคนที่ทำหน้าที่ในฐานะสื่อ ต้องมาเจออะไรแบบนี้ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศเราตอนนี้นะ” นายวิญญู กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นายวิญญู เป็นอีกหนึ่งในผู้ที่ถูกดำเนินคดี เพราะวิพากษ์-วิจารณ์นายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านี้ มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยการฟ้องร้องของตัวแทนนายกฯ มาแล้วหลายคน เช่น นายสุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล หรือ ฮาร์ท นักร้องและพิธีกร ซึ่งถูกฟ้องจากการเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์การจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล
“วิญญู ในฐานะสื่อมวลชนได้ทวิตเตอร์วิจารณ์ นายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง คุณอภิวัฒน์ ขันทอง ซึ่งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี แต่งตั้งโดยคุณประยุทธ์ แล้วก็รับหน้าที่มาแจ้งความคุณจอห์น เขาแจ้ง 2 คดี คือ ปลายเดือนธันวา ได้มีทวิตเตอร์ของคุณจอห์น ที่นายกฯใช้คำว่า นะจ๊ะ เขาเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดความเสียหายโดยการโฆษณา” นายกฤษฎางค์ กล่าว
“อีกอันคือที่คุณจอห์น ทวีตเกี่ยวกับเรื่องยึดอำนาจ เมษา ปี 64 ซึ่งตอนนั้นมีสถานการณ์โควิด รัฐบาลแก้ไขปัญหาไม่ได้ก็เลยทวีตข้อความใช้คำว่า กระแดะอยากยึดอำนาจมาบริหารประเทศ แล้วทำอะไรไม่ได้ แล้วก็ทำให้คนที่เข้ามาก็ยังแสวงหาผลประโยชน์จากการทำงาน อันนี้เขาแจ้งความว่า หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา แล้วดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ทั้งหมดคุณประยุทธ์เป็นผู้เสียหาย” นายกฤษฎางค์ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ นายวิญญู เป็นอดีตพิธีกรรายการโทรทัศน์ นายแบบ และปัจจุบัน เป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ออนไลน์ เช่น รายการ “เจาะข่าวตื้น” หรือ “ Daily Topics” และรายการอื่นๆซึ่งเป็นรายการที่วิพากษ์วิจารณ์การเมือง และสถานการณ์ทางสังคม การถูกดำเนินคดีครั้งนี้ สืบเนื่องจากนายวิญญูใช้บัญชีทวิตเตอร์ของตนเองซึ่งมีผู้ติดตาม 1.7 ล้านคน เขียนข้อความถึงการใช้คำว่า “นะจ๊ะ” ในการแถลงข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 พร้อมทั้งแท็กไปยังบัญชีทวิตเตอร์ของ พล.อ.ประยุทธ์ และเขียนข้อความวิจารณ์โดยมิได้ระบุชื่อ ถึงการยึดอำนาจ และบริหารประเทศ เมื่อ 16 เมษายน 2564 ซึ่งอาจอนุมานได้ว่า พาดพิงถึง พล.อ.ประยุทธ์
หลังรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวนายวิญญู โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน และนัดหมายเพื่อมาตรวจพยานหลักฐานชั้นตำรวจอีกครั้งในวันที่ 27 มิถุนายน 2564 ที่ สน.นางเลิ้ง
ทั้งนี้ ข้อหาหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน เป็นความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 มีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 มีโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คดี ม.112 ยังถูกใช้กับผู้เห็นต่างจากรัฐบาล
ในวันเดียวกัน พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายปริญญา ชีวินปฐมกุล หรือ พอร์ท ไฟเย็น อายุ 36 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยศาลได้รับคำร้อง และนัดสอบปากคำ นายปริญญา ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ในเวลา 09.00 น.
การฟ้องครั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่ นายปริญญา ใช้เฟซบุ๊ก “Richadan Port” โพสต์ข้อความ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559, วันที่ 30 มิถุนายน 2559 และวันที่ 16 กรกฎาคม 2559 พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม นายปริญญา ไม่เคยถูกควบคุมตัว กระทั่งวันที่ 5 มีนาคม 2564 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุมในบ้านพักเขตประเวศ กรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่คัดค้านการประกัน ทำให้นายปริญญาถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กระทั่ง 12 พฤษภาคม 2564 ศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์ 2 แสนบาท พร้อมเงื่อนไข ห้ามทำกิจกรรมหรือใช้สื่อสร้างความเสียหายให้กับสถาบันฯ, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับการอนุญาต
ขณะที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า เยาวชนเพศหญิง (สงวนชื่อและนามสกุล) อายุ 14 ปีรายหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก ได้รับหมายเรียกจาก สภ. เมืองพิษณุโลก ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจาก นางแน่งน้อย อัศวกิตติกร อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. พรรครวมพลังประชาชาติไทย เข้าฟ้องร้องให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหารายนี้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยว่า ผู้ต้องหารายนี้ถูกฟ้องร้องจากการกระทำใด โดยเจ้าหน้าที่ได้นัดให้ผู้ต้องหาเข้าไปรายงานตัว ที่ สภ. เมืองพิษณุโลก ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เวลา 10.00 น.
ทั้งนี้ กลุ่ม “ราษฎร” เริ่มชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่กรุงเทพฯ ก่อนเกิดการชุมนุมในลักษณะนี้หลายครั้ง ในหลายจังหวัด โดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลัก ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาการชุมนุมดังกล่าว นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีของนักกิจกรรม โดยเฉพาะแกนนำปราศรัย
ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมือง ข้อหา ม. 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 95 ราย ใน 90 คดี ในนั้นเป็นเยาวชน 7 ราย จาก 6 คดี ขณะที่มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุม และ ม. 112 รวม 42 ราย ใน 42 คดี